ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) เครือข่ายมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศให้สถานศึกษาทั่วประเทศเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นั้น มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ได้มีการเตรียมความพร้อมและได้ดำเนินการถอดบทเรียน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมาเกือบ 2 ปี โดยเฉพาะผลกระทบที่ส่งตรงถึงตัวผู้เรียน จนทำให้เด็กเกิดภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ฉะนั้น การที่เด็กไม่ได้เข้าเรียนแบบ Onsite ที่โรงเรียนเป็นเวลานาน และการที่โรงเรียนจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อให้เด็กกลับมาเรียนตามปกติในภาคเรียนที่ 2 จึงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง ว่าเด็กสามารถมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่ และโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง
ดร.นรรธพรกล่าวต่อว่า ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนบ้านปลาดาว ซึ่งอยู่มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมเป็นผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ขนาดเล็ก มีนักเรียน 200 กว่าคน เด็กกว่า 80% เป็นเด็กชาติพันธุ์ ไม่ได้สื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาแรก ในช่วงโควิด-19 โรงเรียนบ้านปลาดาวจัดการเรียนการสอนทั้งแบบ On hand, การจัด Learning Box ให้กับเด็ก และมีครูลงไปยังชุมชนเพื่อช่วยดูแลเด็ก รวมถึงร่วมมือกับผู้ปกครองในการดูแล แต่ก็พบว่าเด็กเรียนรู้ได้ไม่เหมือนกับการมาเรียนที่โรงเรียน เป็นปัจจัยที่ทำให้สตาร์ฟิชคันทรีโฮมมาทบทวนว่า ในมุมของโรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องใดบ้างเมื่อเปิดเทอม จึงเป็นที่มาให้ทางมูลนิธิมาถอดบทเรียนในเรื่องนี้ โดยจากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาพบ 5 มาตรการสำคัญที่เป็นปัจจัยที่ต้องเตรียมพร้อมเมื่อกลับมาเรียน และช่วยเด็กฟื้นฟูการเรียนที่ถดถอยของเด็กได้ ดังนี้
1. การประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ ต้องตรวจสอบว่าเด็กมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน สภาพครอบครัว ทั้งความเป็นอยู่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ของครอบครัวเป็นเช่นไร เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้ทราบว่าเด็กของเราอยู่จุดไหน
2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เมื่อรู้ข้อมูลพื้นฐานของเด็กต้องนำมาสู่การวางแผนโดยต้องทำเป็นทีมโรงเรียน เนื่องจากการฟื้นฟูการเรียนถดถอยไม่สามารถทำแค่ครูบางคน บางชั้นเรียน เพราะเด็กทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น การวางแผนระดับโรงเรียนจะสามารถกำหนดแนวทาง วางระบบ การทำงาน รวมถึงทรัพยากรงบประมาณ เพื่อดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องกับการบริหารงานของโรงเรียน โดยมีผู้อำนวยการ ครู ชุมชน และผู้ปกครองร่วมกันวางแผน
3. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยต้องชัดเจนว่าประเด็นใด สิ่งใดบ้างคือความถดถอย ในมุมมองของสตาร์ฟิชประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ วิชาการ เรียนรู้ตามหลักสูตร, พัฒนาการของเด็ก เป็นไปอย่างสมวัยหรือเปลี่ยนไป และทักษะ พัฒนาการทางสังคมเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะบางคนอาจเป็นลูกคนเดียวอยู่บ้านนานๆ กลับมาเรียนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เป็นต้น เพราะฉะนั้น Learning Loss จึงไม่ได้หมายถึงการฟื้นฟูความถดถอยแค่เฉพาะวิชาการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ครูต้องได้รับการพัฒนาและมองให้ออกว่าเด็กมีช่องว่างตรงไหน เพื่อช่วยเด็กเติมเต็ม และต้องช่วยครูสร้างสื่อการสอน สร้างเครือข่ายให้ครูพัฒนาตนเองได้
4. การช่วยเหลือนักเรียน คือการพัฒนาตัวเด็ก การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อช่วยลดช่วงว่างการเรียนรู้ การช่วยเหลือเด็กด้านสุขภาวะ เราต้องให้ความสำคัญเด็กเป็นรายบุคคล เพราะพื้นฐานครอบครัวแตกต่างและหลากหลาย ความต้องการจึงเฉพาะบุคคลไม่สามารถเหมารวมได้ เช่น เด็ก ป.2 มีความต้องการเหมือนกัน แต่ต้องดูไปถึงสื่อการเรียนการสอน วิธีและโอกาสในการเรียนรู้ การสนับสนุนจากครอบครัว ที่แตกต่างกัน โดยต้องเจาะไปที่รายบุคคล หรืออย่างน้อยที่สุดต้องลงไปรายกลุ่ม
5. การติดตามปรับปรุงและผลสะท้อนกลับ เป็นการประเมินผลจากสิ่งที่ทำมาในมาตรการต่างๆ ต้องมาประเมินผลด้วยว่าดีหรือยัง ซึ่งไม่สามารถทำได้หลังจากสิ้นสุดเทอม 2 แต่จะต้องทำการประเมินควบคู่ไปกับการทำงาน เพราะยังอยู่ช่วงวิกฤตที่อะไรก็ปรับเปลี่ยนได้เสมอ การมอนิเตอร์เป็นเรื่องสำคัญ
“โรงเรียนต้องเตรียมตัวในการเปิดภาคเรียน จะเปิดเรียนปกติแบบที่ผ่านมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การเตรียมตัวรับการเปิดภาคเรียนจึงสำคัญมาก โดยทั้ง 5 มาตรการเป็นกรอบการทำงานที่วางไว้ เพื่อช่วยกันดูการฟื้นฟูการถดถอยทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ Learning Loss ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง แต่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยต้องมองให้กว้างกว่าและมีหลายภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้เริ่มทำที่โรงเรียนบ้านปลาดาว และขยายไปกลุ่มโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ซึ่งได้กำหนดมาตรการหนุนเสริมให้โรงเรียนเลือกนำไปวางแผนพัฒนา โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังเมื่อโรงเรียนตระหนักในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สามารถเตรียมความพร้อมได้เป็นระบบ เด็กกลับมาเรียนได้โดยที่รู้สึกว่าสบายใจ ไม่ยากเกินไป เพราะหากโรงเรียนไม่สนใจ Learning Loss สอนตามแบบแผนตามปกติ ไม่มองความพร้อมผู้เรียน ซึ่งการที่เด็กเรียนไม่ทันอยู่แล้ว ก็ประสบปัญหาเรียนไม่ทัน สภาพแวดล้อมครอบครัวก็ลำบากด้วยภาวะเศรษฐกิจ พอมาเรียนแล้วเรียนไม่รู้เรื่องจะยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของเขา” ดร.นรรธพรกล่าว
ดร.นรรธพรกล่าวย้ำว่า ขอฝากให้โรงเรียนตระหนักว่าเราไม่สามารถทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและกลับไปเปิดเทอมตามปกติได้ อยากให้มองเห็นว่ามีอะไรที่จะต้องเติมเต็มเด็กรายบุคคล หรือเติมเต็มสิ่งที่หายไป โรงเรียน และครูต้องทำงานหนัก แต่การทำงานหนักนี้ ผู้บริหารโรงเรียน ครู ต้องปรับวิธี หากมีความตระหนัก ทางมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมมีเครื่องมือ แนวทางที่มาแบ่งปันให้โรงเรียนนำไปปรับให้เหมาะกับโรงเรียนของตนเองได้ ขณะนี้มีหลายงานวิจัย มีเครื่องมือมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะรู้ดีที่สุดว่าช่องว่างการเรียนรู้นั้นใหญ่แค่ไหนคือครูผู้สอน จึงหวังว่าการเปิดเทอมในครั้งนี้ แม้อาจจะไม่สบาย แต่อย่างน้อยมีเพื่อนที่ร่วมทำและมีโรงเรียนที่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้นำไปปรับใช้ เพราะการศึกษาไทยเวลานี้จะต้องช่วยกัน ไม่สามารถบอกว่าใครทำได้ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องแบ่งปัน ทำอะไรไปแล้วบ้าง ปรับตัวให้เร็ว การเปิดเทอม onsite ไม่ได้หมายความว่าจะเรียนในโรงเรียนได้ตลอด เพราะฉะนั้น การเตรียมพร้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ