เรียบเรียงจากปาฐกถา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา
วันที่ 29 ตุลาคม 2564
เด็กทุกคนและทุกบ้าน ต้องได้รับอาหารที่ดีควบคู่การศึกษาที่ดี
นับแต่การระบาดระลอกแรก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงย้ำความสำคัญของบทบาท ‘ครู’ และแนวร่วมทุกฝ่าย ที่ต้องเผชิญความท้าทายในการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบของ ‘การทำงาน’ เพื่อให้ ‘การศึกษา’ ยังคงเดินต่อไปได้โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
– พระราชทานถุงยังชีพเพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก บรรจุด้วยหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19 พร้อมเมล็ดผัก หนังสือแบบฝึกหัด กระดาษ A4 สำหรับทำสมุดทำมือพร้อมภาพวาดสวย ๆ เป็นปก
– ให้ครูและอาสาสมัครช่วยกันออกตรวจตรา ว่าเด็กทุกคนทุกบ้าน ต่างได้รับอาหารที่ดีและการศึกษาที่ดี บางครอบครัวมีเด็กนักเรียนซึ่งเป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ จึงเป็นเรื่องยากในการช่วยบุตรหลานเรื่องการศึกษา จึงต้องมีครูเดินทางเข้าไปสอนนักเรียนตามบ้าน พร้อมกับนำอาหารไปมอบให้ เปลี่ยนศาลาการเปรียญให้กลายเป็นโรงครัว แจกจ่ายอาหารในปิ่นโต ให้ครอบครัวเด็ก ๆ นำภาชนะกลับมาใช้ได้
แม้เรียกขานว่า ‘ครูหลังม้า’ แต่ทุกวันนี้เดินทางด้วย ‘รถวิบาก’
– แก้ไขปัญหาการขาดไอโอดีนและธาตุเหล็กด้วยอาหารและยาเม็ด ดูแลเด็กทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทารกแรกเกิดถึงสามขวบ เด็กในศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลในช่วงวัย 3-5 หรือ 6 ขวบ จนถึงระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
– ดูแลสุขอนามัยเด็ก ๆ ด้วยครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เดินทางเข้าไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพของคนทั้งครอบครัว ครูกลุ่มนี้เป็นครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งจะเอาการบ้านและอาหารไปให้เด็กๆ บนเส้นทางที่ยากลำบาก จึงทรงพระราชทานรถวิบากขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น และรถเหล่านี้ยังใช้ขนส่งผู้ป่วย หรือนำบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปยังหมู่บ้าน
ตระหนักถึงช่องทางอันจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล
– พบว่านักเรียนในท้องที่ห่างไกลมีปัญหากับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ด้วยอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรหรือไม่มีสัญญาณไวไฟ ทั้งที่นักเรียนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนได้ แต่เพราะไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง การใช้คอมพิวเตอร์จึงไม่ราบรื่น จึงทรงเสนอความคิดถึงการใช้เครื่องปั่นไฟระบบน้ำมันดีเซล ที่จะช่วยให้เด็กเรียนหนังสือได้ รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น มอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและไอแพดให้กับเด็กๆ โดยยกตัวอย่างจาก ‘โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง’ ที่ระดมทุนร่วมบริจาคเงินและคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กๆ ซึ่งอาจเป็นหนทางช่วยเด็กๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ได้
– พระราชทานหนังสือให้แก่ห้องสมุดในโรงเรียนประถม เพื่อให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งหนังสือที่มีคุณค่าซึ่งจัดพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง และหนังสือที่ออกใหม่ซึ่งมีประโยชน์และน่าสนใจ
การศึกษาอยู่รอบตัวเรา
– พระราชทานเครื่องดนตรีให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นจำพวกดนตรีนาฏศิลป์ สนับสนุนให้เกิดการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ รักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรม
– ตระหนักถึงการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ชักชวนอาสาสมัครเข้าไปแนะนำเด็กและครอบครัวให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกผักผลไม้ การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ใหญ่เช่น ไก่ หมู และแพะ เนื่องจากการทำเกษตรกรรม คือกิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ศึกษาด้วยตนเองผ่านสิ่งแวดล้อม ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครที่เข้าไปสอนเกี่ยวกับการเกษตร ยังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างโรงเลี้ยงไก่ บ่อปลา ห้องเรียน ห้องน้ำ และหอพักสำหรับครอบครัวของเด็กด้วย
สมาร์ททีวีเพื่อการศึกษา
– ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนพุทธศาสนาสำหรับสามเณร รวมถึงการศึกษาทั่วไปในระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 โรงเรียนแห่งนี้ก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันกับโรงเรียนอื่นๆ เหล่าสามเณรต้องออกจากโรงเรียนและกลับไปจำอยู่ที่วัด จึงทรงพระราชทานสมาร์ททีวี ติดตั้งรายการด้านการศึกษาและรายการที่จำเป็น พร้อมไฟล์การสอนจำนวนมาก นอกจากนั้นยังนิมนต์ผู้สอนที่เป็นพระภิกษุและเชิญบุคลากรทั่วไป เข้ามาช่วยสอนจนกว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดได้ ซึ่งมีผลพลอยได้คือไม่เพียงสามเณรเท่านั้นที่มีโอกาสเรียน แต่เด็กๆ ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงก็สามารถเข้าร่วมชั้นเรียนได้อีกด้วย
– ในโรงเรียนมุสลิมเอกชน ทรงสนับสนุนการจัดการศึกษาทั้งช่วงก่อนและระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสิ่งสำคัญคือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล โภชนาการ อาชีวศึกษา และการศึกษาทั่วไป และได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ให้เข้าไปฉีดวัคซีนกับครูในโรงเรียนมุสลิมเอกชนทุกคน
“แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป และบางทีวิถีชีวิตในช่วงหลังการแพร่ระบาดอาจไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก ดังนั้นไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น แต่คนทุกช่วงวัยจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อการหาเลี้ยงชีพ เป็นการศึกษาใน ‘วิถีใหม่’ คือ เน้นเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการให้บริการแก่สังคม
“นับแต่วันนี้จะมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย หากเราไม่มีความสามารถสรรค์สร้างสิ่งใหม่ อย่างน้อยที่สุด ก็ควรใช้นวัตกรรมต่างๆ ให้เป็น ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีผลงาน รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สร้างหรือผลิตขึ้น ว่าจะช่วยเหลือสังคมและมวลมนุษยชาติได้อย่างไร
“สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ดูแลตนเองและคนรอบข้างให้รอดพ้นจากโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีน ดูแลสุขอนามัยและสุขภาพตนเอง ปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด …‘ดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น’