เมื่อเยาวชนถอดใจยอมแพ้ หันหลังให้การศึกษา รู้จัก ‘ทุน’ ที่มาช่วยหนุนการเรียนรู้ให้สุดความตั้งใจ

เมื่อเยาวชนถอดใจยอมแพ้ หันหลังให้การศึกษา รู้จัก ‘ทุน’ ที่มาช่วยหนุนการเรียนรู้ให้สุดความตั้งใจ

“เรื่องสำคัญที่สุดของปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือนักศึกษาหลายคนต้องหยุดการเรียนไว้ที่ชั้น ปวช. หรือ ปวส. เพราะช่วงวัยของเขาตอนนี้คือเวลาที่ดีที่สุด พร้อมที่สุด และเหมาะควรที่สุดในการพัฒนาต่อยอดศักยภาพ ยังมีอะไรอีกมากมายที่สถาบันการศึกษาหรือสถานประกอบการ จะช่วยเติมลงไปในตัวเขาได้ ดังนั้นการสูญเสียโอกาสพัฒนาทรัพยากรบุคคลกลุ่มนี้ ในทางหนึ่งก็คือความสูญเสียของประเทศ”

อาจารย์ปริญญา หวังมั่น หัวหน้าแผนกวิชาสัตวศาสตร์และประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ในแวดวงการศึกษาสายอาชีพ ที่ในแต่ละปีการศึกษาจะมีเยาวชนจำนวนหนึ่งถอดใจยอมแพ้ หันหลังให้ระบบการศึกษา หันหน้าสู่โลกการทำงาน เพื่อหาเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว ดิ้นรนเอาตัวรอดจากความยากลำบากข้ามชั่วคน 

เยาวชนหลายคนเป็นเด็ก ‘มีของ’ พร้อมเปล่งประกายความสามารถ หากได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างเต็มที่ แต่โลกของการทำมาหาเลี้ยงชีวิต ที่ไม่เปิดโอกาสให้ได้ขัดเกลาศักยภาพภายใน สุดท้าย ‘ของ’ ที่พวกเขามีก็จะค่อย ๆ เสื่อมสูญ  เป็นความเสียหายที่อาจารย์ปริญญามองเห็นจากแวดวงอาชีวศึกษาทุกปี ๆ

“วิทยาลัยของเรามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มาจากครอบครัวเกษตรกร พวกเขามีข้อจำกัดมากมายด้านการศึกษา แต่ทางวิทยาลัยก็หาทางช่วยให้พวกเขาเรียนจนได้วุฒิสูงที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตามพอพ้นจากชั้น ปวช. ค่าใช้จ่ายในการเรียนก็ยิ่งสูงขึ้น ทั้งค่าเทอม ค่ากินอยู่ บางคนจากบ้านมาไกล ต้องเสียค่าหอพักรายเดือน ไหนจะทุนเครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทำโครงงานต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นราคาที่สูงและเกินกำลัง เหมือนเป็นทางแยกที่เด็กต้องเลือกแล้ว ว่าจะเรียนต่อหรือออกไปทำงานเต็มตัว

“การที่นักศึกษาในกลุ่มนี้จะได้เรียนระดับปริญญาตรี แทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะหลายคนมีความตั้งใจมุ่งมั่น มีความอดทนพยายาม และมีจำนวนไม่น้อยที่มีแวว มีความสามารถในสายวิชาชีพที่เขาถนัด”

‘ทุน’ ที่มาช่วยหนุนการเรียนรู้ให้สุดความตั้งใจ

อาจารย์ปริญญา ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแนะแนว กล่าวถึง ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ว่าเป็นทุนแรกที่เข้ามาสนับสนุนนักศึกษาสายอาชีพให้ได้เรียนต่อถึงชั้นสูงสุด ช่วยต่อยอดให้นักศึกษาที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้เรียนถึงระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามความตั้งใจและเป้าหมายส่วนตัวของแต่ละคน 

โดยทุนจะสนับสนุนทั้งค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไปจนถึงค่าทำกิจกรรมโครงงาน และโอกาสในการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ

“การที่เด็กได้รับทุน มันคือโอกาสจริงๆ ที่เขาจะได้รู้ว่าตนเองทำอะไรได้แค่ไหน พอมีเงินทุนมาให้ มีการสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเขาเองแล้วว่าจะพาตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ผมเห็นจริงๆ ว่าทุนนี้มีประโยชน์มหาศาล 

“เพราะถ้าเรามองในมุมกลับ คนมีความสามารถ มีใจมุ่งมั่น แต่ไม่มีเงินค่าเทอม หรือถึงพอจ่ายได้ก็ต้องกระเสือกกระสนหาเงินเดือนชนเดือน วันหนึ่งภาระที่แบกไว้หนักเข้า ๆ ก็ไม่พ้นต้องเลิกเรียนกลางทางอีก เหมือนเขาถูกบีบ ถูกตัดตอนให้ออกไปสู่ตลาดแรงงานเลย แทนที่จะไปได้ไกลกว่านั้น เรียนรู้ศาสตร์ในสายงานอาชีพที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้น ก็กลายเป็นว่าต้องหยุดไว้แค่นั้น”

“อย่างน้อยต้องไปให้ถึงปริญญาโท”

“ตอนจบชั้น ปวส. ที่บ้านไม่มีเงินส่งแล้ว ผมเลยตัดสินใจไปทำงานที่ฟาร์มโคนมข้างบ้าน ใช้เวลาทำอยู่หนึ่งปีจนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง แล้วเอามาสมัครเรียน ป.ตรี ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชสีมา เรียนไปได้แค่เทอมเดียว เงินที่มีก็หมด ตอนนั้นคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงต่อ อาจารย์ปริญญาก็ให้คำแนะนำว่ามีทุนที่จะช่วยผมได้ แล้วท่านก็พาผมไปสมัคร”

‘ออย’ วุฒิศักดิ์ เรืองจันทึก นักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่น 1 สาขาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชสีมา หนึ่งในนักศึกษาผู้พยายามไขว่คว้าโอกาส   ย้อนภาพให้เห็นวันที่เขาต้องเจอกับอุปสรรรคครั้งสำคัญ 

“ความอยากเรียนพาเรามาถึงจุดนี้ เชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตได้ แต่ตอนนั้นก็เกือบยอมรับแล้วว่าคงไปได้แค่นั้นเอง หลังจากได้เป็นนักศึกษาทุน ผมกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งว่าจะทำสิ่งที่ฝันไว้ให้สำเร็จได้ ผมอยากมีฟาร์มโคเนื้อของตัวเองมาก

“อยากมีความรู้ มีประสบการณ์ อยากศึกษาเล่าเรียนให้มากที่สุด เพื่อเอาสิ่งที่ได้รับมาประกอบสร้างความฝันให้สำเร็จ เป้าหมายแรกของผมคือต้องจบปริญญาโทก่อน จากนั้นค่อยดูความเป็นไปได้อื่น ๆ รอบตัว ถ้าทำได้ก็จะพยายามไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ทุนให้โอกาสครับ”