เปิดบทเรียนการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน
โดย : กรกมล ศรีวัฒน์
ภาพ : ภาพิมล หล่อตระกูล

เปิดบทเรียนการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน

ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจ เพราะการศึกษาที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มเป็นการลงทุนที่จะช่วยผลักดันการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ปัจจุบันความเสมอภาคทางการศึกษาถูกกำหนดในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีปัจจัยที่ควรคำนึงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายการเข้าถึงทางการศึกษา การนับรวมคนทุกกลุ่มและความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ  การศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการเรียนรู้แบบยั่งยืน เด็กในพื้นที่ขัดแย้งและสถานการณ์อันยากลำบาก และเป้าหมายสากล ซึ่งเกี่ยวผันกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาพื้นฐาน (global aspirations: Increased public spending for (basic) education)

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เส้นทางสู่เป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาในแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับเป็นสถานการณ์พิเศษที่ทุกประเทศต่างก็ประสบกับความท้าทาย ก่อให้เกิดความเปราะบางทางการศึกษาอย่างรุนแรง การเรียนรู้ในห้องเรียนไม่สามารถทำได้อย่างเคย จำต้องปรับรูปแบบการศึกษาอย่างทันทีทันใด แต่รัฐบาลในบางประเทศกลับมีข้อจำกัด ไม่สามารถเตรียมความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการศึกษานอกห้องเรียน หลายครอบครัวไม่พร้อมสนับสนุนการเรียนรู้ในบ้าน จนทำให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ถดถอย ทั้งยังซ้ำเติมคนบางกลุ่มด้วยปัญหาทางการเงินที่จำต้องให้บุตรหลานหลุดออกจากการศึกษาในระบบ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวในช่วงยากเข็ญ

‘การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครู และความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้‘ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้เล็งเห็นความสำคัญของความเสมอภาคทางการศึกษา จึงเปิดให้มีการนำเสนอสถานการณ์ภาพรวมของความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน และการแบ่งปันประสบการณ์การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านตัวแทนของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากกัมพูชา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และลาว เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง

ภาพรวมความเสมอภาคทางการศึกษาในอาเซียน

ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ (Professor Juan Miguel Luz) นักวิเคราะห์นโยบายและอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มต้นบรรยายในหัวข้อ ‘ความเสมอภาคทางการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความสำคัญของครู’ เขาย้ำชัดถึงนิยามของคำว่า ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’ อันหมายถึงการเน้นยกระดับให้คนด้อยโอกาสได้ขึ้นไปยืนในระดับที่ใกล้เคียงกับคนที่มีโอกาสที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างกับคำว่า ‘ความเท่าเทียมทางการศึกษา’ ที่เป็นในลักษณะถ้วนหน้า

สำหรับสถานการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างทางด้านรายได้ กล่าวคือมีประเทศรายได้สูง ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงหรือรายได้ปานกลางระดับปานกลาง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ได้แก่ ลาวและกัมพูชา รวมถึงประเทศรายได้ต่ำ ได้แก่ พม่าและติมอร์ เลสเต รายได้ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศนี้เองเป็นบริบทที่ส่งผลกระทบต่อความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยิ่งยวด

จากข้อมูลพบว่า รายได้ของประเทศส่งผลโดยตรงกับความสำเร็จด้านการศึกษา โดยประเทศที่มีรายได้สูงจะบรรลุตัวชี้วัดที่อ้างอิงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอัตราสุทธิในการเข้าเรียนระดับประถมศึกษา (net primary enrolment rate), อัตราการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (lower secondary completion rate) และอัตราการอ่านออกเขียนได้ (literacy rate) ในขณะที่ประเทศอื่นยังมีความท้าทายอยู่ในการบรรลุเป้าหมายในบางตัวชี้วัด เช่นเดียวกับดัชนีการพัฒนามนุษย์ ประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจสูงจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากกว่า

นอกจากนี้ยังมีดัชนีอีกหลายประการที่บ่งบอกถึงสถานการณ์สถานการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ อัตราการสมัครเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาสูงและอัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา ที่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย SDGs หลายประเทศมีอัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาเกิน 100% สะท้อนว่าสามารถนำเด็กที่อายุเกินเกณฑ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

อย่างไรก็ดีเริ่มมีความแตกต่างในอัตราการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา (progression to secondary school) ประเทศที่มีรายได้สูงจะมีการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่สูง ขณะที่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำและประเทศที่มีรายได้ต่ำตัวเลขเริ่มตกลง เช่นเดียวกับอัตราการประสบความสำเร็จในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ตกลงตามรายได้ โดยพบว่ามีนักเรียนที่เรียนไม่จบและออกจากการศึกษาไปกลางคันด้วยปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวในนักเรียนชาย เรียนไม่ไหว หรือวัฒนธรรมที่ต้องออกไปแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนวัยรุ่นในโรงเรียน และอัตราการอ่านออกเขียนได้ลดลง

ไม่เพียงแค่ดัชนีที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวถึงตัวชี้วัดในการพัฒนาในครู พบว่าไม่แตกต่างกันมากในประเทศที่มีระดับรายได้ต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาดัชนีด้านสิ่งอำนวยความสะดวก กลับพบว่ามีอัตราส่วนลดลงตามระดับรายได้ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงไฟฟ้า โภชนาการอาหารที่ถูกต้อง และการล้างมือ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับสุขอนามัย

ครู: บุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา

ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซได้ขยับมาทำความเข้าใจอุปสรรคและความท้าทายในการทำงานเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ชุดข้อมูลจาก 2 แหล่ง ทั้งจากรายงานสถานการณ์การศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศและจากบันทึกการสัมภาษณ์ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งพูดถึงประสบการณ์การเรียนการสอนในประเทศของตน จนสามารถแบ่งอุปสรรคและความท้าทายในการทำงานเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษาได้ดังต่อไปนี้

ประการแรก การเข้าถึงการศึกษาซึ่งเกี่ยวพันกับรายได้ครัวเรือน ครูจากมาเลเซียแบ่งปันประสบการณ์ว่าประชาชนในระดับยากจน 40% ของประเทศเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาได้น้อยกว่าคนที่รวยที่สุด 20% ของประเทศ

ประการที่สอง สถานการณ์ของครู ครูจากบรูไนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษหรือผู้พิการ และครูจากมาเลเซียหลายคนไม่พร้อมที่จะสอนในพื้นที่ห่างไกล

ประการที่สาม สถานการณ์ห้องเรียน ครูจากมาเลเซียกล่าวว่าจำนวนนักเรียนมีเพิ่มขึ้นกลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ทำให้ยากที่จะให้ความสนใจเด็กได้อย่างเท่าเทียม ครูต้องพยายามและเสียพลังงานมากในการตอบสนองนักเรียนที่มีความต่างกัน ส่งผลต่อสุขภาพจิต

ประการที่สี่ สถานการณ์ผู้เรียน ครูจากพม่ากล่าวว่าผู้เรียนมีระดับการเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต่างกัน ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนเด็กที่เรียนช้าหรือเด็กพิเศษได้มากเท่าที่ควร

ประการที่ห้า สถานการณ์ครอบครัว ครูจากมาเลเซียพบว่าวิกฤตในครอบครัวเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถไปเรียนได้สม่ำเสมอหรือไม่สามารถตั้งสมาธิให้จดจ่อกับการเรียนได้

ประการที่หก เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ครูจากเวียดนามสะท้อนว่าครูและเด็กที่มีทุนน้อย ไม่มีทรัพยากรที่จะซื้ออุปกรณ์การเรียน โดยเฉพาะในการเรียนรู้ห่างไกลหรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน

ประการที่เจ็ด ความแตกต่างกันในระดับชั้นสังคมและประชากรศาสตร์ ครูจากเวียดนามสะท้อนว่าระบบชั้นสังคม (social class) ทำให้คุณภาพการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และครูจากมาเลเซียยังกล่าวว่ามีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในชนบทและเมืองในการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

ปัจจุบันครูและกระทรวงศึกษาธิการในแต่ละประเทศมีความพยายามสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ในฟิลิปปินส์ มีการจัดทำห้องเรียนเคลื่อนที่ในชื่อ Byaheng Kaalaman เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือไม่สามารถศึกษาได้ต่อเนื่อง และการสร้างชุมชมเพื่อการเรียนรู้ในระดับมืออาชีพ (profession learning communities :PLC) 

ในพม่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ทางไกล เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการพัฒนาครูในระดับมืออาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับการฝึกอบรมก่อนการจ้างงานและในระหว่างการทำงาน

ในเวียดนาม กระทรวงศึกษาธิการยกระดับทักษะครูผ่านการอบรมเพื่อเตรียมพร้อมการเรียนการสอนผลักดันนักเรียนสู่การแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ

และในไทย มีโครงการพัฒนามืออาชีพในด้านการสอน ซึ่งการร่วมมือภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, คุรุสภา, สำนักเลขาธิการคุรุสภา และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซให้ความเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 สั่นสะเทือนบทบาทของครูที่แต่เดิมอาจจะเน้นไปที่งานสอนภายในโรงเรียนเป็นหลัก กลับต้องเพิ่มเติมบทบาทของครูในการเป็นที่ปรึกษาแนะแนวทาง (guidance counselor) เป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ในการศึกษาทางไกล และเป็นผู้นำในชุมชน รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพกับผู้ปกครองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูหลายคนต้องเผชิญความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต โดยศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซได้หยิบยกถ้อยคำของ ดร.ซาดัท มินอันดัง ครูใหญ่จากประเทศฟิลิปปินส์มาช่วยขยายภาพสถานการณที่เกิดขึ้น

“อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ก็คือการเอาชนะความกลัว และผลกระทบทางจิตวิทยาจากโรคระบาด อุปสรรคอื่นๆ รับมือได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านการเงิน ความต้องการในการขนส่ง วิถีชีวิตแบบใหม่ในการทำให้เด็กได้เรียนรู้ การสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครอง และเพื่อนร่วมงาน การใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่อุปสรรคอันยิ่งใหญ่คือความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้” ดร. ซาดัท มินอันดังกล่าว

ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซทิ้งท้ายว่าประเด็นความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ การทิ้งคนไว้ข้างหลังมีต้นทุนสูง เพราะนอกจากจะทำให้เสียทรัพยากรมนุษย์ที่จะพัฒนาประเทศในอนาคตแล้ว ยังอาจเป็นภาระทางการคลังในการให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าการทำงานเพื่อความเสมอภาคจะใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงในการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะยากจน แต่นี่จะเป็นการลงทุนระยะยาว

แบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา

หลังการนำเสนอสถานการณ์ในภาพรวม ขยับมาสู่การแบ่งปันประสบการณ์การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีตัวแทนประเทศที่เข้าร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์ 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศลาว ตามลำดับ

ประเทศกัมพูชา

นายพูที คานน์ ผู้แทนจากกรมการศึกษา (ประถมศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา ประเทศกัมพูชา ได้ฉายให้เห็นสถานการณ์การศึกษาของประเทศกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา โรงเรียนในกัมพูชามีการเปิดและปิดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬาจึงได้ออกนโยบายในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาในกัมพูชา ด้วยการพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาออนไลน์และเครื่องมือในการศึกษาทางไกล ผ่านการจัดทำวิดีโอสื่อการเรียนรู้มากกว่า 5,000 คลิปวิดีโอครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 รองรับภาษามือและภาษาในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

นอกจากนี้ภาครัฐยังจัดทำช่องโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จัดตั้งศูนย์เพื่อเก็บข้อมูลความรู้ออนไลน์และดิจิทัลคอนเทนต์ และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันของกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์ ทั้งยังส่งมอบแบบเรียนรู้ให้กับเด็กเล็กที่บ้าน เพื่อให้ครอบครัวได้จัดการเรียนการสอน และสนับสนุนให้นักเรียนประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ความท้าทายเรื่องความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการเรียนรู้ออนไลน์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ มีผู้ปกครองชาวกัมพูชาเพียง 45% ที่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักเรียนได้รับผลกระทบเชิงลบ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการฯ ปรับการประเมินวัดผลความรู้ เพื่อนำไปสู่การร่างบทเรียน ซึ่งเป็นไปตามความรู้ของนักเรียน ไม่ใช่ระดับที่เด็กกำลังศึกษาอยู่

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับครูผ่านการให้กำลังใจ การอบรมแนวทางในการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมศักยภาพผ่านการอบรมการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนในมาตรการทางด้านความปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนและครูปลอดภัยจากโควิด-19 การตัดสินใจเปิดโรงเรียนอีกครั้งจะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางด้านสาธารณสุข มีการจัดตั้งคณะดูแลความปลอดภัยและอนามัย และส่งเสริมให้มีการวัดอุณหภูมิ รักษาความสะอาดและสุขอนามัยในพื้นที่โรงเรียน มีการตรวจวัด ATK Test สำหรับนักเรียนและครูก่อนจะเปิดโรงเรียน รวมทั้งรัฐบาลผลักดันให้ครูและนักเรียนได้วัคซีน โดยปัจจุบันครูได้วัคซีนโควิดครบสองเข็มคิดเป็น 98% นักเรียนในวัย 12-18 ได้รับวัคซีนครบสองเข็มคิดเป็น 90%

ประเทศบรูไน

ดร. นาซีราห์ อับดุลลาร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและวางแผน สำนักยุทธศาสตร์ การพัฒนาและการวิจัย กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศบรูไนได้กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศว่ามีการแพร่ระบาดสองระลอก โดยเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2563 กินเวลา 59 วัน ก่อนที่จะปลอดผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดระลอกสองในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 จนกระทั่งวันนี้

สำหรับการศึกษาที่เท่าเทียมกันและเสมอภาคเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศบรูไน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิดจึงถือเป็นแบบทดสอบที่สำคัญ เธอพบว่าในการแพร่ระบาดระลอกแรกครูยังไม่พร้อมที่จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะเดียวกันผู้เรียนเองก็มีข้อจำกัด อันมาจากเงื่อนไขสภาพครอบครัวที่มีบุตรหลายคน ผู้ปกครองทำงานเป็นด่านหน้าหรือจำเป็นต้องออกไปทำงาน นักเรียนมีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้ ปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ทำให้ช่องโหว่ความแตกต่างระหว่างเด็กนักเรียนด้อยโอกาสกับนักเรียนฐานะดีขยายใหญ่ขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการจึงดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมและส่งชุดการเรียนรู้สำหรับที่บ้านให้กับนักเรียนที่ยากไร้, การจัดส่งอาหาร โดยเป็นไปตามแผนการแจกจ่ายอาหารระดับชาติ, การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์กับคนในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล, โปรแกรมโทรทัศน์ด้านการศึกษา รวมถึงบทเรียนออนไลน์ให้กับนักเรียน

นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่ามีการแก้ปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างราชการ รัฐวิสาหกิจและเอ็นจีโอ และมีการบริจาคอุปกรณ์ให้นักเรียนตามลำดับความจำเป็น รวมถึงฝึกอบรมพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อให้ครูมีความพร้อมและยืดหยุ่นในช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

ดร.นาซีราห์ กล่าวว่าการเกิดโควิด-19 เปิดโอกาสในการผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับครูและนักเรียนให้มีความสามารถมากขึ้นในการใช้สื่อออนไลน์ กระตุ้นให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างโครงการสนับสนุนการเรียนรู้ สำหรับโรงเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อบรรเทา ปรับปรุง และส่งเสริมอัตราการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนให้อยู่ในระดับมาตรฐานการอ่านออกเขียนได้ที่ประเทศกำหนดไว้ และช่วยเหลือนักเรียนที่ตามเนื้อหาไม่ทันเนื่องจากโควิด-19 นำไปสู่ความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกคน เป็นการดึงศักยภาพในการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตและอนาคตประเทศ

ประเทศมาเลเซีย

ดร.ฮาจิ อัซฮาร์ ฮาจิ อามัด ผู้อำนวยการกองวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศมาเลเซียกล่าวว่าการศึกษาในมาเลเซียเผชิญความท้าทายจากวิกฤตโรคระบาดเช่นเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาการเรียนรู้ที่มีบ้านเป็นศูนย์กลาง (Home-Based Learning: HBL) มีโครงการปฏิบัติการอัจฉริยะ (ErDik/Smart Initiative) ร่วมกับมูลนิธิฮัสซานาทำการแจกจ่ายแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์และแท็ปเล็ตให้แก่นักเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มหลักในการเรียนรู้ที่เรียกว่า DELIMA (Digital Educational Learning Initiative Malaysia) และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น cikgTUBE, e-Guru นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการสอนแบบออฟไลน์ และนอกสถานที่เป็นทางเลือกในการเรียนรู้ สำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้

ดร.ฮาจิ อัซฮาร์ ฮาจิ อามัดกล่าวถึงการตั้งโรงเรียนชายขอบสำหรับนักเรียนชนพื้นเมือง ที่รู้จักกันในชื่อว่าเซโกละฮ์โอรังอัสลี (Sekolah Orang Asli, SOA) สำหรับพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในรัฐซาบาห์ และซาราวัก ร่วมมือกับผู้นำในชุมชนพื้นเมือง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ต๊กบาติน’ และผู้นำจากชุมชนท้องถิ่นในการสนับสนุนการเรียนรู้ท่ามกลางการแพร่ระบาด

จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 การทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นนี้เองในเซโกละฮ์ โอรังอัสลีพบว่า สัดส่วนค่าเฉลี่ยของการเข้าเรียนของนักเรียนชนพื้นเมืองจากชั้นประถมศึกษาไปยังระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ การออกจากโรงเรียนกลางคันในระดับมัธยมศึกษา เพื่อไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวของนักเรียนชายจากครอบครัวยากจนผ่านโครงการลดการหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์หรือที่เรียกว่า ‘โปรแกรมซิฟาร์มูริดชิชีร์’ ตลอดจนการดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งพบว่าอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2560-2564 มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านการสนับสนุนครู กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีการฝึกอบรมแก่ครูครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายสาขา แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่บ้าน และทักษะดิจิทัลและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้จากที่บ้าน ทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์หรือนอกสถานที่ เพื่อนำไปปฏิบัติและพัฒนาการสอนโดยการปรับให้เข้ากับบริบทที่เกิดขึ้น

ประเทศสิงคโปร์

“ความมุ่งมั่นที่มีต่อนักเรียนของเรา คือโอกาสสำหรับสร้างความมั่นคงในชีวิต ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการทำงาน เพื่อมอบโอกาสที่ดีที่สุดในการพัฒนาศักยภาพแก่พวกเขา” ลี ยัน เคิง ผู้อำนวยการสาขาการพัฒนาวิชาชีพจากสถาบันครูแห่งประเทศสิงคโปร์กล่าวถึงเป้าหมายในการทำงาน พร้อมให้ความเห็นว่าการศึกษาทำหน้าที่สนับสนุนนักเรียนด้วยความเข้าใจในความแตกต่างทางการเรียนรู้ โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง

หากเปรียบเทียบระบบการศึกษาเป็นต้นไม้ รากของการศึกษาในสิงคโปร์คือการทำให้การศึกษาเป็นแรงสนับสนุน (uplifting force) ผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบยั่งยืนทางการศึกษา ได้แก่ การสนับสนุนการศึกษาที่หลากหลาย การปลูกฝังความสนุกในการเรียนรู้ การปรับปรุงหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพในระดับปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาระดับสูง และการสร้างศักยภาพสนับสนุนความต้องการด้านการศึกษาพิเศษ รวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการพัฒนาวิชาชีพครู

เมื่อกล่าวถึงวิธีการไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศสิงคโปร์สามารถแบ่ง ได้ 4 ประเภท ได้แก่ การขยายนิยามของคำว่าประสบความสำเร็จให้กว้างขึ้นกว่ามิติทางวิชาการ การขยายทางเลือกทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ตามความสนใจและความสามารถ การศึกษาปฐมวัยและการดูแลเด็กปฐมวัยที่ครอบคลุมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และระบบคุ้มครองการเลื่อนระดับชั้นทางสังคม และการสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุนสำหรับนักเรียนที่ด้อยโอกาส

ลี ยัน เคิงยกตัวอย่างโครงการนำร่องเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับนักเรียนในด้านการใช้ชีวิตและภารกิจการสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัว (Uplifting Pupils in Life and Inspiring Families Taskforce: UPLIFT) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการสนับสนุนให้กับนักเรียนที่มีภูมิหลังยากลำบาก ดึงศักยภาพสูงสุดของพวกเขาผ่านหลากหลายกิจกรรม

โปรแกรมการรู้หนังสือดิจิทัลแห่งชาติหรือ (National Digital Literacy Programme: NDLP) ภายใต้การปรับปรุงหลักสูตรสำหรับอนาคต โครงการเรียนรู้แบบยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจภายในในการเรียนรู้ด้วยตัวเองในโลกดิจิทัลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจัดสรรอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ส่วนบุคคลสำหรับนักเรียน เตรียมแหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ (Singapore Student Learning: SLS) และความพร้อมในการเท่าทันสื่อของผู้เรียน

แนวทางการพัฒนาอาชีพสำหรับนักการศึกษา (SkillFuture for Educators: SFEd) เพื่อช่วยให้ครูก้าวผ่านการปฏิบัติในห้องเรียนไปยังในระดับที่ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งด้านการปฏิบัติในห้องเรียน 6 ด้านได้แก่ การประเมินการอ่านออกเขียนได้ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบการสอนโดยใช้เทคโนโลยี การสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษและคุณลักษณะและการศึกษาเรื่องหน้าที่ของพลเมือง โดยแต่ละสาขาเหล่านี้มีอยู่ 4 ระดับของการปฏิบัติ ได้แก่ การเริ่มต้น การสร้างความชำนาญ การบรรลุเป้าหมายและความเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของครู รวมทั้งมีระบบที่ช่วยสนับสนุนครูให้ดียิ่งขึ้น

ลี ยัน เคิงกล่าวว่าโควิด-19 เร่งให้เกิดการทำงานส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาเร็วและมีความสำคัญมากขึ้น เช่น การจัดสรรอุปกรณ์การเรียนรู้ส่วนบุคคล เป็นต้น และตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ประเทศสิงคโปร์ได้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว พร้อมทั้งสนับสนุนอาหารและส่วนลดการคมนาคมเพิ่มเติม รวมถึงการเยียวยาชั่วคราวได้ถูกมอบให้กับเด็กด้อยโอกาส

ประเทศลาว

น่วมคำ ชาทาบุรี รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และผู้อำนวยการโครงการด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาภาคการจ้างงานกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์สารสนเทศของโรงเรียนทั้งในเขตเมืองและชนบท การขยายชั้นเรียน การพัฒนาหลักสูตร และเตรียมความพร้อมครูด้วยการมอบตำรา สื่อการเรียนการสอนและคู่มือสำหรับครูทั่วประเทศ รวมถึงการมอบอุปกรณ์การเรียน เงินสนับสนุนแก่ผู้เรียนด้อยโอกาสสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

อย่างไรก็ดี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การดำเนินการหลายอย่างไม่สามารถทำได้และก่อให้เกิดความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนต้องปิด ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาลดลง ไม่สามารถดำเนินตามหลักสูตรได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การเรียนการสอนระยะไกลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วงโควิดไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ หลักสูตรปัจจุบันยังไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบดิจิทัลและแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและดิจิทัลของ สปป.ลาว ยังไม่เสร็จสิ้นส่งผลต่อการลงทุนและจัดหาอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับผู้เรียนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน  

รวมถึงผู้สอนและผู้เรียนมีความสามารถในด้านดิจิทัลอย่างจำกัด เกิดช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้นระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท จากข้อมูลพบว่าอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนระดับประถมศึกษาระหว่างปี 2563-2564 เพิ่มมากยิ่งขึ้น มีตัวเลขเป็น 4.1% และมัธยมศึกษาตอนต้น 10.3% ตามลำดับ โดยนักเรียนที่ออกจากการศึกษาอยู่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่ต้องออกไปหาเลี้ยงครอบครัว

กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับปฏิทินการเรียน ปรับหลักสูตร และเปิดโอกาสการเรียนรู้ด้วยวิธีการอันหลากหลายให้ผู้เรียนที่อาศัยในเขตห่างไกล เช่น สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านวิทยุ รายการโทรทัศน์ การเรียนผ่านดาวเทียม การเรียนออนไลน์ และเมื่อกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งได้มีการจัดสอนเสริมสำหรับผู้ที่เรียนไม่ทัน เพื่อลดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

รวมทั้งสถาบันงานวิจัยการศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาหลักสูตรได้พัฒนา 5 ตัวเลือกในการเรียนการสอน เพื่อเป็นการประกันว่านักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษา ได้แก่ การเรียนที่โรงเรียนอย่างเว้นระยะห่าง สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด การเรียนที่บ้านโดยผู้ปกครองเป็นผู้สอน การเรียนจากวิทยุและโทรทัศน์ การเรียนออนไลน์ผ่านช่องทางออนไลน์หรือจากแอปพลิเคชัน และการเรียนแบบผสมผสาน

ในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการพยายามสนับสนุนให้การดำเนินการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ผ่านการร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อให้การเรียนรู้ขยายไปยังพื้นที่ห่างไกลและผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นผ่านการใช้แพลตฟอร์ม ICT จัดอบรมเรื่องการใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนและการสร้างสมรรถนะให้ผู้สอน มีการออกแบบหลักสูตรเพื่อการเรียนการสอนแบบดิจิทัล จัดหาสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนแบบดิจิทัลให้สถานศึกษา อบรมให้ผู้บริหารและครูมีทักษะความสามารถในการใช้ดิจิทัลเพื่อการสอน

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world