แก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของประเทศไทย

แก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของประเทศไทย

ชีวิตของเด็กไทยเกือบ 2 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้กลับซ้ำซ้อนมากขึ้นเมื่อวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม การจะนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วกลับมาสู่การเรียนรู้อีกครั้งจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

แต่โจทย์ที่ท้าทายที่สุดนี้คือ “กุญแจดอกสำคัญ” ที่จะปลดล็อกปัญหาทั้งหมดของประเทศ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบหรือเล็กกว่านั้น เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นทางและใช้เงินน้อยที่สุด ที่ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์แต่คือการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด

เพราะถ้าเด็กจำนวน 1.9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา สามารถที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับที่มีศักยภาพสูงสุด นั่นหมายถึงจำนวนของฐานกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นและฐานภาษีที่กว้างกว่าเดิม ซึ่งทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์ไปด้วยกัน ซึ่งต่อยอดไปลงทุนสร้างประเทศให้ดีขึ้นอีก 

เพราะฉะนั้นแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็น “การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด”

กลไกการจัดการเชิงพื้นที่ นวัตกรรมด้านการเงินที่มากกว่าการลงทุน

แต่มักมีคำถามอยู่เสมอว่าประเทศไทยมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทำไมยังมีเด็กเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ? 

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอธิบายในประเด็นนี้ว่า ในครัวเรือนรายได้น้อยใต้เส้นความยากจน พวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมายระหว่างทางที่มาโรงเรียน ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ หรือในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร เมื่อเด็กจบการศึกษาช่วงชั้นหนึ่งต้องย้ายโรงเรียน เขาต้องเดินทางไกลขึ้น หลายคนจึงหลุดไปในช่วงรอยต่อการศึกษาตรงนี้ นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกกลุ่มที่ต้องหยุดเรียนไปทำงานหาเลี้ยงคนที่บ้าน หรือไปช่วยครอบครัวทำงาน ซึ่งทำให้ค่อย ๆ ทยอยหลุดออกจากการศึกษาไปเงียบ ๆ

“ในแต่ละปี กสศ. ได้รับงบประมาณคิดเป็น 1% ของงบประมาณการศึกษาของประเทศทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลให้เด็กที่มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนได้ เราจึงต้องมีภาคีภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน และสร้างกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area based Education :ABE) โดยใช้โจทย์และบริบทของพื้นที่เป็นฐานในการทำงาน เพราะการจะลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เราต้องมีทรัพยากรครอบคลุม” 

จึงเกิดเป็น “นวัตกรรมความร่วมมือ” ที่ กสศ.เป็นกลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในหลักการ All  for Education หรือปวงชนเพื่อการศึกษา เพื่อให้ทุกๆคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

หนึ่งในนั้นคือโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนระยะยาว 3 ปี โดยกสศ.ได้รับความร่วมมือจากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการ Zero Dropout ครั้งแรกในเอเชีย! ผ่านบัญชี Escrow Account ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อ “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ซึ่ง กสศ. จะมีการจัดทำแผนรายปี และเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ Zero Dropout ในไม่เกินปีละ 3 ครั้ง

นับถอยหลัง 3 ปี “เด็กออกนอกระบบเป็นศูนย์”

เป้าหมายของโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” มีความท้าทายอย่างมากเพราะได้ตั้งเป้าให้เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) และเด็กที่ถึงเกณฑ์ ต้องพร้อมเข้าเรียน ป.1 ได้ 100% 

โดยมีแผนดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2565 นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ สวนผึ้ง จอมบึง และบ้านคา จากนั้นในปี 2566 จะขยายไปอีก 4 อำเภอ และในปี 2567 อีก 3 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัย และเด็กนอกระบบกว่า 11,200 คนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีให้เป็น “ศูนย์” 

ลำดับการทำงานที่ท้าทายนี้เริ่มจากโจทย์ที่ 1. ในปีแรกมุ่งไปเรื่องการค้นหาเด็กที่ไม่มีตัวตนในระบบการศึกษา จากการประกบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับฐานข้อมูลของต้นสังกัดทางการศึกษา จากนั้นลงพื้นที่เก็บข้อมูล พูดคุยสื่อสารความต้องการ และนำกลับสู่ระบบ

2.เมื่อพาเด็กกลับไปแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้หลุดซ้ำ จึงต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือที่เริ่มจากในโรงเรียน สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การเรียน รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ครัวเรือน จนถึงโรงเรียน ให้เกิดเป็นระบบนิเวศในการรักษาดูแลและส่งต่อเด็กให้ไปได้สูงที่สุดตามศักยภาพ จนเขาสำเร็จเป็นคนรุ่นต่อไปที่มีงานทำ เป็นคนรุ่นต่อไปในจังหวัดราชบุรีที่สามารถพัฒนาชุมชนตนเองได้

3.คือโมเดลการทำงานจะไม่เริ่มและจบลงเพียงแค่จังหวัดเดียว แต่ต้องขยายออกไปให้เป็นกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน รองรับเด็กเสี่ยงหลุดหรือที่จะหลุดจากการศึกษาในอนาคตได้ ดึงความร่วมมือจากภาคเอกชนอื่น ๆ เข้ามาในแพลตฟอร์มที่จะช่วยระดมทรัพยากรเพิ่มเติม และต่อยอดเป็นข้อเสนอนโยบายในระดับประเทศได้

“จะเห็นได้ว่าเงินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 จะถูกใช้ในโจทย์ข้อที่ 1 แต่โจทย์ข้อที่ 1 จะไม่ยั่งยืนถ้าไม่มีการทำงานข้อที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะข้อที่ 3 ที่หวังว่านวัตกรรมการลงทุนนี้จะไม่จบที่จ.ราชบุรี แต่จะทำให้ให้เกิดกลไกแบบเดียวกันที่จังหวัดอื่นๆ หรือมีเอกชนเจ้าอื่นๆลุกขึ้นมาทำตรงนี้ด้วยเช่นกัน” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย


*หุ้นกู้แสนสิริ เปิดขายวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านแอป ฯ SCB EASY ตั้งแต่เวลา 8.30 เป็นต้นไป สามารถลงทุนขั้นต่ำได้ที่ 1,000 บาท และหลังจากขายหมดทุกหุ้น เงินทั้งหมดจะเข้าสู่การดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ ในบัญชี escrow โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จากนั้นจะส่งตรงไปยัง กสศ. เพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อไป