เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ขับเคลื่อนหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ควรทำอย่างตรงจุดและสร้างแนวร่วม

การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ทั่วโลก  ผมคิดว่า “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ควรมีรูปแบบดังนี้

-ลงไปโดยตรงถึงผู้ขาดโอกาสอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างในกรณีที่ กสศ.​ ทำ โดยการแยกกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ ก็น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม

-ลำดับความสำคัญให้เหมาะสม มีงานวิจัยบอกว่าการลงทุนในเด็กเล็ก 0-3 ขวบ ให้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งกลุ่มนี้พ่อแม่ยังต้องทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานรายวัน ไม่สามารถดูแลลูกได้ ดังนั้นการช่วยเรื่องภาระลูกจะเป็นการช่วยสองต่อ คือ ช่วยเศรษฐกิจของพ่อแม่ด้วย

-ต้องหาแนวร่วมเอกชนมาช่วย งบประมาณภาครัฐมีจำกัด ทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร อยู่ในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ต้องอาศัยทุนทางสังคม (Social Capital) ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

-ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นตัวเร่งในการแก้ปัญหา โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการเร่งแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์ แต่อย่าไปยึดติดกับเทคโนโลยีมาก

-ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยให้เห็นชัดเจนว่างบประมาณใช้ทำอะไรบ้าง ลงทุนตรงไปที่เด็กเท่าไร ค่าบริหารจัดการเท่าไร ค่าประชาสัมพันธ์ ทำวิจัย ทั้งหมดเป็นเท่าไร

ศึกษาตัวอย่างที่น่าสนใจจากกลุ่มเอกชน

-Teach for Thailand เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการหาคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแนวร่วมในการเข้าใจปัญหาการศึกษา แต่มีข้อจำกัด คือ คนที่มาร่วมต้องมีความมุ่งมั่น และใช้เวลาหลายปี

-Saturday School เป็นตัวอย่างที่ดีในการหาแนวร่วมคนรุ่นใหม่ ใช้เวลาไม่มาก ช่วงเสาร์อาทิตย์ ถ้าสามารถขยายให้เกิดกับทุกโรงเรียน โดยอาจจะเน้นการช่วยเหลือโรงเรียนในละแวกชุมชนใกล้บ้าน 

-มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มี ICT Talents ประจำโรงเรียน ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

-มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ที่เป็นมูลนิธิเอกชน มีการระดมทุนจากประชาชนในการช่วยเหลือเด็กยากจนในการศึกษา

-การดึงเอกชนมาเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหา นอกจากจะได้ทรัพยากรที่มากขึ้นแล้ว จะได้แนวร่วมที่เข้าใจถึงปัญหาการศึกษาของชาติ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาในระยะยาวน่าจะผลักดันได้ดีขึ้น (ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ)

ฐานข้อมูลเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

-การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สำคัญที่สุดคือข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งในฝั่ง Demand (นักเรียนและครอบครัว) และฝั่ง Supply (ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน อาจารย์) การเร่งทำฐานข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และทำให้เราวัดผลของความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้ โดยอาจใช้ฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่น เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรประกันสุขภาพ เพื่อให้เห็นข้อมูลในหลายมิติ

 

-ฐานข้อมูลด้านโรงเรียนและครูเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสองขา ในสามขาของความเหลื่อมล้ำ แนวทางการพัฒนาข้อมูลอาจจะใช้ระบบ ICT Talents ช่วยพัฒนาฐานข้อมูลและช่วยโรงเรียนในการทำ digital transformation เหมือนอย่างที่มูลนิธิสานการศึกษาทำ โดยมี ICT Talents รับผิดชอบประมาณ 5 โรงเรียน ช่วยอาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียนในการนำ digital technology มาปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน และทำ open data ของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและพัฒนาการ

-นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการในระยะยาว คือ การทำให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่ยากลำบาก อาจจะมองผลประโยชน์ในระยะสั้นเพื่อการอยู่รอด มากกว่าผลประโยชน์ในระยะยาวที่ได้จากการศึกษาของลูก การจัดลำดับความสำคัญเรื่องการศึกษา จึงอาจจะอยู่ทีหลัง ดังนั้น การ Nudge หรือพยายามโน้มน้าวให้ครอบครัวเห็นผลประโยชน์ของการศึกษาในระยะยาว น่าจะเป็นทางหนึ่งในการปรับพฤติกรรม เพื่อให้แต่ละครอบครัวลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายได้ (คล้ายๆ กับที่ กสศ. ใช้คำว่า 5 บาทแรก แทนที่จะเป็น 50 สตางค์สุดท้าย ของการใช้งบประมาณของการศึกษาเพื่อใช้ช่วยเด็กที่ยากจน)

เริ่มลดความเหลื่อมล้ำ เริ่มต้นได้ด้วยการลงทุนในเด็กเล็ก

-ในส่วนตัวผมคิดว่าช่องว่างสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ที่เด็กช่วง 0-3 ปี และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการลงทุนในเด็กเล็กช่วงนี้ ให้ผลตอบแทนในการลงทุนได้สูงสุด นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเศรษฐกิจของพ่อแม่ ที่ทำให้สามารถออกไปทำงาน เพื่อหารายได้มาให้ครอบครัวได้

-ที่ผ่านมา ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำตามระเบียบของราชการได้ ทำให้ไม่สามารถได้ใบอนุญาต และไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งการกำหนดค่าตอบแทนของผู้ช่วย มีลักษณะไม่จูงใจ

-ถ้าเรามีทรัพยากรที่จำกัด เราอาจจะต้องเน้นไปที่กลุ่มที่มีความจำเป็นก่อน และศูนย์เด็กเล็กต้องมีลักษณะที่อยู่ใกล้บ้าน ดำเนินการโดยภาคเอกชน ถ้าสามปีแรกมีการเตรียมตัวที่ดี ก็จะช่วยให้การพัฒนาต่อไปทำได้ดีขึ้น

-นอกจากนี้โครงการที่ทาง กสศ.​ ทำอยู่แล้ว คือ “ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” ก็น่าสนใจและน่าจะขยายผลต่อได้ เพราะถ้าเราสามารถให้อาชีพกับเขาได้ เขาก็จะสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คำแนะนำเพื่อช่วยขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

-เรื่องที่น่าจะสำคัญมาก และคิดว่าทาง กสศ.​ ก็กำลังดำเนินการอยู่ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าโครงการใด การดำเนินการอย่างไร ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าทาง กสศ. มีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ในระยะยาวจะมีฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม และน่าจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แต่ต่อการพัฒนาการศึกษาในระดับสากลด้วย