จุดเด่นของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ ต้นแบบการพัฒนาการผลิตครูใน “ระบบปิด” ที่แต่ละคนจะมีความชัดเจนว่าเมื่อจบการศึกษาไปแล้วจะไปบรรจุเป็นครูในโรงเรียนไหน โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิด ด้วยเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หนึ่งในสถาบันผลิตครู ที่ทำงานในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ถือเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา
อาจารย์นิ้ว-พุมพนิต คงแสง อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เล่าให้ฟังว่า นักศึกษาแต่ละคนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้รับโจทย์ให้กลับไปเรียนรู้ในชุมชนของตัวเอง ศึกษาประเด็นปัญหา นำมาขยายผล วางแผนสร้างนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนต่อไป
กลุ่มไลน์สร้างปฏิสัมพันธ์เครือข่ายพื้นที่ตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง
นักศึกษาแต่ละคนจะได้รู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กับโรงเรียนปลายทางที่ตัวเองจะไปบรรจุ โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดตำบล อสม. สาธารณสุข ตลอดจนครูพี่เลี้ยงที่โรงเรียนปลายทาง ช่วยสนับสนุนการทำงาน มีกลุ่มไลน์รวมบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สร้างเป็นทีมที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ก่อนลงพื้นที่ไปทำงานจริง
แต่เนื่องจากช่วงนี้ติดปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งการระบาดรุนแรงจนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้มากนัก ทำได้แค่การมีปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มไลน์ คอยเช็กสถานการณ์ในพื้นที่ ต่างจากการระบาดช่วงแรกที่นักศึกษาได้ไปช่วยทำสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาด
การเรียนของนักศึกษาช่วงนี้จะเป็นการเรียนออนไลน์ แต่จะมีนักศึกษาบางคนที่มีปัญหาเรื่องไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทางอาจารย์ได้ประสานให้มาอยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะสามารถเรียนออนไลน์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
“เรามีเครือข่ายที่ดี โดยหลังจากได้ทำ MOU กับ กสศ. สิ่งที่ มรภ.ยะลาทำก็คือการประชุมร่วมกับ 4 เครือข่าย มรภ.ยะลา ผู้นำชุมชน โรงเรียนปลายทาง ศึกษาจังหวัด ร่วมกันทำงานค้นหาเด็กในพื้นที่ เพื่อให้ได้ตัวจริงที่จะมาเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากนั้นก็เริ่มทำงานกันอย่างเข้มแข็ง จนปัจจุบันมีนักศึกษาในโครงการสองรุ่น และยังทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง”
เตรียมแผนลงพื้นที่ เฟ้นหาเด็กตัวจริงเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 3
ล่าสุดกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 3 อ.พุมพนิตเล่าให้ฟังว่า ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น มีผู้สอบถามรายละเอียดในหลายช่องทาง จากสถานการณ์โควิดที่รุนแรง ทำให้ต้องใช้วิธีลงพื้นที่จริงควบคู่กับออนไลน์
“ปีนี้ในพื้นที่ค่อนข้างหนัก เป็นพื้นที่สีแดงทั้งโควิดและเหตุการณ์ความไม่สงบ จากเดิมทุกปีที่ผ่านมาลงพื้นที่ต้องไปกับรถถัง รถหุ้มเกราะกันกระสุน มีทีมปลัดตำบล คนในชุมชนพาเราเข้าไป ปีนี้เราจะมี อสม.เพิ่มเข้ามาด้วย ใส่ชุดป้องกันลงพื้นที่ วางแผนไว้ว่าจะมีสองทีม ทีมหลักกับทีมสำรองในกรณีที่ทีมหลักติดเชื้อ ต้องกักตัว หรือให้มีเจ้าหน้าที่ที่รู้งานคอยประสานงาน เวลาที่พวกเราต้องกักตัวอยู่โรงพยาบาลสนาม งานจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่ต้องหยุดชะงัก
“ถามว่ากลัวไหม ก็ต้องบอกว่าทุกคนก็กลัว เราก็กลัว แต่จะทำอย่างไรได้ เราอยากได้เด็กตัวจริงที่มีความพร้อม ความเหมาะสม มาเข้าโครงการ ตอนนี้ก็พยายามหาวัคซีนเข็มที่สาม ถามว่าทำไมไม่ลงออนไลน์ 100% คำตอบคือเรากลัวไม่ได้ตัวจริง เพราะขนาดลงพื้นที่จริง ยังเคยพบว่ารูปที่ส่งมากับรูปบ้านจริงไม่เหมือนกันเลย ลงพื้นที่เราก็ทำงานกับเครือข่ายชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดตำบล ช่วยได้เยอะมาก
“นิ้วมองว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ มีคำพูดในศาสนาอิสลามที่ได้ยินบ่อยคือ พระเจ้าเบื้องบนกำหนดมาแล้วว่าใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เวลาลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก ก็จะใช้คำพูดนี้สื่อสารกับผู้ปกครองในพื้นที่ ในมุมของศาสนาพุทธ การเข้าไปค้นหาเด็กก็เหมือนกับการทำบุญใหญ่”
ความร่วมมือในพื้นที่ กุญแจความสำเร็จสู่การร่วมพัฒนาชุมชน
อาจารย์นิ้วยกตัวอย่างถึงหนังสือเรื่อง “ร้อยประเมินหรือจะสู้…ครูคนหนึ่ง” ในเรื่องจะมีเด็กหญิงชีล่าที่ถูกทำร้ายจิตใจ แต่ดีขึ้นได้เพราะครูคนหนึ่งใส่ใจ
“ทีมงานที่มาหน้าที่ตรงนี้ เชื่อตรงกันว่าเด็กจะดีขึ้นได้ด้วยครูคนหนึ่ง อาจารย์จันจลี ถนอมลิขิตวงศ์ หัวหน้าโครงการบอกเสมอเวลาลงพื้นที่ว่า วันนี้เราจะปลอดภัยเพราะเรากำลังทำในสิ่งที่ดี
“ที่สำคัญคือ เราได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี ทุกคนน่ารักมาก เช่น ลงไปแล้วคนในพื้นที่ก็บอกว่าบ้านนี้ไม่ได้จนนะอาจารย์ เพื่อนบ้านบางคนก็มาบอกว่าบ้านนี้เขามีรถขับ แต่แอบเอาไปจอดอยู่ที่ทุ่งนาแล้วก็พาเราไปดู เขาคงเห็นถึงความตั้งใจของเรา จึงช่วยให้ข้อมูลสนับสนุนอย่างดี ทุกคนในชุมชนชื่นชมโครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ดี ทั้งพัฒนาตัวเด็ก พัฒนาชุมชน ซึ่งเราก็เชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำนี้ จะมีส่วนทำให้เด็กมีอนาคตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”