การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญ ทำให้เด็กมีอนาคตที่ดีขึ้น สุดท้ายก็จะส่งผลย้อนกลับมาทำให้ชุมชนดีขึ้น ดังนั้นการจะพัฒนาชุมชนจึงต้องเริ่มต้นจากการศึกษา
แนวคิดนี้ทำให้ เตย-นงลักษณ์ เสลิ้ม มุ่งมั่นตั้งใจเรียนเพื่อกลับไปสอนหนังสือเด็กๆ ในชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง และเป้าหมายนี้ใกล้เป็นความจริงแล้ว ในฐานะนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อีกสองปีกว่า ‘เตย’ จะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนสวนป่าองค์พระ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในช่วงปีหนึ่งเธอได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลทั้งที่โรงเรียนและชุมชน เพื่อนำมาวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปทำหน้าที่เป็นครูในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง
สอนหนังสือเด็กยากจนที่ไม่ได้เข้าเรียน
ให้มีอนาคตเหมือนเด็กคนอื่น
เริ่มตั้งแต่ข้อจำกัดเรื่องจำนวนครูที่มีน้อย ทำให้ครูคนหนึ่งต้องสอนหลายวิชา ตรงนี้เป็นการบ้านที่ ‘เตย’ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม อีกด้านหนึ่งคือ ยังมีเด็กอีกจำนวนมากในพื้นที่ที่มีฐานะไม่ดีและไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งเธอตั้งใจว่าจะใช้เวลาว่างจากการสอนที่โรงเรียนไปสอนหนังสือให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ด้วย
“ในพื้นที่ยังมีเด็กหลายคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือเพราะไม่มีเงิน บางคนต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ตัดอ้อย ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด บางคนก็ไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉยๆ เพราะไม่มีเงิน เวลาลงพื้นที่ก็เห็นว่ายังมีเด็กๆ กลุ่มนี้ ที่เราอยากให้เขาได้มีความรู้ติดตัวไปในอนาคตเหมือนกับเด็กๆ คนอื่น”
“ที่คิดไว้คือ จะทำเป็นโครงการไปเสนอผู้ใหญ่ เอาหนังสือเก่าๆ ที่มีอยู่ไปสอนเด็กทุกวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันว่าง จะเน้นไปที่วิชาภาษาไทยก่อน อย่างน้อยก็ทำให้เด็กๆ พออ่านออกเขียนได้ก่อน เป็นช่องทางไปสู่การเรียนรู้ในด้านอื่นๆ
“มองแล้วก็ไม่ง่าย แต่ก็ต้องทำให้ได้ การศึกษาจะทำให้เขามีความรู้ มีงานทำ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าเราดึงเขาเข้ามาสู่เส้นทางการศึกษาได้ อนาคตของพวกเขาก็จะดีขึ้น กลายเป็นกำลังกลับมาพัฒนาชุมชนของเรา”
รู้จักพื้นที่ ช่วยให้สอนหนังสือได้ดี
ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด
‘เตย’ ค้นพบว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ ม.4 เริ่มรู้สึกว่าชอบสอนหนังสือ มีน้องๆ ที่บ้านก็จะคอยสอนการบ้านให้ตลอด ตอนเรียนวิชาแนะแนวก็ตั้งเป้าว่าอยากเป็นครู พอดีมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้ามา คุณครูแนะแนวก็แนะนำให้ไปสมัคร ตอนนั้นรู้แค่ว่าจะได้ทุนไปเรียนเป็นครู จบแล้วกลับมาบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิด คิดว่าดีมาก เพราะจะได้อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง และเรารู้จักชุมชนของเรา น่าจะช่วยให้การสอนดีขึ้น และยังได้พัฒนาชุมชนของเรา
ตอนนี้ก็พยายามตั้งใจเรียน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่ได้เรียนรู้ ทั้งการผลิตสื่อการสอนจากวัสดุในพื้นที่ นำวัสดุที่เชื่อมโยงกับชุมชนมาเป็นสื่อการสอนเด็กๆ เทคนิคการสอนต่างๆ รวมถึงการดูแลเด็กพิเศษที่จะต้องมีวิธีการสอนไม่เหมือนกับการสอนเด็กทั่วไป
“อยากสอนเด็กให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ คาดหวังว่าเด็กๆ จะโตไปได้เรียนจนจบปริญญา ได้มีงานทำ เป็นผู้ใหญ่ที่ดี สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากการศึกษาช่วงปฐมวัย ที่ถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญ ถ้าดูแลเขาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาได้ดี”
สำหรับการพัฒนาชุมชนตอนนี้ อยากทำเรื่องขยะ เพราะในพื้นที่มีขยะค่อนข้างมาก หากมีการแยกขยะ รีไซเคิล รียูส หรือนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างอื่นได้ นอกจากจากทำให้ขยะลดแล้ว ก็ยังสร้างรายได้จากขยะได้อีกทางหนึ่งด้วย