การระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กนักเรียนในทุกระดับชั้นของอังกฤษ โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษาตกอยู่ในภาวะอ่อนล้า หรือ “เอียน” เทคโนโลยี เนื่องจากต้องนั่งเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบออนไลน์เป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันร่วมหลายชั่วโมง ส่งผลให้ชั้นเรียนทางเลือกที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือ ห้องเรียนธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศอังกฤษในเวลานี้
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ (The Guardian) รายงานว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์และเปิดทางให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้ตามปกติแล้ว แต่ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายในอังกฤษต่างสังเกตเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมเรียนรู้และค่อนข้างจะอ่อนล้าจากการเรียนออนไลน์มาอย่างหนักหน่วง ทำให้การกลับมาเรียนที่ห้องเรียนจึงไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
รายงานระบุว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกให้ลูกๆ ของตนเข้าร่วมกิจกรรม “ห้องเรียนธรรมชาติ” หลังเลิกเรียน ซึ่งรวมถึงแมกดาเลนา เบกห์ (Magdalena Begh) คุณแม่ของอเลีย (Alia) และฮานา (Hana) ลูกสาวสองคนในวัย 6 ขวบและ 9 ขวบ ที่ให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมของ Urban Outdoors Adventures in Nature หรือ ชมรมการผจญภัยในธรรมชาติกลางแจ้งของเมืองหลังเลิกเรียน ซึ่งอยู่บริเวณทางตอนเหนือของกรุงลอนดอนตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสอนให้เด็กๆ สังเกตและเรียนรู้ธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว
เบกห์กล่าวว่า ในแต่ละวันหลังจากกลับจากห้องเรียนธรรมชาติ ลูกๆ มีชีวิตชีวา มีพลังมากขึ้น และบอกเล่าว่าได้เรียนปั้นโคลน รู้จักชื่อและหน้าที่ของแมลง เรียนวิธีการก่อไฟ ทำแยมส้ม รวมถึงการยิงหน้าไม้และธนู
ทั้งนี้ ในจำนวนสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนห้องเรียนธรรมชาติจากการสำรวจของสมาคมโรงเรียนธรรมชาติ หรือ Forest School Association (FSA) ในอังกฤษ พบ 2 ใน 3 จากโรงเรียนทั้งหมดมากกว่า 200 แห่ง ระบุว่า มีปริมาณความต้องการสมัครเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในอังกฤษ
สำหรับเหตุผลหลักที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาสมัครเรียนก็คือ การตระหนักถึงประโยชน์ของการให้เด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อการผ่อนคลายภาวะความเครียดและความวิตกกังวลซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ขณะเดียวกัน ห้องเรียนธรรมชาติยังค่อนข้างปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 และทำให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลายหลังจากต้องจดจ่อเรียนออนไลน์อยู่บ้านมานานหลายเดือน
กาเรธ วิน เดวีส์ (Gareth Wyn Davies) ประธานบริหารสมาคม FSA ยอมรับว่า ไม่เคยคาดคิดว่าห้องเรียนธรรมชาติจะได้รับความนิยมอย่างมากมายขนาดนี้มาก่อน และเชื่อว่าความต้องการจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเป็นไปในฐานะการเรียนทางเลือกหรือการเรียนเสริมจากหลักสูตรภาคบังคับ และยังต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรอีกมาก เนื่องจากห้องเรียนธรรมชาติเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างใหม่ และเพิ่งเกิดขึ้นมาได้เพียง 20 ปีเท่านั้น รวมถึงยังไม่ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ห้องเรียนธรรมชาติ หรือ โรงเรียนธรรมชาติ (Forest School) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น การสำรวจ และการตระหนักรู้สัญชาตญาณ ไม่มีโครงสร้างหลักสูตรตายตัว เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรครั้งแรกในช่วงปี 1993 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกลางแจ้ง หรือ “friluftsliv” ของสแกนดิเนเวีย การเรียนการสอนจะจัดขึ้นกลางแจ้งทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ และมีเป้าหมายเพื่อเป็นหลักสูตรเสริมมากกว่าที่จะไปแทนที่การศึกษาแบบดั้งเดิม
เดอะการ์เดียนรายงานว่า การระบาดของโควิด 19 ทำให้โรงเรียนรัฐในอังกฤษจัดห้องเรียนธรรมชาติเข้ามาเป็นกิจกรรมหลังเลิกเรียนมากขึ้น เพราะถือเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ ตลอดจนช่วยขัดเกลาพฤติกรรมที่ส่งผลต่อผลการเรียน รวมถึงเอื้อต่อการ “ป้องกันโควิด” ได้เป็นอย่างดี
แอบบี ซัตคลิฟฟ์ (Abby Sutcliffe) ผู้อำนวยการห้องเรียนธรรมชาติของ Urban Outdoors Adventures in Nature กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงเรียนมีนักเรียนในความดูแลราว 100 คนต่อสัปดาห์ โดยเป็นนักเรียนที่เข้าร่วมผ่านทางกิจกรรมชมรมหลังเลิกเรียน ขณะที่ทางโรงเรียนเองก็มีนักเรียนประจำศึกษาอยู่ราว 60 คน โดยซัตคลิฟฟ์ยอมรับว่า ในปีที่่ผ่านมามีนักเรียนมาสมัครเรียนเยอะมากขึ้น เพราะกระแสตื่นตัวจากการล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนตระหนักว่าการใช้ชีวิตกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดีต่อสุขภาพจิตอย่างมาก
สำหรับในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก ทางโรงเรียนได้จัดหลักสูตรฟรีสำหรับเด็กในท้องถิ่น และเพิ่งเสร็จสิ้นโครงการดังกล่าวที่กินระยะเวลานานร่วม 1 ปีเมื่อไม่นานมานี้ โดยหลักสูตรประกอบไปด้วยการเรียนเรื่องงานหัตถกรรมไม้ ช่างตีเหล็ก และการทำสมุนไพร
โรงเรียนธรรมชาติหลายแห่งจะจัดขึ้นบนที่ดินเอกชนที่มอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ บางส่วนเช่นห้องเรียนธรรมชาติในเขตเมืองของซัตคลิฟฟ์ก็ใช้พื้นที่สาธารณะรวมถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและสวนสาธารณะ ตลอดจนพื้นที่ริมคลองเป็นห้องเรียนในการดำเนินการเรียนการสอนที่ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็กอย่างชัดเจน
ด้านวิคกี สจ๊วร์ต (Vicki Stewart) ผู้อำนวยการ Brightwood Training ใกล้เมืองสวินดอน กล่าวว่า โรงเรียนต่างๆ หันมาใช้ห้องเรียนธรรมชาติเพื่อสอนทักษะทางสังคม อารมณ์ และร่างกายแก่เด็กๆ ที่อยู่ในภาวะซึมเซาระหว่างการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกัน แต่เดิมโรงเรียนธรรมชาติยังถูกใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เพียงแต่กระแสความต้องการมีเพิ่มอย่างรวดเร็วมากขึ้นเพราะการระบาดของโควิด-19
“ที่ผ่านมา เด็กต้องหมกตัวอยู่ภายในบ้าน อาศัยเพียงเทคโนโลยีในการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แทนที่จะได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายเท่าที่ควรจะเป็น และพึ่งพาเทคโนโลยีมากจนเกินไป” สจ๊วร์ตกล่าว
สำหรับสจ๊วร์ต สิ่งที่สอนคือการเล่นแบบเก่าๆ อย่าง การเล่นซ่อนหา กระโดดเชือก หรือชักเย่อ ที่คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเล่นกันมา โดยเด็กๆ ในปัจจุบันแทบจะไม่รู้วิธีการเล่นแบบนี้แล้ว เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่มุ่งเน้นความรู้ทางด้านวิชาการเป็นหลักและมองว่าการละเล่นดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระ
ขณะที่ แอนนา เบลล์ (Anna Bell) ครูใหญ่โรงเรียนธรรมชาติในเมืองเคนท์กล่าวว่าในขณะที่โรงเรียนธรรมชาติพาเด็กออกจากเทคโนโลยี แต่จินตนาการของเด็กๆ ก็ยังพัวพันอยู่กับเทคโนโลยีอยู่ดี โดยยกตัวอย่างตอนที่เธอพาเด็กไปออกค่ายตั้งแคมป์แล้วให้เด็กลองประดิษฐ์งานไม้ ผลงานส่วนใหญ่ที่เด็กๆ ประดิษฐ์ก็คือ นำไม้มาสร้างทีวีจอแบน หรือกล่องเกม Xbox ตลอดจนอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ ตามที่พวกเขาคุ้นเคย
ส่วนลูอิส อาเมส (Lewis Ames) ผู้อำนวยการร่วมของ Children of the Forest โรงเรียนธรรมชาติในเมืองเดวอน กล่าวว่า มีนักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด โดยขณะนี้มีนักเรียนลงชื่อเข้าคิวรอเรียนอยู่ประมาณ 150 ครอบครัว ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กระดับอนุบาล และมีเด็กประถมจากหลักสูตรโฮมสกูลอีก 50-60 คนที่รอคิวเรียนอยู่
“การปิดโรงเรียนชั่วคราวนั้นทำให้หลายครอบครัวมีเวลาคิดทบทวนว่า วิธีเรียนนี้ใช้ได้ผลจริงหรือ อะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในปัจจุบัน การเอาตัวรอดและหาทางออกให้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปได้ ซึ่งหลายครอบครัวที่เริ่มต้นเรียนกับเราต่างได้คำตอบตรงกันว่า หลักสูตรที่เรียนอยู่ในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ครอบครัวเหล่านี้” อาเมสกล่าว
ที่มา : Forest schools flourish as youngsters log off and learn from nature