เลขาฯ พระปกเกล้า ย้ำท้องถิ่นมีความพร้อมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เชื่อมั่นในจุดแข็งทั้งความยืดหยุ่นและอิสระในการออกแบบการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ เดินหน้าสู่เป้าหมายความเท่าเทียม พร้อมจับมือ กสศ. เป็นกำลังเสริมช่วยเหลือ
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในหัวข้อ ‘โจทย์ใหม่ท้องถิ่นไทย : การเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา’ โดยระบุว่า ปัญหาที่เป็นรากลึกของสังคมไทยคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจเป็นคานงัดสำคัญที่จะทำให้เราสามารถทำให้เรื่องอื่นขยับตัวได้ดีขึ้น โดยความเหลื่อมล้ำมีมิติการมองสองเรื่องคือ 1. การทำให้ทุกคนมีโอกาสที่ใกล้เคียงกันพูดถึงเรื่องการศึกษาคือทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนไม่ปิดกั้นบุคคลใด และ 2. ความสามารถในการใช้โอกาสเพราะทุกคนมีโอกาสแต่ไม่ใช่ว่าจะใช้โอกาสได้เท่ากันยกตัวอย่างเช่นเด็กทุกคนจบประถมมีโอกาสเรียนต่อมัธยมทุกคนเพราะมีโรงเรียนให้แล้ว แต่ความสามารถในการใช้โอกาสไม่เท่ากัน เพราะบางคนต้องประกอบอาชีพเลี้ยงพ่อแม่พิการ
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเปิดเผยอีกว่า มิติการมองเรื่องความเหลื่อมล้ำต้องมองทั้งสองด้าน ทั้งมิติเสนอทางเลือกโอกาสให้เขาได้รับประโยชน์ และการไปค้นหาข้อจำกัดของเขาว่าเพราะเหตุใดเข้าเรียนไม่ได้ ขอย้ำว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้แปลว่าทำให้ทุกคนเท่ากัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนเท่ากัน แต่จะช่วยลดความแตกต่างช่องว่างของการได้รับโอกาสและการเข้าถึงโอกาสให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกัน ไปดูว่าคนในพื้นที่เข้าถึงหรือไม่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำควรเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ของยุทธศาสตร์ชาติที่จะเข้าไปแก้ไข ทั้งมิติสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ ความยุติธรรม การประกอบอาชีพ
โดยสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนและซับซ้อนมากขึ้นเ เช่น การเรียนออนไลน์ของเยาวชนแต่ละคนขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์แทบเล็ต ไว-ไฟ หรือคุณภาพการเรียนการสอนที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการเรียนออนแฮนด์ ออนไซต์ ออนไลน์ ซึ่งไมได้เข้าถึงทุกคน หน้าที่ของท้องถิ่นคือเข้าไปหาฐานข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงคุณภาพการศึกษาผ่านการเรียนออนไลน์ ที่ไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้เท่าห้องเรียนจริง ๆ บางครั้งการจัดการเรียนออนไลน์ด้วยความไม่ถนัดของครูก็เป็นปัญหาซ้ำเติม โควิดทำให้เราต้องกลับมาคิดเรื่องการจัดการศึกษาทีลึกขึ้นและค้นหารายละเอียดมากขึ้นในการทำงาน
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า ถามว่าทำไมท้องถิ่นต้องเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเพราะท้องถิ่นมีความรับผิดชอบใน 3 ทาง คือ 1. ความรับผิดชอบทางกฎหายอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.กำหนดให้ท้องถิ่นต้องทำหน้าที่เรื่องการศึกษา คุณภาพชีวิต 2. ความรับผิดชอบทางสังคม ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องลูกหลานคนในชุมชน และ 3. ความรับผิดชอบทางการเมืองงานท้องถิ่น เป็นเรื่องของอาสาสมัครไม่มีใครบังคับทำให้ท้องถิ่นตอบสนองต่อปัญหาได้เร็ว ความรับผิดชอบนี้มากกว่าความรับผิดชอบของส่วนราชการที่มีแค่ความรับผิดชอบตามกฎหมาย ดังนั้นท้องถิ่นจึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะหากแก้ได้ก็จะแก้ปัญหาอีกหลายเรื่อง
“ทำไมท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา เดิมเราอาจคิดว่าโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนชั้นสอง แต่ตอนนี้มีโรงเรียนเทศบาลที่เหนือกว่าโรงเรียน สพฐ. จำนวนมาก จากการการประเมินจัดการศึกษา โรงเรียนของท้องถิ่นอยู่ในอันดับที่ดีกว่าโรงเรียนของกระทรวง ท้องถิ่นสามารถเข้ามาจัดการศึกษาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยท้องถิ่นมีต้นทุนทางสังคมที่ดี มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น การศึกษาเป็นบันไดการเคลื่อนตัวของสังคม คนยากจนด้อยโอกาสถ้ามีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีจะมีโอกาสขยับฐานะทางสังคมได้” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังมีความยืดหยุ่น และมีอิสระในการใช้ทรัพยากรทางการบริหารและมีความยืดหยุ่นที่จะออกแบบเป้าหมายได้มากกว่ากระทรวงศึกษาธิการ เรามีหลักสูตรแกนกลางแต่จะออกแบบหลักสูตรอีกหลายเรื่องให้สอดรับกับท้องถิ่นควรมีความรู้เข้าใจเรื่องใดเป็นพิเศษ และการจัดการศึกษาเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่น สามารถนำปัญหาในชุมชนเป็นตัวตั้งเชื่อมกับการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก ท้องถิ่นสามารถขยายปรัชญาการศึกษาเพื่อสร้าง Education for All หรือ การจัดการศึกษาที่ครอบคลุมทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น ตอนนี้มีการพูดถึงเรื่อง Upskill Reskill มากขึ้น และ All for Education ขยายการเรียนรู้มากว่าในห้องเรียน การศึกษาของท้องถิ่นช่วยลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นได้ การศึกษาคือคานงัดสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า เป้าหมายของการศึกษาท้องถิ่นในปัจจุบันคือการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทุกคนต้องได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ Education for Equalization รองรับทุกคนให้ได้เรียนไม่ให้มีใครหลุดไป โรงเรียนเทศบาลไม่มีสิทธิเลือกรับเด็ก ไม่ว่าจนหรือรวยต้องได้เรียน ระดับที่สองคือการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ อาจเลือกบางโรงเรียนพัฒนาเป็นโรงเรียนเพื่อความเป็นเลิศในบางด้านเช่น ดนตรี กีฬา หัตถกรรม การเดินทางทางการศึกษาของท้องถิ่นมีสองระดับ ระดับแรกคือทำให้เกิดความมเสมอภาคและเพื่อความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ เราสามารถกำหนดเป้าหมายได้ ถ้าเราทำได้ดีจะสร้างอนาคตได้ดี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาท้องถิ่นทำเรื่องการศึกษาอยู่แล้วทั้งการจัดการศึกษา การสนับสนุนอาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียน การเรียนเสริม โดย ปี 2563 มีอปท. ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น 48 แห่ง แต่ต้องถามว่าทำครบถ้วนหรือยัง ท้องถิ่นทำอะไรได้อีก เช่น 1. Coverage คือต้องไปดูว่ามีใครตกสำรวจ ทำให้ครบถ้วนเด็กทุกคนต้องเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา 2. Deepening ทำให้ลึกขึ้น และ 3. กำหนดเป้าหมายการศึกษาท้องถิ่นคือเรื่องความเสมอภาคและความเป็นเลิศ สรุปท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ โดยเริ่มจากกำหนดเป้าหมาย กำหนดแนวทางที่เหมาะสม และสร้างระบบเอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษาผนวกกำลังชุมชนในท้องถิ่น ผู้ปกครองชุมชนควรเป็นหุ้นส่วนวนในการตัดสินใจทิศทางการศึกษาควรเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังมี กสศ. ที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและรวมพลังท้องถิ่น จะเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการพัฒนา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ และสถาบันพระปกเกล้าจะร่วมพัฒนาท้องถิ่นต่อไปโครงการนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ช่วยกันเติมเต็ม หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้ท้องถิ่น 5,000-6,000 แห่งได้เกิดการเรียนรู้ นำไปรับใช้ในพื้นที่ ทางสถาบันพระปกเกล้าและ กสศ. พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกันต่อไป