เปิดเทอมอีกครั้ง จะประเมินนักเรียนอย่างไรเพื่อการช่วยเหลือที่ตรงจุด
โดย ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

เปิดเทอมอีกครั้ง จะประเมินนักเรียนอย่างไรเพื่อการช่วยเหลือที่ตรงจุด

โจทย์สำคัญของการประเมินนักเรียนในช่วงที่หยุดยาวอยู่บ้านเป็นเวลานาน และต้องเรียนออนไลน์ ไม่ใช่เพื่อวัดว่าเขารู้อะไรบ้างเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจถึงขั้นตอนที่เหมาะสม และวิธีประเมินที่จะช่วยให้ครูพบปัญหาที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่จริงๆ ดังนั้นการวัดและประเมินผลที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จึงเป็นทั้งกระบวนการและเครื่องมือไปพร้อมกัน การได้มาซึ่งข้อมูลว่านักเรียนมีปัญหาอะไร น่ากังวลหรือไม่ จะทำให้ครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชั้นเรียนตัวเองมากขึ้น

ขั้นเตรียมพร้อม

เมื่อกลับมาโรงเรียน ทั้งครูทั้งนักเรียนที่อาจพบเจอกันผ่านหน้าจอมาบ้าง จำเป็นต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาก่อน ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ช่วยให้ครูได้ทำความรู้จักนักเรียน เช่น การใช้คาบโฮมรูมที่ถามไถ่ถึงเพลงที่ชอบ กิจกรรมที่สนใจ การ์ตูน หรือเกมที่นักเรียนกำลังเล่นอยู่ เรียกชื่อเล่นนักเรียนให้รู้ว่าเราจำเขาได้เสมอ หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมในห้องเรียนด้วยกัน เพื่อให้ครูได้ค่อยๆ สร้างให้บรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียนกลับมาทีละนิด อย่าเพิ่งตะบี้ตะบันทำแบบทดสอบต่างๆ กับนักเรียน

การวัดประเมินนักเรียนในชั้นเรียนแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคร่าวๆ

1. Diagnostic classroom assessment หรือการวัดประเมินก่อนเริ่มเรียนเพื่อวิเคราะห์ว่านักเรียนมีความรู้หรือทักษะอยู่ในระดับใด

2. Formative classroom assessment หรือการวัดประเมินในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ หรือการทดสอบย่อย หรือการบ้าน ซึ่งครูจะสามารถช่วยให้ฟีดแบ็กแก่นักเรียนได้โดยตรงและทันท่วงที การประเมินแบบนี้เป็นไปเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

3. Summative classroom assessment หรือการวัดประเมินเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมของผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนตลอดบทเรียน ภาคการศึกษา หรือหลักสูตร 

ในการประเมินเพื่อวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้ที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ ครูสามารถตั้งเป้าหมายที่การใช้เครื่องมือการประเมินในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยพยายามเลือกใช้แบบฝึกหัดหรือการประเมินจากแผนการสอนที่มีอยู่แล้ว

ขั้นออกแบบการวัดประเมิน

การประเมินเพื่อวิเคราะห์ว่านักเรียนกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้างต้องเริ่มจากการที่ครูระบุก่อนว่าประเด็นใดคือประเด็นเร่งด่วนสำหรับห้องเรียนตัวเอง เป้าหมายคือการวัดประเมินเพื่อเก็บข้อมูล หรือหลักฐานว่านักเรียนของเรามีสภาวะการเรียนรู้อย่างไรบ้าง โดยจัดลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้

1. นักเรียนมีสภาพจิตใจอย่างไร พร้อมหรือไม่พร้อมต่อการเรียนรู้
2. ทักษะพื้นฐานต่างๆ ของนักเรียน เช่น การอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การคำนวณ เป็นอย่างไรบ้าง
3. ความรู้พื้นฐานที่ควรรู้ตกหล่นไปมากน้อยเพียงใด 

โดยเรื่องที่ต้องเก็บข้อมูลอย่างจริงจังเป็นลำดับแรกคือสภาพจิตใจของนักเรียน ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้เรียนได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ 

ระบุให้ได้ว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของแต่ละคาบเป็นอย่างไร และเราจะใช้กิจกรรมอะไรเพื่อวัดประเมินนักเรียนในด้านที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนได้บ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณสามารถออกแบบให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในห้องเรียนได้ โดยไม่ต้องทำออกเป็นข้อสอบแยก หรือสร้างบรรยากาศการสอบอันเป็นการไปเพิ่มภาระความเครียดให้นักเรียนเปล่าๆ หลีกเลี่ยงการจัดลำดับคะแนน หรือการบอกคะแนนให้ทั้งห้องทราบเพื่อป้องกันการเปรียบเทียบและความเครียดที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย ส่วนการประเมินเพื่อวัดมาตรฐาน ขอให้คุณครูเป็นผู้ไปเปรียบเทียบโดยการวิเคราะห์กับข้อมูลชุดเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น 

หากเลือกแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ชุดที่เคยทำมาแล้ว หรือเป็นเรื่องที่เคยเรียนมาแล้ว เมื่อนำกลับมาให้นักเรียนทำอีกครั้ง ได้ผลเหมือนหรือต่างอย่างไรบ้าง ควรทำทั้งการวิเคราะห์ผลรายคนและรายชั้นเรียน

อย่าลืมว่าทุกๆ การทำแบบฝึกหัด ทำกิจกรรมต่างๆ ควรสื่อสารกับนักเรียนถึงเป้าหมายอันเป็นไปเพื่อการพัฒนานักเรียน จะทำได้มากได้น้อยยังไม่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องปกติสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียนนานๆ จะมีทักษะที่ทำได้ดีและยังไม่ค่อยดีบ้าง คุณครูจะคอยช่วยฝึกฝนเพิ่มเติม โดยสื่อสารทั้งห้องเรียนและรายบุคคลเมื่อมีการพูดคุยส่วนตัว

“เราจะค่อยๆ ฟื้นฟูทักษะต่างๆ ไปด้วยกัน”

ขั้นการให้ฟีดแบ็กกับนักเรียน

การสื่อสารกับนักเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง การให้ฟีดแบ็กควรมีการถามความรู้สึกนักเรียนด้วยคำถามปลายเปิด เช่น ทำแบบฝึกหัดแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง และพยายามเริ่มต้นจากสิ่งที่นักเรียนทำได้ดีกว่าเสมอ หากเป็นนักเรียนที่โตแล้ว ลองชวนเขาวิเคราะห์ไปด้วยกันถึงส่วนที่เขายังทำไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร

เมื่อพูดคุยเรื่องประเด็นปัญหาแล้ว การตั้งเป้าหมายเพื่อการฝึกฝนร่วมกันจึงสำคัญมาก พยายามตั้งเป้าหมายร่วมกับนักเรียนที่มีตัวเลขชี้วัดชัดเจน เช่น จะลองทำแบบฝึกหัดอีกกี่ข้อดี ทำเสร็จภายในเวลานานเท่าไหร่ 

แน่นอนว่าคุณครูอาจรู้สึกว่าขั้นตอนนี้ใช้เวลาและอาจมีเวลาไม่พอ ซึ่งเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย ขอให้คุณครูลองออกแบบตารางสอนในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกเพื่อขั้นตอนเหล่านี้ และเมื่อนักเรียนได้ฟื้นฟูทั้งความรู้สึกและทักษะของเขาแล้ว เขาจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพขึ้นแน่นอน