เครือข่ายการศึกษา ร่วมกับ กสศ. สำรวจสถานการณ์ปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบในพื้นที่ พบยากจนฉับพลัน – ย้ายถิ่นจากการตกงาน – เรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิผล ต้นเหตุเด็กไทยเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ศ. ดร.สมพงษ์ห่วง 3 เดือนอันตรายเด็กหลุดนอกระบบ อาจเข้าสู่วงจรสีเทา ชี้ต้องเร่งหยุดวิกฤตด้วยมาตรการเร่งด่วน เสนอแนวทางทำ “ห้องเรียนฉุกเฉิน” Emergency Classroom สร้างระบบดูแลช่วยเหลือฟื้นฟู ปรับหลักสูตรยืดหยุ่น จับมือหลายหน่วยงานทดลองทั้งระดับจังหวัด ท้องถิ่น และโรงเรียน
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายการศึกษา จัดเสวนา “หยุดวงจรเด็กหลุดออกนอกระบบจากวิกฤตโควิด-19 เจาะลึกกระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูจากพื้นที่ต้นแบบ” เพื่อสำรวจสถานการณ์เด็กจากผลกระทบโควิด-19 และระดมสมองจากพื้นที่และองค์กรต้นแบบ ที่สามารถแก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบในระยะเร่งด่วน เพื่อเร่งหาแนวทางการรับมือป้องกันและแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางในระยะฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด-19
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบของโควิด-19 ช่วงสองปีเศษ ทำให้ครอบครัวคนไทยที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ลูกจ้างรายวันทั้งหลาย เกิดสภาพ ‘ตายดิบ’ หรือ ‘ตายครึ่งตัว’ มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 1,244,591 คน หรือคิดเป็น 19.98% ของนักเรียนทั้งหมด สร้างสถิติสูงสุดจากที่ผ่านมา เปรียบเทียบจากเทอม 1/2563 ที่มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 250,163 คน
กสศ.และเครือข่ายภาคีในพื้นที่ ได้รวบรวมสาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามาจาก 2 ประเด็นหลักคือ
- หลุดจากความยากจนฉับพลัน จากสึนามิไวรัสโควิด-19 สองปีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับมาหนักขึ้น ทั้งคนตกงาน ต้องย้ายถิ่นฐาน ไม่มีรายได้
- หลุดจากเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ ทำให้เกิดความถดถอยทางการศึกษาไปถึง 50% เด็ก ป.1-ป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ การเรียนรู้จากระบบออนไลน์มีประสิทธิภาพแค่ 50% มีความเหลื่อมล้ำในประเด็นอุปกรณ์ไอที การสำรวจของ กสศ. พบว่าเด็กนักเรียนใน 29 จังหวัด ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ถึง 87% เมื่อเรียนไม่ทัน เด็กติดศูนย์ ติด ร. เปิดเทอมไม่มาเรียน หายตัวไปจากระบบการศึกษาแบบเงียบๆ แม้จะยังมีชื่ออยู่ในระบบก็ตาม
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า การช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งให้รอด ไม่ใช่แค่เรื่องทุนการศึกษาอย่างเดียว ต้องมองให้ครบมิติเพื่อป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบซ้ำอีก
- สุขภาพกาย เช่น การเข้าถึงวัคซีน ภาวะโภชนาการ
- สุขภาพใจ เด็กกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเครียด ซึมเศร้า มีแรงกดดัน ความกังวลในช่วงการกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง
- สังคม ภาวะโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน การทำงานที่เสี่ยงอันตราย หรือถูกเอาเปรียบค่าแรง
- ด้านการศึกษา ความรู้ที่ถดถอย เรียนไม่ทันเพื่อน
“ที่น่าเป็นห่วงคือช่วงสามเดือนอันตราย ถ้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษานานถึงสามเดือนจะเสี่ยงที่พวกเขาจะเข้าสู่วงจรสีเทา ทั้งติดเพื่อน ติดเกม ติดยาเสพติด หรือถ้าเราไม่ทำอะไรแล้วพวกเขาเข้าไปในสถานพินิจ พอออกมาสามเดือนก็มีโอกาสกลับเข้าไปซ้ำได้อีก ตรงนี้เป็นบทเรียนที่เราเริ่มเห็นแล้วว่า สังคมไม่อาจปล่อยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปแบบลำพัง ต่างคนต่างทำไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเด็กยากจนด้อยโอกาส ช่วยกันซ่อมชีวิต ซ่อมจิตวิญญาณให้เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวถึงสถานการณ์เด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชนเมืองว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมเมืองมีหลายด้าน กลายเป็นความยากจนครบวงจร ทั้งที่อยู่ การศึกษา รายได้ หาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ หลายครอบครัวตกงานถาวร
การที่จะให้เด็กคนหนึ่งหลุดพ้นความยากจนนั้นยากมาก เด็กต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน งานแรกคือแจกไพ่ ขายลอตเตอรี่ เรียงเบอร์ ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก เด็กหลุดออกจากระบบมากขึ้น
จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนใน 4 ชุมชนที่มีประชากรกว่า 5,000 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่อายุ 0-20 ปี ราว 1,400 คน พบว่ามีจำนวนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 200 คนที่ยังมีชื่ออยู่ในโรงเรียน แต่ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่มีจุดหมายในการเรียนต่อ มีแนวโน้มหลุดจากระบบ
ขณะที่ในจังหวัดยะลา หนึ่งในจังหวัดที่มีความยากจนสูงที่สุด นางสาวรุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในจังหวัดมีปัญหาเรื่องทุพโภชนาการเป็นอันดับสองของประเทศ เด็กแคระแกร็น เด็กปฐมวัยไม่ใช่หลุดจากระบบการศึกษา แต่เข้าไม่ถึงการศึกษา ส่วนเด็กในระบบการศึกษาอยู่ในครอบครัวยากจน มีพี่น้องหลายคน มีความยากลำบากในการมาเรียน ที่ผ่านมามีเด็กหลุดจากระบบก็ดึงกลับมาพัฒนาทักษะชีวิต สร้างแรงบันดาลใจ แต่ก็ยังหลุดไปอีก ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต โมเดลการศึกษาจริงๆ ต้องตอบโจทย์สิ่งที่เด็กต้องการ คือเรื่องรายได้ ปากท้อง ทำให้พยายามสอดแทรกทักษะอาชีพเข้าไปในหลักสูตร
จากข้อมูลในพื้นที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยใน 3 อำเภอนำร่องมีเด็กนอกระบบและต้องการความช่วยเหลือกว่า 2,800 คน และยังมีเด็กในระบบการศึกษาอีกประมาณ 1,000 คนต้องการความช่วยเหลือ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ช่วยได้เพียงแค่ 377 คน
สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่หนัก และเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าภาพหลัก ไม่สามารถทำงานได้เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกองคาพยพ ซึ่งยะลามีต้นทุนที่ดีในเรื่องความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงาน
“แค่เด็กออกจากโรงเรียนหนึ่งเดือนก็อันตรายแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เด็กไม่หลุดไปจากระบบ เปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่มีห้อง ER Emergency Room หรือห้องฉุกเฉิน โรงเรียนก็น่าจะมี Emergency Classroom หรือห้องเรียนฉุกเฉิน ที่เมื่อรับเด็กกลับเข้ามาเรียนแล้วจะใช้กระบวนการสอนเสริมอย่างไร เรียกเด็กมาคุยเพื่อเก็บงานวิธีใดก็ได้ แต่ให้คุณรับเด็กไว้ก่อน แล้วกระบวนการจัดการภายในให้เป็นเรื่องของโรงเรียน และต้องขอฝากไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปขบคิดต่อยอดคิดค้นหลักสูตรวิธีการที่เป็น Emergency Classroom เมื่อรับเด็กกลับมาเรียนแล้วจะมีรูปแบบในลักษณะแบบใดต่อไป” รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลากล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นไปในทางดีขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤตยังคงเข้มข้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงโจทย์สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชนนอกระบบที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานเพราะพ่อแม่ตกงาน และปัญหาการขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์
“เมื่อผู้ปกครองเด็กขาดรายได้ บางส่วนเขาก็ต้องย้ายกลับภูมิลำเนา หรือบ้างโยกย้ายไปหางานทำที่อื่น ทำให้มีเด็กจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเคสของเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนต่อด้วยปัญหาต่างๆ เช่น ความไม่รู้ขั้นตอนในการพาลูกเข้าโรงเรียน หรือโรงเรียนไม่มีระบบรองรับนักเรียนกลางเทอม ประเด็นเหล่านี้เราไม่สามารถโยนภาระการดูแลแก้ไขให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องมีการเชื่อมร้อย-ประสานชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพราะคนที่รู้สถานการณ์หรือคะแนนตัวเลขได้คือหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ จากนั้นถ้ามีการส่งต่อข้อมูลและออกแบบการทำงานระหว่างหน่วยงานตามความถนัดได้ เราจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่ส่งต่อถึงกันได้หมด ถ้ามีเด็กออกกลางคันที่ กทม. เขาไปอยู่ที่อื่น จะเข้าเรียนต่อได้อย่างไร มีวิธีไหนช่วยให้เขาไม่ต้องหลุดไปเฉยๆ ได้”
นายวิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ กล่าวว่า จังหวัดนครพนมได้พัฒนาโมเดลจังหวัด โดยรวมหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาช่วยกันสร้างกลไก เชื่อมกันเป็นวงจรเพื่อไปสู่เป้าหมายว่า จะทำอย่างไรให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหมดจากจังหวัดได้ภายในสามปี ปีแรกของการทำงานเร่งให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลเด็ก และทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแบ่งปันและเชื่อมโยงงานกัน
เราพบว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีวิธีจัดการต่างกัน คือ 1. ต้นน้ำ หมายถึง กลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน 2. กลางน้ำ คือเด็กแขวนลอย-หลุดนอกระบบ 3. ปลายน้ำ คือเด็กในกระบวนการยุติธรรม พอได้ฐานข้อมูลมาแล้ว เราจึงพัฒนาหลักสูตรและการประเมินใหม่ เช่น กลุ่มปลายน้ำ ทำงานร่วมกับสถานพินิจฯ เป้าหมายคือทำให้เด็กได้วุฒิก่อนกลับสู่สังคม นำตัวชี้วัดจำเป็นมาออกแบบให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขา ‘ต้องรู้’ มีเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ช่วยเสริมในสิ่งที่ ‘ควรรู้’ และมีกรมฝีมือแรงงานหรือสถาบันอาชีวะมาช่วยต่อยอดในสิ่งที่เขา ‘อยากรู้’ จนเด็กในสถานพินิจฯ ได้รับวุฒิการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ เตรียมนำโมเดลไปขยายผลเพิ่มในอีก 6 จังหวัด
“สำหรับกลุ่มเสี่ยง ก่อนเด็กจะหลุดจะมีสัญญาณเตือน เช่น ติด 0 ติด ร. หลายวิชา ขาดเรียนบ่อย สุดท้ายเด็กก็หายตัวไปจากโรงเรียนเต็มตัว ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้แต่ละโรงเรียนมีจำนวนราว 5-10% เท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบคือ ต้องทำห้องเรียนพิเศษขึ้นมารองรับเด็กกลุ่มนี้ จัดเป็นห้องเรียนตามอัธยาศัย แก้ปัญหาเป็นรายคน เช่น เด็กอยากซ่อมรถก็ให้ไปเรียนซ่อมที่อู่รถหนึ่งชั่วโมง ให้เจ้าของอู่ช่วยประเมิน หรือจัดการฝึกฝีมือแรงานในสิ่งที่เด็กอยากเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบ
นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “ไทรน้อยโมเดล” เป็นการทำงานร่วมกันกับ กสศ. ในการช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนต่อ
การรับเด็กกลับเข้ามาเรียนจะมีระบบดูแลช่วยเหลือ ต้องยอมรับว่าเมื่อออกไปจากระบบหนึ่ง เทอมแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการวัดผล ประเมินผลในช่วงที่หายไป โดยให้มาเรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติม ใช้การประเมินแบบแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้สึกมีความสุขและปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียน มีคุณครูคอยช่วยเหลือ ที่สำคัญคือเราจะต้องรักษาพลังบวกให้เขาผ่านไปตลอดรอดฝั่ง มีระบบดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา อุปสรรค การเรียนก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ให้พลังด้านลบมาบั่นทอนให้พวกเขาออกจากโรงเรียนไปอีก แล้วการดึงกลับเข้ามาจะยากลำบาก
น.ส.รังษินี นุ้ยพริ้ม ครูโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทำให้เกิดการติดตามและสกัดเด็กหลุดจากระบบได้เป็นอย่างดี ทั้งเครือข่ายชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อนร่วมโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ซึ่งการติดตามเด็กต้องไม่ใช่แค่การเรียน แต่ต้องครอบคลุมทั้งจิตใจ ความเครียด สุขภาพกาย ความปลอดภัย เพราะความเครียดก็มีผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษา
เมื่อดึงเด็กกลับเข้ามาในระบบ เราจะต้องมีวิธีฟื้นฟู ทั้งการลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก พูดคุยกับผู้ปกครอง บางคนเรียนออนไซต์เก่ง แต่พอเรียนออนไลน์ก็หายไป พอเยี่ยมบ้านก็พบว่าไม่มีอุปกรณ์ แต่สุดท้ายทางชุมชนได้เข้าไปช่วยเหลือจนกลับมาเรียนได้ เมื่อกลับมาเรียนก็ต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี ให้เด็กมีตัวตน มีการตั้งคำถามที่เขาอยากตอบ เน้นเรื่องที่เขาสนใจ