จุดเริ่มต้น พลังการสร้างโอกาส

จุดเริ่มต้น พลังการสร้างโอกาส

ขอบคุณทีมก้าวคนละก้าว
ย้อนไปเมื่อสองปีที่แล้ว จำได้ว่า วันที่คุณตูน อาทิวราห์ คงมาลัย  ตอบรับจะทำโครงการช่วยเด็กๆ กับกสศ.
จะไม่หายไปไหน จะร่วมส่งเสียงแทนเด็กๆเป็นล้าน
เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน

เราดีใจมากที่คนซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดคนหนึ่งในประเทศ
ตัดสินใจก้าวไปกับกสศ. เพื่อช่วยเด็กๆ
เริ่มต้นทำเลย ไม่รออะไรทั้งนั้น
เช่นเดียวกับผู้คนและองค์กรอีกมากมายในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา  

หลังจากฟังข้อมูล ทางวิชาการ และสถานการณ์ในพื้นที่ จากกสศ.
สิ่งแรกที่คุณตูนและทีมก้าวตัดสินใจทำ คือ การลงพื้นที่ เพื่อเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้
ภายหลังจากลงพื้นที่ ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ จากภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ คุณตูนและทีมก้าวกลับมาพร้อมบอกว่า  จะทำโครงการเพื่อช่วยน้องๆชั้นรอยต่อ ม. 3 ขึ้น ม.4  เพราะเด็กๆในพื้นที่มีโอกาสหลุดนอกระบบจำนวนมาก

“เราจะช่วยน้องๆกลุ่มนี้ด้วยกัน”
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการก้าวเพื่อน้อง    

ในตอนนั้น น้องๆสมัครเข้ามา 1,352 คน จาก 717 โรงเรียน

มีน้องๆผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นตามเกณฑ์มาตรฐานที่กสศ.ปฏิบัติมาโดยตลอด จำนวน 801 คน จากนั้นจึงเข้าสู่การกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน กว่า 30 ท่านตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด 

ตลอดสองวัน เรารู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนสัมผัสได้ถึง ความหวัง ความฝัน ที่อัดแน่นไปด้วยความกดดันในชีวิต ผ่านข้อเขียนของเด็กๆ ยากเหลือเกินที่จะตัดใครสักคน แม้ในวันนั้นเราไม่อาจช่วยเด็กๆได้ทั้ง 801 คน เพราะข้อจำกัดของทุน แต่เราก็พยายามระดมความร่วมมือจน มีภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมาร่วมกันสนับสนุนเด็กๆ ได้เกือบทั้งหมดในเวลาต่อมา 

ถ้าเทียบกับปัญหาของทั้งประเทศและเจตนารมณ์ในการมีอยู่ของกสศ.

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็ก   แต่เป็นเรื่องเล็กที่มีความหมาย เพราะคือหัวใจของปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ ALL FOR EDUCATION พลังแห่งการให้จากทุกภาคส่วน ที่ไม่จำกัดเพียงแค่เงินบริจาค แต่รวมถึงทรัพยากรทุกด้านเพื่อนำการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ถึงเด็กทุกคน     ไม่ว่าจากภาครัฐที่ต้องทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ  ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีหัวใจอาสา ทุกเสียงและทุกการกระทำนั้นสำคัญและมีความหมาย เพื่อให้เด็กๆของเรารู้ว่า ยังมีใครซักคนที่อยู่ข้างๆ  ไม่นิ่งเฉย และกำลังช่วยพวกเขาอยู่อย่างเต็มที่

กว่าที่เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้จริงๆ ท่ามกลางข้อจำกัดและระบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ขณะนี้ วิกฤตเด็กหลุดจากระบบการศึกษา กำลังกลืนชีวิตและอนาคตเด็กๆของเรา แม้ว่าจะมีมาตราการจากภาครัฐ แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอกับขนาดปัญหา เรายังไม่สามารถรู้จำนวนที่แท้จริงของเด็กๆที่หายไป  แต่ทุกคนในสังคมสามารถร่วมกันช่วยเด็กๆเหล่านี้ได้ด้วยหลายวิธีการ  หรือเพียงแค่ไม่เพิกเฉย และช่วยกันทำลายทุกข้อจำกัดเพื่อโอกาสทางการศึกษาอันเป็นสิทธิชอบธรรมของเด็กทุกคน

กสศ.อยู่เคียงข้างประชาชน และจะทุ่มเทพลังด้วยหัวใจเพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้  เพราะโอกาสทางการศึกษาต้องเป็นสิทธิที่เท่าเทียมและเสมอภาคของเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติและจะต้องไม่มีข้อจำกัดใดใดมาเป็นอุปสรรค 

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมากสศ. ขอขอบคุณทุกท่านที่เห็นคุณค่าของการศึกษา ขอบคุณทุกความเชื่อมั่นและพลังสนับสนุน เราพร้อมน้อมรับทุกความคิดเห็นอันมีคุณค่า 

พลังคนไทยร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ในปีงบประมาณ 2564  กสศ.ขอขอบคุณประชาชนและหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 10,000 คน 200 องค์กร ที่ร่วมบริจาคกับ กสศ. รวมทั้งสิ้นราว 48 ล้านบาท  และยังสนับสนุนทรัพยากรอื่นๆ ทั้งบุคลากร องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ริเริ่มกิจกรรม หรือโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  ทั้งนี้จากความร่วมมือสามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กว่า 70,000 คน  เงินบริจาคส่งต่อถึงกลุ่มเป้าหมายวิกฤต 100% โดยไม่มีการหักค่าบริหารจัดการ  ซึ่งมีโครงการสำคัญดังนี้

  • โครงการสู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษที่ขาดแคลนอาหารในวิกฤตโควิด-19 จำนวนกว่า 42,000 คน ใน 7,728 โรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 604,980 มื้อ
  • โครงการมื้อเช้าเพื่อน้องอิ่มท้อง  สนับสนุนการพัฒนาระบบอาหารเช้าสำหรับนักเรียนยากจนในพื้นที่ห่างไกล  พื้นที่ 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ทั้งหมด 23 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 80% ขึ้น มีนักเรียนได้รับอาหารเช้าตลอดปีการศึกษา 2564 จำนวน  2,026 คน  รวมกว่า 400,000 มื้อ  ตลอด 200 วันเรียน
  • โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในทุกมิติ  ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นระบบเดียว  สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า 22,000 กรณี ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดในทุกมิติ ทั้งด้าน สุขภาพกาย-ใจ สังคม การศึกษา จนสามารถยกระดับเป็นโมเดลการดูแลช่วยเหลือเด็กในสถานการณ์วิกฤติขยายผลระดับประเทศ และระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาเป็นอาสาสมัครจำนวน 300 คน
  • โครงการสนับสนุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนเฉียบพลัน  และต้องได้รับการช่วยเหลือทันที รวมถึงเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนทั้งหมดอย่างน้อย 10,000 คน ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  ทั้งด้านทุนการศึกษาและอุปกรณ์ที่ขาดแคลน  

กสศ.ยังได้ร่วมกับ 16 องค์กรตั้งต้น ทั้ง ภาคเอกชนและประชาสังคมประกอบด้วย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพุทธรักษา และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิก้าวคนละก้าว มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิเสริมกล้า เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP) และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  ร่วมประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่าย “ALL FOR EDUCATION”  เพื่อร่วมระดมทรัพยากร ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ นำการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ถึงเด็กทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่ให้หลุดนอกระบบ


ผลิพร ธัญญอนันต์ผล
(ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสาธารณะ
และระดมความร่วมมือ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)