เมื่อสองปีที่แล้ว ครูฟาติน – รังษินี นุ้ยพริ้ม ได้รับการบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส แต่หลังจากสอนในชั้นเรียนได้ไม่นาน วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ก็เกิดขึ้น โรงเรียนบ้านค่ายปิดเทอมฤดูร้อนยาวนานกว่าเคย และเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้โรงเรียนทั่วประเทศกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง คราวนี้ครูบรรจุใหม่อย่างครูรังษินีก็ต้องงัดเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาเพื่อดึงดูดใจเด็กแล้ว
ตลอดสองปีที่โควิด-19 ปิดตายห้องเรียนแบบออนไซต์ทั่วไทยและทั่วโลก ครูรังษินี และผองครูที่โรงเรียนบ้านค่าย นราธิวาส ได้ค้นหารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนให้การเรียนรู้ไม่สะดุด แน่นอนว่าที่โรงเรียนบ้านค่ายก็เจอภาวะ “เด็กหลุดออกนอกระบบ” ไม่ต่างกับพื้นที่อื่น แต่เมื่อทางโรงเรียน ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการและคุณครูได้หารือกัน ทำให้เกิดแนวทางรับมือ บรรเทา และฟื้นฟู “เด็กหลุด” รวมถึงสามารถช่วยฟื้นฟูเด็กที่เจอภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้วย
ในบทสัมภาษณ์นี้ ครูรังษินีในวัย 27 ปี ถ่ายทอดมุมมองต่อวิชาชีพของครู การปรับตัวที่ครูต้องรับมือในยุคโควิด พร้อมเล่าถึงเคล็ดลับการสร้างห้องเรียนที่ทำให้ทั้งเด็กและครู “หัวใจพองโต” ผ่านการไลฟ์และสอนผ่านจอด้วยเทคนิคแม่ค้าออนไลน์ และฉายสปอตไลต์ไปให้เด็กๆ อย่างเต็มที่
เมื่อคุยกับครูรังษินีจบลง เราพบว่า สิ่งที่เธอและโรงเรียนบ้านค่าย นราธิวาส พยายามทำในช่วงที่ผ่านมา ก็คือรูปแบบหนึ่งของ Inclusive Education
การศึกษาแบบใส่ใจ และ (พยายาม) ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังนั่นเอง
จุดเริ่มต้นในการเป็นครู
เราเริ่มอาชีพครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส ซึ่งตัวเราก็เติบโตมาในจังหวัดนี้ ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราสอบติดคณะครุศาสตร์ที่สถาบันแห่งหนึ่งในภาคใต้ แต่ตอนนั้นเราอยากเห็นโลก เลยบอกแม่ว่าขอหยุดเรียน 1 ปี เป็น Gap Year เพื่อจะย้ายไปอยู่ กทม. แต่แม่กลัวเราสมองฝ่อ เลยให้ลงเรียนครูที่ ม.รามคำแหง ไว้ด้วย ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นครูไหม รู้แต่ว่าเราเกิดและเติบโตมาในครอบครัวครู เลยคุ้นเคยกับอาชีพนี้ ช่วงที่อยู่ กทม. เราไปหอสมุดแห่งชาติ เจอนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยละแวกนั้นแวะมาทำรายงานกัน เขาดูสนุกสนานมากเลย เรารู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็น เลยสมัครเข้าเรียนครูในมหาวิทยาลัยนั้นปีถัดมา เหตุผลเพราะมหาวิทยาลัยนั้นเชี่ยวชาญเรื่องครู และอยู่ใกล้หอสมุดแห่งชาติ
พอเรียนจบ เราได้เห็นโลกข้างนอกพอสมควรแล้ว จึงอยากนำความรู้และประสบการณ์กลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่บ้านเกิด เพราะระหว่างเรียนและใช้ชีวิตที่ กทม. เราได้พบว่า มันมีความไม่ทัดเทียมบางอย่างระหว่างเด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัด โดยเฉพาะเรามาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ เลยอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงตรงนี้
เราบรรจุก่อนโควิดระบาดได้ไม่นาน เรียกได้ว่าสอนออนไซต์ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนแล้ว แต่ข้อดีของโรงเรียนบ้านค่ายคือ ผู้อำนวยการและครูที่นี่ร่วมแรงร่วมใจกันหาทางแก้ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง พวกเรามีเป้าหมายว่าต้องช่วยเด็กให้ได้เรียน
จาก On-Hand สู่ On-Demand สู่ Online : ลองปรับหากลยุทธ์ที่ใช่ที่สุดสำหรับนักเรียน
ปี 2563 ที่โควิดระบาดช่วงแรก ตอนนั้นโรงเรียนปรับมาใช้การเรียนการสอนแบบออนแฮนด์ (On-Hand) คือการแจกใบงานก่อน แต่การแจกใบงาน นักเรียนจะไม่ได้เรียนรู้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการเรียนการสอนมันต้องมีการพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างครูกับนักเรียน อันนั้นคือสิ่งสำคัญในการที่นักเรียนจะพัฒนาได้
เราคิดว่านักเรียนน่าจะได้เรียนรู้มากกว่านี้ เลยเริ่มปรับมาใช้ออนดีมานด์ (On-Demand) คือ อัดคลิปสอน ซึ่งนักเรียนสามารถดูคลิปที่คุณครูอัดเวลาไหนก็ได้ ซึ่งพอผ่านไปสักพัก เรารู้สึกได้ว่ามันดีนะ นักเรียนให้ความสนใจมาก เด็กกระตือรือร้น เราเลยตัดสินใจลองออนไลน์ (Online) เลยดีกว่า
พอเรียนและสอนผ่านออนไลน์ปุ๊บ ก็เจอปัญหาอีกอย่าง นั่นคือเด็กบางส่วนขาดแคลนเครื่องมือสื่อสารในการเรียน เราก็บอกไม่เป็นไร จะพยายามหาทางช่วยนักเรียนเต็มที่ โชคดีที่โรงเรียนบ้านค่ายได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายด้าน ทั้งจากชุมชนและจากหน่วยงานอื่น จนทำให้พวกเราหาเครื่องมือให้เด็กเรียนออนไลน์ได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีนักเรียนที่พลาดโอกาส ไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์ หรือ “หลุดจากระบบ” ไปเหมือนกันนะคะ ซึ่งพวกเราก็พยายามทุกวิถีทาง บางครั้งก็ให้เด็กไปนั่งเรียนที่บ้านเพื่อนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน งัดกันมาทุกเทคนิคเลย ลงพื้นที่ ตั้งกลุ่มสื่อสารออนไลน์กับผู้ปกครอง เราพยายามหากลยุทธ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียน
กลยุทธ์ลำดับ 1: เมื่อปรับสู่ออนไลน์ ครูก็ใช้เทคนิคแบบแม่ค้าออนไลน์มาสอนเด็ก
ตอนที่เราสอนออนไซต์ในห้องเรียนปกติ โชคดีที่ได้สอนวิชาชื่อโครงงานฐานวิจัย ซึ่งเป็นคาบเรียนแบบบูรณาการความรู้ โครงงานฐานวิจัยเป็นสิ่งที่เราได้จากการไปร่วมอบรมโครงการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ กสศ. ซึ่งเราได้เทคนิคเยอะมากจากการร่วมอบรม อีกทั้งวิชานี้เราไม่ได้สอนคนเดียว แต่สอนร่วมกับครูอีก 2 ท่าน ซึ่งตอนสอนก็จะรับส่งมุกกันอย่างสนุกสนาน
พอสอนออนไลน์ เราก็นำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมนั้นมาใช้ พร้อมเติมอีกเทคนิคนึงเพิ่มไปในการสอนด้วย คือ เราจะสมมติกันเองในหมู่ครูว่า พวกเรากำลังเปิดร้านไลฟ์สดออนไลน์กันอยู่นะ โดยไอเดียตั้งต้นมาจากคุณครูที่โรงเรียนสองสามท่าน เขาชอบ cf ของจากไลฟ์สด เราเลยชวนกันมาสอนผ่านไลฟ์สดดู ทำเหมือนกำลังเปิดแผงขายของออนไลน์ แต่จริงๆ คือขายวิชาความรู้ให้เด็ก ปรากฏนักเรียนดูไลฟ์แล้วชอบใจ จากนั้นเราเลยต่อยอดมาเป็นห้องเรียนออนไลน์ที่เน้น “เรียนปนเล่น” การปล่อยให้เด็กได้เรียนปนเล่น เขาจะสนุก แล้วเราก็มีการปล่อยให้เขาได้คิด ฝึกตั้งคำถาม และมีส่วนร่วมมากที่สุด
หัวใจสำคัญของการสอนผ่านจอคือ ครูต้องไม่เอาห้องเรียนออนไซต์มาใส่ห้องเรียนออนไลน์ เราต้องทำให้บรรยากาศการเรียนเหมือนการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ ครูก็สนุก นักเรียนก็สนุก win-win กันทั้งคู่ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แถมเวลานักเรียนหัวเราะชอบใจ บอกว่าอยากเจอครูอีก คิดถึงครู สิ่งนี้ก็ช่วยเยียวยาจิตใจครูได้ การเรียนการสอนออนไลน์แบบเรียนปนเล่นนั้น นอกจากเด็กจะชอบแล้ว ยังทำให้หัวใจของทั้งเด็กและครูพองโตอีกด้วย
กลยุทธ์ลำดับ 2 : เปลี่ยนจากสั่งเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่มาอุดหนุนผู้ปกครองนักเรียนแทน
ที่โรงเรียนบ้านค่าย ผู้อำนวยการโรงเรียนเคยให้นโยบายว่า เราควรมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง เพราะหากผู้ปกครองไว้ใจครู เขาก็จะกล้าเล่าปัญหาทั้งหมดที่บ้านให้ฟัง เราจะได้รู้ปัญหาของเด็กอย่างทันท่วงทีและแก้ไขได้เร็วขึ้น ซึ่งตัวเราเองก็นำนโยบายนี้มาปรับใช้ ผูกมิตรกับผู้ปกครองผ่านการพูดคุยและให้กำลังใจเขา กลยุทธ์อีกอันที่เราใช้คือ กลยุทธ์สั่งข้าว สั่งน้ำ สั่งของทุกอย่างจากผู้ปกครองของเด็กๆ
เดิมทีเรานิยมสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่ของเจ้าใหญ่ แต่พอวันหนึ่งเราอยากกินอาหารพื้นบ้าน ก็เลยมองหาร้านตามสั่ง พบว่ามีผู้ปกครองนักเรียนเราขายอยู่ จึงอุดหนุนผู้ปกครอง จากผู้ปกครองหนึ่งบ้านเราก็อุดหนุนหลายบ้านมากขึ้น เรียกได้ว่าอุดหนุนทุกอย่างที่ผู้ปกครองขาย ทั้งน้ำ ผ้า ปลา ปู กุ้ง เราอุดหนุนหมด แต่ถามว่าครูโดนบังคับให้อุดหนุนไหม ก็ไม่ใช่ คือครูก็ต้องการบริโภคอยู่แล้ว ทีนี้พออุดหนุนเขา เราก็ใช้จังหวะนั้นในการพูดคุย ซักถามเรื่องเด็กนักเรียน อันนี้เป็นกลยุทธ์ที่เราใช้แล้วได้ผล แล้วพอเรากลับมาคิดอีกมุมหนึ่ง การที่เราอุดหนุนและช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ปกครอง ตัวเขาเองก็นำรายได้ตรงนี้ไปจุนเจือครอบครัวอีกต่อนึง ไปดูแลนักเรียนเราอีกทอด เหมือนเรากำลังทำงานชุมชนสัมพันธ์ไปในตัว ซึ่งเรายินดีกับบทบาทตรงนี้มาก
พอเราอุดหนุนสินค้าผู้ปกครองเรื่อยๆ ครูคนอื่นก็เริ่มทำบ้าง ระหว่างนั้นก็ได้พูดคุยกับผู้ปกครองเรื่อยๆ ถามสารทุกข์สุกดิบ ถามข่าวคราวลูกเขา บางทีก็มีโป๊ะแตกนะคะ จับโป๊ะเด็กได้ เด็กบอกผู้ปกครองว่าวันนี้ครูไม่สอนออนไลน์ แต่พอผู้ปกครองมาส่งข้าวให้เราก็เห็นเราสอนอยู่ (หัวเราะ) เป็นกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมในการเช็กข่าวเด็กและสานสัมพันธ์ผู้ปกครอง
กลยุทธ์ลำดับ 3: ฟื้นฟูเด็กหลุดที่กลับสู่ระบบ ผ่านการฉายสปอตไลต์ให้ในชั้นเรียน
ปัจจุบันหลายโรงเรียนอาจจะกลับมาสอนออนไซต์แล้ว แต่ของโรงเรียนบ้านค่าย เรายังเรียนและสอนผ่านออนไลน์อยู่ เนื่องจากสถิติเด็กของเรายังฉีดวัคซีนไม่ถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ กระนั้นก็มีเด็กที่เคยหายหน้าหายตาไปเมื่อปีก่อน กลับมาเรียนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสำหรับกลุ่มเด็กที่เคยหลุดจากระบบแล้วกลับมาเรียนใหม่นี้ เราจะพยายามให้เขามีส่วนร่วมกับชั้นเรียนให้มากที่สุด เรียกได้ว่าฉายสปอตไลต์ให้เต็มที่ แล้วไม่ใช่แค่ครูเท่านั้นที่ทำอย่างนี้ เพื่อนๆ คนอื่นในชั้นเรียนก็ช่วยกันอีกทาง อย่างบางทีเพื่อนๆ ก็จะบอกว่า “ครูครับ ให้เด็กหญิงเอตอบหน่อย อยากได้ยินเสียงเด็กหญิงเอ” พยายามส่งเสียงเรียกชื่อเพื่อน หรือบางวันมีเด็กหายไปจากชั้นเรียนออนไลน์ นักเรียนคนอื่นก็จะคอยอัพเดตข่าวว่าเด็กคนนั้นไปไหน แล้วคอยตามกลับมาให้ เด็กๆ เขาก็ช่วยกันเองด้วย
โรงเรียนต้องเปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าอยากให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21
อยากขอพูดถึงสิ่งที่ได้จากการร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ กสศ. หน่อยนึงค่ะ ถือว่าโชคดีที่โรงเรียนบ้านค่ายได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ซึ่งเรามี มอ.เป็นพี่เลี้ยงของภาคใต้ หลังจากร่วมอบรมทางโรงเรียนบ้านค่ายก็มีคาบเรียนโครงงานฐานวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งผลจากคาบเรียนนี้ทำให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าแสดงออกกันมากขึ้น เพราะกระบวนการของคาบเรียนคือ เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง เราเคยถามครูในโรงเรียนที่เขาสอนมานานเกินสิบปี เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้จะมีเด็กในโรงเรียนเพียงไม่กี่คนที่โดดเด่นขึ้นมา กล้าพูดกล้าแสดงออก แต่หลังจากมีคาบเรียนโครงงานฐานวิจัย เด็กเกินครึ่งเริ่มกล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็นมากขึ้น ไม่กลัวตอบผิดเหมือนเดิม นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ตอนที่เราเข้าร่วมโครงการ ทางพี่เลี้ยงให้เราตั้งเป้าหมายก่อนว่าโรงเรียนต้องการอะไร ซึ่งโรงเรียนเราได้ตั้งเป้าหมายว่า นักเรียนต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 พูดอย่างนี้ดูกว้าง แต่ถ้าตอบให้แคบลงไปคือ ให้เด็กมีทักษะการคิด กล้าแสดงออก และทักษะการพูด เราหวังเท่านี้ ถ้าเราทำให้นักเรียนมีสามทักษะนี้ได้ เขาจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โอเคแล้ว
ปีใหม่ และความวาดหวังของครูไทยคนหนึ่ง
สิ่งที่อยากเห็นในปีใหม่นี้คือ อยากกลับมาสอนแบบออนไซต์ตามปกติ อยากกลับสู่ห้องเรียนแล้วได้เห็นหน้าเห็นตาเด็กๆ อันนี้คือความหวังในระยะใกล้ แต่ถ้าความฝันสูงสุดในการเป็นครูคนหนึ่งคือ ต้องการเห็นเด็กของเราพัฒนาและเติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นนั่นนี่ใหญ่โตนะคะ แค่เป็นในสิ่งที่เขาเป็นแล้วเขามีความสุขก็พอ อยากเห็นเขามีความสุขกับการเรียน กับช่วงวัยของเขา พร้อมเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นี่คือความหวังสูงสุดในการเป็นครู
เมื่อท้อแท้ นี่คือเทคนิคในการเยียวยาจิตใจ
สำหรับเรา สิ่งที่เยียวยาคุณครูได้ดีที่สุดคือตัวนักเรียน อย่างที่บอกว่า เราจะต้องสอนให้นักเรียนเขามีความสุขกับการเรียนก่อน อันนั้นคือแนวคิดของเรา พอนักเรียนมีความสุข ยิ้มออกมา แสดงตัวตนออกมาให้เราเห็น เราก็หายเหนื่อยแล้ว ในฐานะครู เราเข้าใจนะว่าการเป็นครูมันเหนื่อย แต่พอเราเห็นตัวตนของนักเรียน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ความเหนื่อยทั้งหมดมันก็หายหมดเลย
แต่ถ้าพูดในมุมส่วนตัว ถ้าครูคนหนึ่งเจออุปสรรค กำลังท้อ ก็ให้คิดเสียว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็ผ่านไป แค่ทำหน้าที่วันนี้ให้ดีที่สุด และหากไม่ไหวจริงๆ ก็หยุดพักค่ะ ให้เวลากับตัวเอง ลางานสักหนึ่งหรือสองวันเพื่อชาร์จพลังก่อนก็ได้ เดี๋ยวเราเติมพลังใจได้แล้ว เราจะพร้อมกลับมาลุยต่อ