บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริง 2 ประการที่เราอยากให้คุณรู้เกี่ยวกับอาชีวศึกษา :
1.ไม่ใช่คำพูดเกินจริงหากบอกว่า ในสายตาของใครหลายคน การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (technical and vocational education and training (TVET)) อาจไม่เคย ‘ดูดี’ สู้การเรียนสายสามัญและอุดมศึกษาได้เลย
มันเป็นปัญหาร่วมกันของอาชีวศึกษาแทบทั้งโลก ถึงขนาดที่ UNEVOC หรือศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในสังกัด UNESCO ต้องจัดทำแนวทางพัฒนาภาพลักษณ์ของการเรียนระบบนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2018 เนื่องจากปัญหาด้านภาพลักษณ์ไม่เพียงส่งผลต่อตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง แต่อาจทำให้รัฐ องค์กรธุรกิจ ไปจนถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีแรงจูงใจลงทุนพัฒนาการศึกษาประเภทนี้ต่ำลง
2.นักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำมักเลือกเรียนเทคนิคและการอาชีวศึกษาแทนการเรียนในสายสามัญ เนื่องจากมีค่าเล่าเรียนถูกกว่า รวมถึงเชื่อว่าการเรียนอาชีวศึกษาจะเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทักษะที่มีจะเป็นที่ต้องการ มั่นคงและแน่นอน
ข้อเท็จจริงทั้งสองถือเป็นภาพสะท้อนอาชีวศึกษาในบ้านเรา กล่าวคือภาพลักษณ์ของการเรียนสายอาชีพยังไม่อาจสู้การศึกษาภาคปกติ และดูเหมือนว่ารัฐก็ไม่ได้ใส่ใจในการลงทุนพัฒนามากพอ ทว่าอีกแง่หนึ่ง การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษากลับเปรียบเหมือน ‘ความหวัง’ ของนักเรียนที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่าผู้อื่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัว รวมถึงเป็น ‘ความหวัง’ ของตลาดแรงงานซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญทักษะเฉพาะทางด้วย
คำถามชวนขบคิดต่อคือเราจะทำอย่างไรให้การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษาตอบโจทย์ความหวังเหล่านั้น พร้อมทั้งสร้างภาพจำใหม่ว่าเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพไม่แพ้การศึกษาประเภทอื่น ไม่ใช่แค่การเรียนงานช่าง งานฝีมือแบบเก่าๆ อีกต่อไป
ไม่แน่ว่าทางออกอาจอยู่ที่การปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรและคุณภาพการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้ไม่ล้าสมัย เติมทักษะใหม่ที่ช่วยผู้เรียนอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน 101 จึงอยากชวนคุณมาสำรวจเทรนด์การเรียนรู้และทักษะที่ระบบการศึกษาสายอาชีพควรมอบให้ จากรายงาน “Trends in New Qualifications and Competencies for TVET” โดย UNEVOC ซึ่งสกัดองค์ความรู้จากการเรียนการสอนอาชีวะในกลุ่มประเทศแถบยุโรป มาเป็นกรอบการพัฒนาอาชีวศึกษาของไทยในอนาคต
โลกเปลี่ยน อาชีวศึกษาก็ต้องเปลี่ยน
หากจุดเด่นของการเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาคนให้มีทักษะตรงความต้องการของตลาดแรงงาน การหมั่น ‘อัปเดต’ เทรนด์เศรษฐกิจและเทรนด์โลกเพื่อไม่ให้หลักสูตรล้าหลังกว่าความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้ ในรายงานของ UNEVOC ระบุความท้าทายระดับโลกที่ตลาดแรงงานกำลังเผชิญ รวมถึงอาจจะดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ไว้ 5 ข้อ ดังนี้ :
กระแส Digitalization
‘ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล’ ไม่ใช่ประโยคใหม่ที่เพิ่งพูดกันเกี่ยวกับโลกการทำงานในอนาคต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมต่างๆ นับวันจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทวีความชาญฉลาด (รวมถึงความซับซ้อน) จนใครหลายคนอาจตามไม่ทัน และส่งผลกระทบต่อเราโดยตรงในแง่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะงานที่เคยมีอยู่ไปอย่างสิ้นเชิง – อย่างน้อยๆ เราก็เห็นได้ชัดว่างานที่ใช้กำลังคนหรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ ทุกวัน (routine) กำลังจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า
แต่สิ่งที่เรายังไม่เห็นในตอนนี้ คือเทคโนโลยีจะไปหยุดพัฒนาที่ตรงไหน หากกระแส Digitalization ยังคงเป็นโจทย์ที่ ‘ดิสรัปต์’ ตลาดแรงงานอยู่เนืองๆ คนทำงานยุคใหม่ก็ต้องรู้เท่าทันพัฒนาการของนวัตกรรมเช่นกัน
กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)
หลังจากโลกประสบภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดมลพิษและสูญสิ้นทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ หรือการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็กลายมาเป็นประเด็นร่วมสมัยสำหรับอุตสาหกรรมทุกวงการ คุณสมบัติใหม่ที่ธุรกิจเริ่มมองหาจากคนทำงานจึงเป็นความรู้ความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด คุ้มค่าที่สุด ไปจนถึงร่วมกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมผ่านวัฒนธรรมองค์กรและไลฟ์สไตล์อื่นๆ
แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการปลูกฝังทัศนคติและการให้ความรู้ที่ถูกต้องในระบบการศึกษานั่นเอง
กระแสการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ
นอกจากโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เปิดโอกาสให้การศึกษาต่อต่างประเทศและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศเป็นไปอย่างอิสระแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม วิกฤตเศรษฐกิจ และภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ล้วนส่งผลให้อัตราการย้ายถิ่นฐานของประชากรบนโลกเพิ่มสูงขึ้น หลายครอบครัวเดินทางจากบ้านเกิดมาตั้งรกรากในประเทศใหม่ ทำให้ในสังคมหนึ่งๆ เราอาจพบความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจคือที่ผ่านมา การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษาในหลายประเทศเป็นระบบการศึกษาที่ต้องรองรับนักเรียนต่างชาติจำนวนมาก และรับหน้าที่เตรียมความพร้อมให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศอย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ น่าจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าอาชีวศึกษาในอนาคตต้องคำนึงถึงแผนรองรับนักเรียนข้ามชาติให้อยู่ร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียนและครูในประเทศด้วย
กระแสส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดีมีส่วนช่วยให้คนตัวเล็กตัวน้อยลืมตาอ้าปาก และโอกาสดังกล่าวย่อมเพิ่มขึ้นถ้าได้รับการศึกษาที่ดีควบคู่กัน การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษาในระดับโลกจึงพยายามเสนอให้มีหลักสูตรส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการเพื่อความก้าวหน้าของตัวบุคคลและสังคมเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การศึกษาแนวคิดแบบผู้ประกอบการจะทำให้คนทำงานมองเห็นภาพกว้างของเทรนด์ตลาด ความต้องการของผู้บริโภค และมีมุมมองการแก้ไขปัญหาที่ยืดหยุ่น ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น เป็นทักษะเอาตัวรอดที่ดีในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
บาดแผลจากโควิด-19
แม้โรคอุบัติใหม่อย่างโควิดจะเพิ่งเกิดขึ้นและอยู่ร่วมกับเรามาได้เพียงปีสองปี แต่ยากจะดูแคลนผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจนานาประเทศ เพราะจากการสำรวจเบื้องต้นขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 คาดการณ์ว่าวิกฤตโควิดจะก่อให้เกิดภาวะการว่างงานครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยจากเดิมที่มีคนว่างงานอยู่แล้ว 188 ล้านคนตามข้อมูลปี 2019 เราอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5.3 ล้านคน หรืออาจมากถึง 24.7 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนว่างงานตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Recession) ปี 2008-2009 เลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่จะทำให้คนว่างงาน แต่โควิดยังเปรียบเหมือนเชื้อไฟเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและการทำงาน ธุรกิจหลายแห่งเริ่มลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น อย่างหุ่นยนต์แทนแรงงานคน ออฟฟิศ IOT ฐานข้อมูลแบบ Digital Cloud แพลตฟอร์มและเครื่องมือสำหรับทำงานจากระยะไกล (remote working) เป็นต้น
พูดอีกนัยหนึ่งคือโควิดเข้ามาเร่งกระบวนการ Digitalization ให้เกิดเร็วขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังตอกย้ำกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ผนวกเข้ากับวิสัยทัศน์และการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากโรคระบาดทำให้คนเริ่มตระหนักถึง ‘สัญญาณเตือน’ จากธรรมชาติ และเริ่มมองภาพอนาคตในสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม
ผลพวงจากกระแสความท้าทายข้างต้น โดยเฉพาะเทรนด์ Digitalization และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำลังมาแรงในทุกสาขาอาชีพ ทำให้เราสามารถทำนายอนาคตของตลาดแรงงานได้ว่า อีกไม่นานย่อมต้องเกิดตำแหน่งงานใหม่ อาชีพใหม่ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โทรคมนาคม การตลาด การเงิน และการให้บริการด้าน IT เช่น สถาปนิกที่เชี่ยวชาญการออกแบบสภาพแวดล้อม IOT ผู้พัฒนาและดูแลรักษาปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐานของฐานข้อมูล Big Data โดยเฉพาะ หรือแม้แต่อาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นักติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วิศวกรกังหันลม และนักอุตุนิยมวิทยาเกษตร ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้นภาพการทำงานในธุรกิจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป เพราะเราจะหันมาใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรือระบบอัตโนมัติในการทำงานกิจวัตรจนกลายเป็นเรื่องปกติ เปิดโอกาสให้คนหันไปใช้เวลากับงานซับซ้อนมากขึ้น เช่นงานที่เรียกร้องทักษะ soft skill หรือทักษะที่เครื่องจักรไม่สามารถทำแทนได้ รวมถึงงานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับบริบทสังคมการเมืองแต่ละแห่งที่ร่วมกำหนดทิศทางตลาดแรงงานด้วยว่าอาชีพไหนไม่ได้ไปต่อ และอาชีพไหนต้องปรับตัวอย่างไร ทุกวันนี้เราอาจพอเห็นสัญญาณเตือนบ้างแล้วว่าอาชีพที่เกี่ยวกับการจัดการโกดังเก็บสินค้า (warehouse) โลจิสติกส์ การคมนาคม และงานในส่วนของการผลิตสินค้า (production line) มีสิทธิ์ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติสูง เช่นเดียวกับงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก็มีสิทธิ์โดนลดบทบาทสำคัญลง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนทำงานอายุน้อยหรือเด็กจบใหม่อาจถือว่าเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเต็มๆ คนเหล่านี้มักเริ่มต้นด้วยตำแหน่งเล็กๆ ทำงานจิปาถะรายวันหลังเรียนจบ เช่น เป็นพนักงานขาย ลูกมือทำอาหารในครัว บริกร งานสนับสนุนเบื้องหลัง ฯลฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่อไปอาจจะสาบสูญ เพราะถูกเครื่องจักรอัตโนมัติทำงานแทนเสียหมด
ดังนั้น การศึกษาสายอาชีพต้องช่วยเติมทักษะ ความสามารถใหม่ๆ ที่เมื่อผู้เรียนจบออกไป จะมีศักยภาพมากพอสำหรับการทำงานในระดับที่สูงขึ้นกว่าตำแหน่งลูกมือ คนทำงานเบ็ดเตล็ดรายวัน – สำคัญกว่าหุ่นยนต์ในท้องตลาด
อาชีวะโฉมใหม่และทักษะจำเป็นในอนาคต
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาอาชีวะสมัยใหม่คือการทำให้ผู้เรียน ‘เอาชนะ’ เครื่องจักรด้วยการเติมทักษะทางสังคมและความเป็นมนุษย์ในตลาดแรงงาน อันที่จริงแล้ว การเรียนรู้ทักษะดังกล่าวก็สอดคล้องกับเทรนด์การเรียนการสอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในการศึกษาปกติเช่นกัน
โดยรายงานของ UNEVOC เสนอว่า การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษาควรสร้างทักษะพื้นฐาน อย่างการเรียนเขียนอ่าน คิดคำนวณ Digital Literacy ควบคู่กับทักษะการรู้คิดขั้นสูง เช่น การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ไขปัญหาแบบ complex problem solving การหาความรู้ด้วยตัวเอง และการมีวินัย ที่สำคัญ ไม่ควรลืมทักษะด้านอารมณ์และสังคม เช่น ความรับผิดชอบ ละเอียดลออ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รู้เท่าทันตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องผนวกรวมเข้ากับการเรียนรู้ทักษะเฉพาะทางตามแต่ละสาขาอาชีพอันเป็นจุดเด่นของอาชีวศึกษา
นอกเหนือไปจากภาพกว้างข้างต้น สิ่งที่ควรพิจารณาต่อคือการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อรับมือกับกระแสความท้าทายแต่ละด้าน และนี่คือตัวอย่างที่น่าสนใจจากประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพการพัฒนาอาชีวศึกษาในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น :
ทักษะสำคัญของอาชีพสายเทคโนโลยี
ประเทศที่น่าสนใจประเทศแรกคือสวิตเซอร์แลนด์ — ข้อมูลจาก The Swiss State Secretariat for Economic Affairs (SECO) เมื่อปี 2017 เผยว่า ด้วยกระแสความนิยมด้านการวาดภาพ 3 มิติ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบผลงาน คิดคำนวณ ในสายอาชีพอย่างสถาปนิกหรือนักออกแบบแขนงอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้งานประเภทนักพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยคุณสมบัติสำคัญที่นักพัฒนาเทคโนโลยีควรมี คือ สามารถใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลคำนวณ ทดสอบความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดในโปรแกรม และปรับปรุงให้เหลือน้อยที่สุด สามารถร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อออกแบบการใช้พลังงานอย่างประหยัดที่สุด รวมถึงเข้าใจความต้องการ ทำงานร่วมกับฝั่งนักออกแบบที่เป็นผู้ใช้หลักได้
ด้วยเหตุนี้ การฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ที่หมายมั่นปั้นนักผลิตเทคโนโลยีและโปรแกรมช่วยเหลืองานออกแบบจึงเร่งเติมทักษะด้าน IT ควบคู่ไปกับทักษะทางด้านสังคม ซึ่งถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของตลาดแรงงานทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากกระแส Digitalization แต่ก็สอดคล้องกับข้อเสนอของ UNEVOC ว่าด้วยทักษะที่อาชีวศึกษาควรมอบให้แก่อาชีพสายเทคฯ – ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบโปรแกรม วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ ผู้ดูแล Cloud Computing จำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ ทักษะพื้นฐานที่ใช้ได้ทุกอาชีพ เช่น การสื่อสาร การเจรจา ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ไขปัญหา รวมถึง soft skill อย่างความเป็นผู้นำ
เสริมด้วยทักษะด้านเทคโนโลยีเบื้องต้น เช่น ความรู้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชันเบสิก ไล่ระดับไปจนถึงแอปพลิเคชันที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย ทั้งแอปสำหรับการออกแบบเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การตลาดออนไลน์ ก่อนต่อยอดด้วยความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง เช่น Data Science การประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing) หุ่นยนต์ ระบบทำงานอัตโนมัติ Cloud Computing และความปลอดภัยทางไซเบอร์
อนึ่ง ทักษะสำหรับสายเทคฯ ที่อาจเรียนรู้ได้เพิ่มเติม คือทักษะเฉพาะทางสำหรับบางอาชีพ เช่น การตัดต่อวิดีโอ ทำคอนเทนต์ และทักษะการขาย เช่นเดียวกับความรู้ทางธุรกิจอย่างการตลาด การบริหารจัดการโปรเจกต์ ดูแลงบ ที่สามารถขยายโอกาสด้านการประกอบอาชีพหรือพัฒนาธุรกิจเป็นของตัวเองในอนาคต
ทักษะที่ควรมีของอาชีพสายสิ่งแวดล้อม
ทุกๆ ปี ประเทศสเปนจะมีการรวมตัวของตัวแทนนายจ้าง ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ตัวแทนสหภาพการค้าและความร่วมมือระหว่างธุรกิจ แรงงานที่มีทักษะ อาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจากอาชีวศึกษา เพื่อประเมินทักษะอาชีพกว่า 200 อาชีพว่ามีสิ่งใดต้องปรับปรุงอัปเดตให้ทันโลกบ้าง และหนึ่งในอาชีพที่ถูกประเมินว่าต้องรีบเติมทักษะใหม่ในรายงานประจำปี 2017 คืออาชีพเกี่ยวกับการดูแลป่าไม้และสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ต้องเติมคือความรู้ด้านภูมิประเทศ แนวทางป้องกันไฟป่า การคิดวิเคราะห์ต้นทุนความคุ้มค่า ผลกระทบของการใช้ทรัพยากรป่าไม้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมระบบนิเวศ ร่ายเรียงไปจนถึงวิธีป้องกันความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน วิธีใช้งานอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่นเดียวกับสายอาชีพวิศวกรพลังงานสะอาดที่ต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ทางเทคนิคหลายๆ เรื่องเช่นกัน
พูดง่ายๆ ว่าอาชีพเฉพาะทางสายสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันดูเหมือนยังประสบปัญหาเรื่องการขาดทักษะที่จำเป็นต่องานอยู่ นำมาสู่ข้อเสนอของ UNEVOC ที่ระบุว่าอาชีพเหล่านี้ควรมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างการตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผสมผสานไปกับทักษะทางอารมณ์และสังคม เช่น การทำงานเป็นทีม ยืดหยุ่นได้ ปรับตัวดี มีความสามารถในการสื่อสารและเจรจา
ส่วนเรื่องทักษะระดับสูงสำหรับอาชีพเฉพาะทางอย่างช่างเทคนิคดูแลกังหันลม ช่างดูแลกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรน้ำ และอาชีพที่คาดว่าจะมาแรงในอนาคต เช่น ผู้จัดการด้านพลังงาน (energy manager) ช่างตรวจสอบกระแสพลังงาน (energy auditors) นักวางแผนการใช้พลังงาน และนักวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ควรมีไว้ติดตัวนอกเหนือจากทักษะด้านเทคนิค คือทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) เพื่อตีความการเปลี่ยนแปลงและความต้องการใหม่ๆ ในสังคมมาสู่การปฏิบัติในธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ทักษะการบริหารจัดการ มีมุมมององค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ เท่าทันเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เพื่อปรับใช้สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน มีคุณลักษณะของการเป็นนักวางแผน และเป็นผู้นำที่ดี เพื่อที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้บริหารหรือผู้ออกนโยบายรับฟังแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ หากเป็นตำแหน่งบริหารจัดการ หรืองานที่ต้องพบปะผู้คน ก็ควรมีทักษะการให้คำปรึกษา หรือแนะนำผู้บริโภคถึงทางเลือกใหม่ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทักษะการคิดเชิงการตลาด และทักษะด้านภาษาที่ดีประกอบกันด้วย
โอบรับความหลากหลายของผู้เรียนต่างเชื้อชาติ
ถ้าลองเปิดข้อมูลตัวเลขผู้เข้ารับการอบรมฝึกอาชีพของ the Federal Institute for Vocational Education and Training (BIBB) ในประเทศเยอรมนีดูแล้วล่ะก็ เราจะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนชาวต่างชาติที่เข้าร่วมรับการอบรมเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 100% และในจำนวนนี้ มีหลายคนถือสถานะผู้ลี้ภัยจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำความรุนแรงโดยรัฐในบ้านเกิดตนเอง ย้ายมาพักอาศัยอย่างไม่มีกำหนดกลับ ทำให้เยอรมนีต้องคิดถึงเรื่องเตรียมความพร้อมแก่กลุ่มคนเหล่านี้เพื่อที่พวกเขาจะสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพ และกลายเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจได้
นั่นเป็นที่มาให้สำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Federal Employment Agency) สร้างโครงการฝึกอบรมชาวต่างชาติเป็นเวลา 6-8 เดือน ซึ่งช่วยวัดระดับทักษะประสบการณ์ของแต่ละคนที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ สอนภาษา ข้อมูลพื้นฐานด้านการใช้ชีวิตในสังคมใหม่ และมอบโอกาสการเข้าร่วมฝึกงานในบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างลู่ทางอาชีพต่อไป
จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของการรับมือกับกระแสการย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยซึ่งก่อตัวมากขึ้นจากปัญหาต่างๆ คือ การมอบโอกาสทางการศึกษา มอบความรู้สำหรับนำไปประกอบอาชีพ ดังนั้น การฝึกอบรมเทคนิคและอาชีวศึกษาในฐานะการศึกษาที่มอบทักษะอาชีพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศนั้นๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อรองรับนักเรียนใหม่หลายเชื้อชาติหลากภูมิหลังผ่านความร่วมมือจากทุกฝ่าย กล่าวคือ อาชีวศึกษาสมัยใหม่ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้นักเรียนในประเทศมีทัศนคติยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ปราศจากการกีดกันแบ่งแยก อีกทั้งตระหนักถึงบริบททางวัฒนธรรม สังคมการเมืองที่ต่างกันได้
ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายนักเรียนต่างชาติเองก็ต้องมีทัศนคติยอมรับความหลากหลายดังกล่าว พร้อมเปิดใจปรับตัวเข้าหาบริบททางสังคมแบบใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ภาษาของประเทศปลายทาง เพื่อใช้ในการสื่อสารและการศึกษา นอกจากนี้ บุคลากรเช่นครูหรือผู้ฝึกอบรม ยังมีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนต่างชาติอย่างมาก ทั้งการมองหาวิธีการสอนที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย การสร้างความไว้วางใจ แรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน รวมถึงมอบโอกาสความก้าวหน้าทางการศึกษาและอาชีพโดยปราศจากอคติ
เติมสกิลผู้ประกอบการในการศึกษาสายอาชีพ
การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยถือเป็นนโยบายสำคัญของหลายๆ ประเทศในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับการเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ที่กำลังมาแรงในระบบอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป เห็นได้จากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปร่วมกันจัดตั้งโครงการ “Entrecomp360” แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประกอบด้วยบทเรียน เครื่องมือ ข่าวสารและคำแนะนำสำหรับการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้ที่สนใจ อีกทั้งเชื่อมต่อสถานศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้เรียนและผู้ประกอบการรวมไว้ในที่เดียว
ยิ่งไปกว่านั้น EntreComp ยังเสนอกรอบทักษะผู้ประกอบการที่สามารถนำไปประยุกต์พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมอื่นๆ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดทางการศึกษา ได้แก่ กลุ่มทักษะทางความคิดและการแสวงโอกาส ประกอบด้วยความสามารถในการจินตนาการหรือค้นหาโอกาสสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ การมีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ มองหาไอเดียและโอกาสที่หลากหลายในการประกอบธุรกิจ รวมถึงสามารถประเมินผลกระทบ ผลลัพธ์จากไอเดียที่คิด โอกาสที่เจอ และการลงมือทำ
ต่อมาคือกลุ่มทักษะด้านการบริหารและวิเคราะห์ทรัพยากร หมายถึง ทักษะในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งที่จับต้องและจับต้องไม่ได้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มีความรู้เรื่องการเงินการลงทุน และเศรษฐกิจ ไปจนถึงวิธีสร้างแรงขับเคลื่อนในการทำงานแก่ตนเองและผู้อื่น
สุดท้าย เป็นทักษะด้านการปฏิบัติ เปลี่ยนไอเดียเป็นการลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย ตัดสินใจได้เด็ดขาด รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าและความเสี่ยงได้ดี ขณะเดียวกัน ก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น สร้างการเรียนรู้ร่วมกันในที่ทำงาน — ทั้งหมดนี้ เป็นกรอบทักษะที่น่าสนใจและอาจมีอิทธิพลต่ออาชีวศึกษาประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศยุโรปในอนาคต
จะเรียนจะสอนกันอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
หลังจากได้คำตอบว่าทักษะแบบไหนที่อาชีวศึกษาควรมอบแก่ผู้เรียนเพื่อเตรียมตัวกระโจนสู่ความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ประเด็นถัดมาคงไม่พ้นคำถามที่ว่าควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้ผู้เรียนได้รับทักษะดังกล่าว
ในภาพกว้าง UNEVOC เน้นย้ำว่าอาชีวศึกษาควรยึดหลักจัดการศึกษาแบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner-centred approach) เช่นเดียวกับการศึกษาทั่วโลก โดยแบ่งแนวทางจัดการเรียนรู้ได้อีก 3 รูปแบบ
แบบแรก คือเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential learning) หรือเรียนรู้จากการลงมือทำเป็นหลัก ซึ่งในอาชีวศึกษาส่วนใหญ่มักใช้แนวทางนี้ผ่านการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำงานจริง ฝึกงานจริง อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมในสถานศึกษาก็สามารถมีส่วนช่วยให้คนสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้มากขึ้น จากการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) ที่ให้นักเรียนพยายามแก้โจทย์ปัญหาจากการผสมผสานศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือการเรียนการสอนแบบใช้โครงงาน (project-based learning) ที่ผลักดันให้นักเรียนได้ใช้ทักษะหลายๆ ด้าน เพื่อพัฒนาโครงการตามความสนใจ
แนวทางแบบที่สอง คือเน้นการเรียนรู้แบบโต้ตอบ (Dialogic learning/Peer-learning) ผู้เรียนจะได้ร่วมทำงานกับเพื่อนเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน แบ่งปันความรู้ ทักษะ เทคนิคให้แก่กัน การเรียนเช่นนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะด้านอารมณ์และสังคม รวมถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตการทำงานจริงได้ทุกสาขาอาชีพ
แนวทางสุดท้าย คือการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended learning) ระหว่างการเรียนภายในห้อง (หรือทางออนไลน์) กับอาจารย์ และการเรียนแบบออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ในชุมชน หรือในสถานที่ทำงาน ตัวอย่างการเรียนรู้ตามแนวทางนี้คือโมเดลห้องเรียนกลับด้าน (flipped classroom model) ซึ่งให้ผู้เรียนไปค้นคว้าหาความรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ที่จัดให้ก่อนเข้าคลาส แล้วใช้เวลาในห้องซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติม และโมเดลห้องเรียนหมุนเวียน (station rotation model) ซึ่งเปลี่ยนวิธีการสอนไปเรื่อยๆ จากบทเรียนออนไลน์ เป็นการพบกันกับครูในห้อง สลับกับทำงานกลุ่มหรือกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อื่นๆ
นอกเหนือไปจากหลักการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือการเรียนเพื่อเสริมทักษะเฉพาะด้านอย่างทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทักษะผู้ประกอบการเพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก
ในรายงานของ UNEVOC แนะนำการสอนทักษะการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าควรเป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมศึกษาประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ตนสนใจ ผ่านการเรียนแบบ Problem-based หรือ Project-based ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม ร่วมถกเถียง แลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นความยั่งยืน คิดวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ปัจเจกและสังคมส่วนรวม เสนอแนะทางออก พร้อมๆ กับฝึกการอ่านเขียน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ –ทั้งนี้ บรรยากาศของห้องเรียนยังสามารถส่งเสริมลักษณะพฤติกรรมที่ดี เช่น ลดการใช้กระดาษ ปิดไฟหลังเลิกใช้ คัดแยกขยะ ให้เป็นนิสัยติดตัวของผู้เรียนเมื่อออกไปทำงาน
ส่วนการเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการ โดยทั่วไปใช้แนวทาง 2 วิธี คือใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ ลงมือทำ เช่น ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าไปช่วยเหลือ สร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจจริงในท้องถิ่น และการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน แผนการประกอบธุรกิจ หรือสถานศึกษาอาจจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเช่น งานวิชาการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมาร่วมงาน ออกร้านค้า เป็นการฝึกทักษะแบบสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง การเรียนสายอาชีพสมัยใหม่ย่อมหนีไม่พ้นกระแสความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับวงการอื่นๆ เราจะมีแหล่งข้อมูลออนไลน์จำนวนมาก ทั้งบทเรียน แบบแปลน prototype ให้ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นผ่านสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต เกิดวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่อย่างเกม ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจไม่น่าเบื่อ แถมยังสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเรียน เช่น สร้างภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ สถานการณ์เสมือนจริงด้วย Virtual Reality (VR) เพื่อฝึกฝนการทำงานซ้ำๆ ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกดาย ใช้เครื่องพิมพ์ 3D printing เพื่อสร้างแปลน ตัวอย่างงาน ทำให้เห็นภาพและแก้ไขได้ตามที่ต้องการ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตอาจมีการประยุกต์ AI เข้ามาช่วยจัดสรรบทเรียนตามความถนัด ความสนใจ ความสามารถในการเรียนรู้ รวมถึงมาเป็น ‘ครู’ ช่วยสอนด้วยก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้นับว่าเป็นโอกาสดีที่ทำให้ผู้เรียนได้คลุกคลีคุ้นเคยกับเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานที่จะเต็มไปด้วยสารพัดนวัตกรรมในภายภาคหน้า
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้การเรียนการสอนอาชีวศึกษาประสบผลสำเร็จ คือครูหรือผู้ฝึกอบรมเองต้องปรับเปลี่ยนตนเองไปตามหลักสูตรและยุคสมัยด้วย เมื่อทักษะประเภท soft skills ทวีความสำคัญมากขึ้นในตลาดแรงงาน ครูอาจต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้เพียงอย่างเดียวเป็นผู้ที่ช่วยสอนทักษะชีวิต ทักษะอารมณ์และสังคม รวมถึงให้การสนับสนุนอื่นๆ เช่น ดูแลสภาพจิตใจ ให้ความสำคัญกับการปรับตัวของนักเรียนต่างชาติ พร้อมกันนั้น ทางภาครัฐ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างการฝึกอบรมทักษะทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม เสริมความรู้เรื่องผู้ประกอบการ เพื่อให้ครูสามารถปรับตัวตามกระแสไปด้วยกันกับผู้เรียน