“ไม่มีใครเข้าใจพื้นที่ได้ที่สุดเท่ากับคนในพื้นที่”
แนวคิดที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ดา-นูรูลฮูดา สาและ ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นครูกลับมาสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ในพื้นที่บ้านเกิด วันนี้เส้นทางสู่เป้าหมายเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ปัจจุบันนูรูลฮูดาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง คณะครุศาสตร์ สาขาการประถมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 หลังเรียนเธอจะไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านละหาน ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พื้นที่บ้านเกิดและเป็นโรงเรียนที่เธอเคยเรียนเมื่อตอนเป็นเด็ก
ปัญหาของเด็กในพื้นที่เวลานี้คือ เรื่องการอ่านออกเขียนได้ เพราะใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เด็กหลายคนเขียนภาษาไทยไม่ได้ แม้แต่ชื่อของตัวเอง ต่างจากในอดีตที่เด็กๆ อ่านออก เขียนภาษาไทยได้มากกว่านี้
การอ่านออกเขียนได้ พื้นฐานสู่การเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ในฐานะว่าที่ครูที่จะกลับมาสอนหนังสือเด็กๆ ในพื้นที่ นูรูลฮูดามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในอนาคต การวางรากฐานเรื่องการอ่านออกเขียนได้จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และเป็นเป้าหมายอันดับแรกที่จะเข้าไปแก้ไขให้สำเร็จ
เริ่มจากสื่อการเรียนรู้อย่างหนังสือ ที่ออกแบบให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาจากสิ่งที่อยู่รอบตัว ยึดโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์ เริ่มจากให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์หรือประโยคง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่คำศัพท์ที่เขาไม่รู้จักหรือไม่มีโอกาสได้ใช้ พอเริ่มรู้คำศัพท์ง่ายๆ ก็เพิ่มความยากเข้าไป ให้เด็กได้มีพัฒนาการตามช่วงวัยของเขา ควบคู่ไปกับเทคนิคการสอนที่จะต้องทำให้เขาสนใจเรียนรู้
“ตอนเด็กๆ หนูเคยมีครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นไอดอล จนทำให้หนูอยากเป็นครูเหมือนครูท่านนี้ ท่านมีเทคนิคการสอนที่สนุก ไม่เครียด ทำให้อยากเรียน ทำให้หนูที่เคยเป็นคนกลัวภาษาอังกฤษ กลับมาสนใจและสนุกไปกับมัน หากได้เป็นครูก็จะนำเทคนิคนี้ไปใช้กับเด็กๆ ทั้งบูรณาการสาระเข้ากับเกม ทำให้เกิดความกระตือรือร้นสนใจในสิ่งที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น”
ปรับรูปแบบการเรียนรู้อย่างเสมอภาคให้ทั้งเด็กเก่งไม่เก่ง
ที่สำคัญคือการดูแลเด็กอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ใช่สนใจแต่เฉพาะเด็กเก่ง แล้วปล่อยปละละเลยเด็กเกเรไม่ตั้งใจเรียน แต่ต้องทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน
“การเรียนการสอนก็ต้องมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจจะสนใจในรูปแบบหนึ่ง แต่อีกคนสนใจในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าเข้าใจจิตวิทยาของเด็กแต่ละคน ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีพัฒนาการดีขึ้น เป้าหมายที่หวังไว้คือการได้เห็นเด็กๆ กล้าพูดกล้าแสดงออก ถ้าเขาสื่อสารได้ดี ก็จะต่อยอดมีหน้าที่การงาน มีอนาคตที่ดี ถึงเราจะต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำตามความฝันให้เต็มที่”
ครูรัก(ษ์)ถิ่นหยิบยื่นโอกาสทำให้เด็กมองเห็นอนาคต
จุดเด่นของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือ นักศึกษาจะต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งชุมชนและโรงเรียนที่จะกลับไปบรรจุเป็นครูในอนาคต
“ครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการที่ดีมาก มองเห็นเด็กที่ไม่มีโอกาสและหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขาได้เห็นแสงสว่าง ได้เห็นอนาคต ถ้าไม่มีโครงการนี้ หนูยังไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อไหม แต่สุดท้ายได้ทุนนี้ หนูดีใจมาก ต้องขอบคุณมากที่มอบโอกาสในครั้งนี้ หนูสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ได้รับโอกาสนี้” นูรูลฮูดากล่าว