‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ (Competency-based Curriculum) ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ในหมู่นักการศึกษา แต่ยังสดใหม่และเป็นที่กล่าวถึงทั่วไปด้วยความรู้สึกหลากหลายในขณะนี้ ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความหวัง ความเคลือบแคลง หรือความสนใจก็ตาม เพราะอนาคตของเด็กๆ ในศตวรรษที่ 21 ดูจะผูกพันกับคำสั้นๆ ที่มีความหมายคลุมเครือนี้อย่างแยกไม่ออก
โดยทั่วไป หลักสูตรฐานสมรรถนะหมายถึงหลักสูตรที่เน้นส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนในการปรับใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในสถานการณ์จริง ออกแบบกลยุทธ์และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยพลิกแพลงและอย่างยืดหยุ่นในระยะยาว ตลอดจนมีสุขภาวะที่ดี สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางชีวิตให้สอดคล้องกับความผันผวนของโลกและความก้าวหน้าทางวิทยาการได้
ฟังเผินๆ ดูจะไม่แตกต่างจากปลายทางแห่งการปฏิรูปการศึกษาที่ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น คำถามที่แท้จริงอาจไม่ใช่คำถามที่ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะจะส่งเยาวชนในวันนี้สู่ฝั่งฝันในวันหน้าได้จริงหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ว่าอุปสรรคซึ่งขัดขวางเจตนารมณ์อันดีนั้นอยู่ที่ใด และหากหลักสูตรใหม่จะเป็นความหวังได้จริง การปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเวลาอันใกล้นี้ จะเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดในอดีตได้บ้าง
คำตอบของอันเดรอัส ชไลเชอร์ (Andreas Schleicher) ในงานเสวนาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คือการปรับใช้หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งต้องไม่เป็นเพียงคำสั่งหรือกระทั่งนโยบาย แต่ต้องเป็น ‘วัฒนธรรม’
หลักสูตรฐานสมรรถนะในระบบการศึกษาไทย
OECD จัดงานเสวนา Teaching, learning, and assessing 21st century skills: Thailand’s experience เพื่อทบทวนสถานการณ์ทั่วไปของการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในไทย และเพื่อรวบรวมความคิดเห็นตลอดจนคำชี้แนะของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ
สิริกร มณีรินทร์ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไล่เรียงกำหนดการปัจจุบันของการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ นับแต่การเล็งเห็นข้อบกพร่องของการจัดการเรียนรู้โดยยึดโยงกับเนื้อหารายวิชาเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางหลักของการจัดการศึกษา จนถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อออกแบบหลักสูตรใหม่ และการเริ่มต้นนำร่องหลักสูตรในระดับประถมศึกษาตอนต้น ในวันที่ 11 ตุลาคม 2564
สิริกรอธิบายว่า มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดการศึกษานับแต่โลกเริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความตระหนักว่าระบบการศึกษาไทยขณะนั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกยุคใหม่อีกต่อไป และไม่ช้าก็เร็ว เยาวชนไทยจะขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ความพยายามปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จนักด้วยความผันผวนทางการเมือง ทำให้การดำเนินนโยบายด้านการศึกษาขาดความต่อเนื่อง กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดการศึกษาจึงทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะจวบจนปัจจุบัน ท่ามกลางความไม่พอใจของนักเรียนที่แสดงออกผ่านการชุมนุมและเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยสมรรถนะหลัก 6 ประการที่ปรากฏในร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะไทย ได้แก่
- การจัดการตนเอง (Self-management) รู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น มีเป้าหมายในชีวิต จัดการอารมณ์และความเครียดได้ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ตลอดจนฟื้นคืนสู่ภาวะสมดุลหลังเผชิญวิกฤตได้ และมีสุขภาวะที่ดี
- การคิดขั้นสูง (Higher Order thinking) สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณด้วยเหตุผลรอบด้าน เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ใช้จินตนาการและองค์ความรู้แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้
- การสื่อสาร (Communication) รับสารและส่งสารได้อย่างปราศจากอคติ มีสติ เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง เลือกใช้กลวิธีสื่อสารได้อย่างเหมาะสมโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา
- การรวมพลังทำงานเป็นทีม (Teamwork collaboration) จัดระบบและออกแบบกระบวนการทำงานทั้งของตนเอง และกระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความเป็นผู้นำ โปร่งใส และตรวจสอบได้ มีมนุษยสัมพันธ์ดี และจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายได้
- การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Civic literacy) เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น เคารพกติกา และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะอย่างมีวิจารณญาณ ยึดมั่นในความเท่าเทียม ค่านิยมประชาธิปไตย และสันติวิธี
- การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน (Sustainable coexistence with nature and science) เข้าใจปรากฏการณ์ของโลกและเอกภพ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติในชีวิตประจำวัน สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้
วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสริมว่าการร่างกรอบหลักสูตรนี้ ตลอดจนการกำหนดนโยบายเปลี่ยนผ่านจากหลักสูตรเดิมล้วนอยู่บนฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ อันเป็นผลลัพธ์จากแนวทางการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เน้นใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและความร่วมมือกับหลากหลายองค์กร โดยที่ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักที่กองทุนฯ พบจากการรวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายเปลี่ยนผ่านหลักสูตร และยังต้องการคำชี้แนะจากองค์กรพันธมิตรทั้งในและระหว่างประเทศ คือปัญหาการขาดแคลนครูที่พร้อมปรับใช้หลักสูตรดังกล่าวในหลายโรงเรียน
โดยแผนการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในไทยนั้นเริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา และความพร้อมในการปรับใช้หลักสูตรในโรงเรียนต่างๆ ติดตามด้วยการปรับปรุงพื้นฐานและยกระดับความพร้อมของโรงเรียนผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบาย การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโรงเรียน หรือการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อให้การปรับใช้หลักสูตรเป็นไปโดยราบรื่น สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์สู่ตลาดแรงงานแห่งศตวรรษที่ 21 ได้จริง โดยระหว่างทางจะมีการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรระดับปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนานโยบายและหลักสูตรต่อไป
“ต้องประสานความร่วมมือกับโรงเรียนตั้งแต่เริ่มร่างกรอบหลักสูตร ไม่ใช่ร่างโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครแล้วให้ทุกโรงเรียนปรับใช้ เพราะแต่ละโรงเรียนต้องเผชิญปัญหาแตกต่างกัน” สิริกรร่วมแจกแจงแนวทางข้างต้น “ดังนั้น ในขั้นตอนการร่างกรอบหลักสูตร คณะกรรมการจึงเปิดโอกาสให้อาสาสมัครมากกว่า 100 คน ให้ข้อมูลด้วย โดยมากกว่า 30 คนในนั้นเป็นครู นอกจากนั้นก็เป็นผู้แทนจากหน่วยงานเอกชน โดยคณะกรรมการได้จัดทำเว็บไซต์ cbethailand.com เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเหล่านั้นโดยเฉพาะ”
เมื่อได้รับฟังแนวคิด แผนการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ และความท้าทายที่นักการศึกษาไทยต้องเผชิญแล้ว อันเดรอัส ชไลเชอร์ ผู้แทนจาก OECD จึงกล่าวว่าเขาชื่นชอบสมรรถนะหลักหกประการของไทยทีเดียว แต่ “ปัญหาที่แท้จริงคือ หลักสูตรฐานสมรรถนะของคุณสอดคล้องกับกลไกอื่นๆ ในระบบการศึกษาหรือไม่ ทั้งการฝึกหัดครู และนโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพราะนั่นเป็นจุดที่หลายประเทศ ‘ตกม้าตาย’”
อันเดรอัสตื่นเต้นที่จะได้เห็นการนำร่องหลักสูตรในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 และเขาเห็นด้วยกับการนำร่องอย่างยิ่ง ในฐานะการเคลื่อนไหวที่รอบคอบ กระนั้น “สิ่งที่คุณต้องพิจารณาคือ จะทำอย่างไรให้ข้อบังคับที่ดีกลายเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสม และจะทำอย่างไรให้แนวปฏิบัติที่เหมาะสมกลายเป็นวัฒนธรรม” อันเดรอัสให้ความเห็น “จุดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษไม่ใช่จำนวนโรงเรียนที่สามารถปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะได้ อย่างที่หลายประเทศก้าวพลาดเสียแล้ว และจุดที่ต้องให้ความสำคัญก็ไม่ใช่จำนวนงานวิจัยหรือหลักฐานที่รวบรวมได้ แต่เป็นคำถามที่ว่าจะเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยเหล่านั้นเป็นกรอบความคิดของผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้อย่างไร”
ประเทศที่ทำได้ดีสำหรับอันเดรอัสคือหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะฟินแลนด์ และหากเป็นในเอเชีย ก็คือสิงคโปร์และญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ที่กำลังมีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยสิงคโปร์นั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูให้เป็นนักวิจัย กล่าวคือไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การพัฒนางานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ มากไปกว่าสนับสนุนให้ครูสามารถดำเนินการวิจัยอย่างมีคุณภาพด้วยตนเอง และนำผลการวิจัยไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้มีการแบ่งปันนวัตกรรมระหว่างครูด้วยกัน
“สิ่งที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์สามารถทำให้ค่านิยมหลัก (core values) ของหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นแกนของทุกสิ่งในประเทศได้ สิงคโปร์ไม่ได้เพียงแขวนคำว่า ‘สมรรถนะ’ (competency) ไว้เหนือเนื้อหาในหลักสูตร แต่เขียนเนื้อหาในหลักสูตรใหม่โดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน เพื่อให้เด็กควบคุมตนเองได้ มีความรับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และใฝ่รู้” อันเดรอัสอธิบาย
กรอบความคิดว่าด้วยสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
จากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
ดังที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ สิงคโปร์กำหนดให้ค่านิยมหลัก 6 ประการเป็นแกนกลางของการจัดการศึกษาและการกำหนดนโยบาย ได้แก่ ก) ความเคารพ (respect) เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ข) ความรับผิดชอบ (responsibility) ประพฤติตนโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตนเองชุมชน ค) ความยืดหยุ่น (resilience) เข้มแข็งเมื่อเผชิญวิกฤต และแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ง) ความมีคุณธรรม (integrity) กล้าหาญ ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง จ) ความเอาใจใส่ (care) มีเมตตาและโอบอ้อมอารี และ ฉ) ความรอมชอม (harmony) ยอมรับความแตกต่างและหลากหลายในสังคม
จากนั้นจึงกำหนดสมรรถนะเชิงสังคม-อารมณ์ (วงกลมสีชมพู) คือ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self-Awareness) ความสามารถในการจัดการตนเอง (Self-Management) ความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ (Responsible Decision-Making) ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคม (Social Awareness) และความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management)
ในที่สุด จึงออกแบบสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 (วงกลมสีแสด) ให้สอดคล้องกับค่านิยมเหล่านั้นด้วย คือมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมโลก มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และคิดได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็น ‘ผลลัพธ์’ แห่งการเรียนรู้ที่ชาวสิงคโปร์คาดหวัง คือเป็นผู้เรียนที่นำการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เป็นผู้มีความมั่นใจตนเอง เป็นพลเมืองผู้ตระหนักรู้ และเป็นผู้เต็มใจอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น (อักษรสีชมพู)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อครูชาวสิงคโปร์ปฏิบัติการสอนในแต่ละวัน พวกเขาจึงมีเป้าหมายชัดเจนว่าเด็กจะนำองค์ความรู้นั้นๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร เมื่อเรียนรู้แล้วจะมีสมรรถนะใดบ้าง ขณะที่ฟินแลนด์เน้นสร้างสมรรถนะทั้ง 7 ของเยาวชนผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์ กล่าวคือให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดปรากฏการณ์ที่ตนสนใจศึกษา และเรียนรู้แง่มุมต่างๆ ของปรากฏการณ์นั้น ผ่านมุมมองที่หลากหลายของสารพัดสาขาวิชา ซึ่งมีหลักการดังนี้
เจตนารมณ์ของวิธีการนี้ไม่ใช่เพื่อทดแทนการเรียนเนื้อหารายวิชา แต่เป็นการมองวิชาต่างๆ ในมุมที่กว้างขึ้น เรายังสามารถศึกษาเนื้อหารายวิชาด้วยการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ได้ด้วย เมื่อผู้เรียนสืบเสาะหาความรู้โดยตั้งตนจากคำถามของพวกเขาเอง ความสร้างสรรค์ก็จะได้รับการปลูกฝังลงไปด้วย …
โดยพื้นฐาน การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นั้นควรไปไกลเกินขอบเขตสาขาวิชาเดียว ปรากฏการณ์ซึ่งกำหนดโดยผู้เรียนถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ ด้วยวิธีนี้ผู้เรียนจะได้พัฒนาโมเดลความคิดที่ยืดหยุ่น การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ช่วยวิเคราะห์ปราฏการณ์ต่างๆ ในโลก เช่น ความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเศรษฐกิจโลก และผ่านกรอบของสาขาวิชาต่างๆ โดยไม่ใช่เพียงการกระโจนลงไปสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นการสร้างความเข้าใจที่มีอยู่เดิมของเราขึ้นมาใหม่ ขณะที่ผู้เรียนทบทวนสมมติฐานที่มีอยู่เดิมด้วยการอภิปราย วาดแผนผังความคิด เขียน หรือวิธีอื่นๆ แล้วไตร่ตรองคำถามที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญจริงๆ พวกเขาก็ได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อื่นๆ อีกมากมายไปด้วย[i]
สอดคล้องกับความกังวลอีกอย่างหนึ่งของผู้แทนจาก OECD คือ อุปสรรคในการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงไม่ใช่อุปสรรคภายในระบบการศึกษา แต่เป็นผู้ปกครองของนักเรียน เพราะโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของหลักสูตรนี้คือจะทำอย่างไรให้ครูสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้น้อยลงได้ โดยที่เด็กสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้นั้นด้วยตนเองได้ดีขึ้น ซึ่งมักจะเป็นปัญหาในสังคมอนุรักษนิยมที่ให้ความสำคัญแก่องค์ความรู้และการเตรียมสอบเป็นพิเศษ หลายประเทศแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ปกครองนั้น “จะรีบร้อนไม่ได้ ดังนั้นจึงผูกการศึกษากับการเมืองไม่ได้ เพราะการพัฒนาการจัดการศึกษาต้องใช้เวลา จะเปลี่ยนแปลงอย่างปุบปับไม่ได้”
สิริกรเห็นด้วยกับความกังวลดังกล่าว และอธิบายว่าขั้นตอนการสร้างความเข้าใจในปัจจุบันยังดำเนินต่อไป ไม่เพียงกับครูและผู้ปกครองเท่านั้น แต่รวมถึงกับมหาวิทยาต่างๆ ด้วย เพราะหากความคาดหวังของแต่ละมหาวิทยาลัยต่อองค์ความรู้ของเด็กยังคงเดิม การปฏิรูปการศึกษาก็ไม่อาจไปได้ไกลกว่านี้
ไกรยสยอมรับเช่นกันว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะไทยต้องการเวลาเพื่อหยั่งรากและสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องอีกมาก “คุณต้องการวัฒนธรรมแห่งความเข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เรายังมุ่งไปข้างหน้าด้วยนโยบาย และยังผลักหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่สังคมไม่ได้ ตลอดจนไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม การผสานองค์ความรู้กับการสนับสนุนจากสังคมในอัตราส่วนที่เหมาะสมคือความก้าวหน้าที่เราพยายามไปให้ถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสังคมและผู้กำหนดนโยบาย และเราจะพยายามหาวิธีใหม่ๆ เพื่อให้การปฏิรูปนี้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนต่อไป”
วิจารณ์เห็นด้วยกับไกรยส และเสริมว่ากองทุนได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนโรงเรียนในการปรับใช้หลักสูตรอย่างมหาศาล ด้วยหวังว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากบนลงล่าง “เราเริ่มต้นจากการฟังครูให้มากๆ พยายามสร้างสายสัมพันธ์ด้วยความปรารถนาดี สื่อสารว่าเราจะนำแนวคิดใหม่ๆ ทรัพยากรใหม่ๆ มาให้โรงเรียน แต่เราต้องฟังโรงเรียนด้วยว่าโรงเรียนกำลังพยายามทำอะไรดีๆ ให้เด็กๆ และชุมชนอยู่หรือเปล่า จากนั้น เราที่เป็นคนนอกของชุมชนการเรียนรู้นี้จึงเข้าไปแทรกแซง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลดี และทำให้เกิดสายสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนกับทีมวิจัยของเรา”
โดยเขาหวังว่า เมื่อเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อย่างโรงเรียนได้แล้ว ก็จะขยายวงแห่งความร่วมมือไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาการผลิตครูรุ่นถัดไปได้ กระนั้น วิจารณ์เองก็เห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังต้องเรียนรู้อยู่มาก
อันเดรอัสจึงส่งท้ายการเสวนาอย่างคมคายว่า “คุณมีประเด็นและความตั้งใจที่ดีแล้ว แต่อาจจะรอให้สังคมมาสนับสนุนคุณเท่านั้นไม่ได้ เพราะนั่นไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้อง คุณต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่าหลักสูตรใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของลูกหลานของพวกเขาอย่างไร และการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ปกครองของเด็กคือหนทางที่ดีที่สุดในการจูงใจพวกเขา”
“พวกเขาอาจไม่ได้อยู่บนยอดพีระมิดของนโยบายนี้ แต่ก็เป็นครูของเยาวชนของเราเหมือนกัน พวกเขาได้ยินทุกรัฐบาลให้คำสัญญาว่าจะปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่มีใครทำให้พวกเขาเชื่อถือได้ ดังนั้น หากคุณดึงผู้ปกครองเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาได้ พวกเขานั่นเองที่จะเป็นกำลังสำคัญของการปรับใช้หลักสูตรนี้ กระทั่งการเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จ”
ปัจจุบัน หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับช่วงชั้นที่หนึ่งที่ประกอบด้วย 7 สาระการเรียนรู้ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักการศึกษาจำนวนไม่น้อยว่าสับสน ไม่สามารถพัฒนาสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 และบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีสำนึกประชาธิปไตยได้จริง ซึ่งหากการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างราบรื่นต้องอาศัยการสนับสนุนจากสังคม ตลอดจนความร่วมมือในระยะยาวระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในระบบการศึกษา ประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาหนทางแก้ไขต่อไป
[i] จากหนังสือ Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์ (สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป, 2563)