ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันนำการทดสอบ PISA for Schools ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เข้ามาในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยแบบองค์รวม
ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จกับการจัดงานเสวนา การประเมิน PISA for Schools ยกระดับการศึกษาไทย และทำให้โรงเรียนต้นแบบมีความรู้เพิ่มเติมในการใช้ประโยชน์จากบททดสอบ PISA For Schools พร้อมทั้งยืนยันผลลัพธ์เชิงบวกต่อวงการการศึกษาไทย ภาคีเครือข่ายจึงขอเชิญชวนให้โรงเรียนทั่วประเทศได้เข้าร่วมกับโครงการอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ให้ครอบครัวอย่างทั่วถึง
การทดสอบ PISA for Schools คืออะไร?
- OECD พัฒนา การประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา (PISA for Schools) ขึ้นเพื่อให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั่วโลก และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนาโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอน
- แบบทดสอบที่ใช้ในโครงการ PISA for Schools เรียกว่า PISA-based Test for Schools (PBTS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย OECD ออกแบบมาเพื่อวัดสมรรถนะผู้เรียนใน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยไม่เน้นการวัดความรู้ตามกลุ่มสาระ แต่เน้นวัดความสามารถของผู้เรียนในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ โดย OECD ได้ออกแบบการทดสอบ PBTS ให้สามารถเทียบเคียงข้อมูลกับการสอบ PISA ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปีได้
- การทดสอบ PISA for Schools ต่างจากการทดสอบ PISA (หรือเรียกว่า PISA main study) ซึ่งจัดขึ้นทั่วโลกทุก 3 ปี ที่วัตถุประสงค์ โดยการทดสอบ PISA จะเน้นไปที่การจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในระดับโลก เน้นให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ในการพัฒนานโยบายการศึกษาระดับชาติ ส่วน PISA for Schools จะเน้นการรายงานผลระดับโรงเรียน ผ่านรายงานระดับสถานศึกษา (School Report) [ใส่ Link] ออกแบบมาเพื่อให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้โดยตรง
- นอกจากข้อมูลสมรรถนะผู้เรียนแล้ว PISA for Schools ยังพ่วงท้ายด้วยแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐฐานะ (Socio-economic background) มุมมองของผู้เรียนที่มีต่อตนเอง และการจัดการเรียนการสอน และทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Skills)
- ในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ PISA for Schools เป็นปีแรก มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 66 โรงเรียน นักเรียนเข้าร่วมการทดสอบ 2,314 คน
PISA จะมีประโยชน์กับวงการศึกษาในเมืองไทยอย่างไร?
ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สพฐ. ชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนสามารถใช้ผลการทดสอบ PISA For Schools เพื่อใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา และเรียนรู้การอ่านรายงาน ประยุกต์ใช้กับการประเมินมาตรฐานทางการศึกษาอื่นๆ ที่แต่ละโรงเรียนสามารถเข้าร่วมเพื่อพัฒนาหลักสูตรของตนในอนาคต
ทั้งยังได้แนะนำให้โรงเรียนในประเทศไทยประยุกต์ใช้เครื่องมือจาก OECD เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาค มีข้อมูลเพียงพอที่จะแสดงความเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาด้านนโยบาย เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ได้เสริมในส่วนนี้ว่า สถานศึกษาสามารถนำเอาผลการสอบไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ และออกแบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวม
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของ OECD อย่าง ดร.โจแอนน์ แคดดี้ (Dr. Joanne Caddy) นักวิเคราะห์อาวุโสและหัวหน้าทีม PISA for Schools ประจำ OECD ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ PISA For Schools โดยชี้ให้เห็นว่า บุคคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่เข้าร่วมถือผู้บุกเบิกในการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาคุณภาพ และกล่าวต่อไปว่า ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมไม่ได้ยกระดับการศึกษาของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คุณภาพการศึกษาประเทศไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดร.ทีอาโก เฟรโกโซ (Dr. TiagoFragoso) นักวิเคราะห์ด้านการศึกษาของ OECD ได้กล่าวถึงความสำคัญทางสถิติของการเข้าร่วมโครงการ PISA For Schools เนื่องจากเป็นการทดสอบที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของโรงเรียน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมจาก 15 ประเทศ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมได้เห็นภาพใหญ่ของวงการการศึกษาในระดับโลก และเข้าใจถึงทิศทางในการพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ
นอกจากเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและมาตรฐานการเรียนการสอนแล้ว เซี่ย จื้อ เซิน (Tse Chi Sum) นักวิเคราะห์อีกคนของ OECD ได้อธิบายว่า ทาง OECD ได้จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ “PISA for Schools Community” ที่จะมีคณะครูและนักการศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ได้พบเจอในแต่ละวัน ทำให้คุณครูไทยสามารถรับคำแนะนำ หรือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากับเพื่อนครูจากทั่วโลก พร้อมยังสามารถปรับแนวทางจากนานาชาติเข้ามาเป็นแนวทางการสอน หรือการเรียนรู้ของตัวเองได้อีกด้วย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทิ้งท้ายว่า การเข้าร่วมกับโครงการ PISA For Schools จะทำให้วงการศึกษาไทยสามารถยกระดับตัวเองได้รวดเร็ว และยังเป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่น ปัญหาการเรียนรู้ของกลุ่มเปราะบาง หรือความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับคณะครูหรือโรงเรียนที่สนใจอยากติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สามารถติดต่อได้ที่ คุณภูมิ เพ็ญตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการ PISA for Schools ประเทศไทย
(phoom@eef.or.th)