ผลสำรวจเผยครูมีบทบาทต่อการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กหญิง
โดย : Open Access Government
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผลสำรวจเผยครูมีบทบาทต่อการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กหญิง

ผลการสำรวจศึกษาของ Global Education Counselling (GEC) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษพบว่าในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่โรงเรียนในอัฟกานิสถาน กานา และเซียร์ลาเลโอน ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ครู มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงในพื้นที่

โดยรายงานผลการศึกษาระบุว่า 85% ของครูใน 3 ประเทศดังกล่าวมีบทบาทอย่างมากต่อการช่วยไม่ให้เด็กหญิงหลุดจากระบบการศึกษา โดยนอกจากต้องทำหน้าที่หลักอย่างการสอนแล้ว ครูเหล่านี้ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการจัดหาการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการปกป้อง และการดูแลอภิบาลแก่เด็กผู้หญิง ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมักจะคาดหวังให้เด็กผู้หญิงทำงานบ้านหรือหารายได้ หรือแต่งงาน มากกว่าที่จะเรียนหนังสือ

รายงานอธิบายว่า ครูหลายคนได้รับ “บทบาทด้านมนุษยธรรม” ในช่วงปิดโรงเรียนโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการศึกษาของเด็กผู้หญิง ตลอดจนให้การรักษาพยาบาลและการป้องกัน รวมถึงการพยายามปรับปรุงการศึกษาของเด็กหญิง ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการช่วยไม่ให้สถานการณ์ทางการศึกษาเลวร้ายมากไปกว่าเดิม โดยทั้งอัฟานิสถาน กานา และเซียร์รา เลโอน ถือเป็น 3 ประเทศที่มีอัตราเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด 

การศึกษาในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามศึกษาผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อกลุ่มเด็กหญิงชายขอบ รวมถึงบทบาทของนักการศึกษาที่ทำงานให้กับโครงการเหล่านี้ ซึ่งนักวิจัยพบว่า การปิดโรงเรียนทำให้บทบาทของครูมีความสำคัญมากกว่าเดิมที่เคยเป็นมา เพราะครูต้องรับหน้าที่เป็นทั้งครู ที่ปรึกษา นักจิตวิทยา ตลอดจนเป็นผู้ดูแล และเจ้าหน้าพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้กับเด็กหญิงทั้งหลายในการดูแลของตน 

จากการสัมภาษณ์ครูและการเก็บข้อมูลจากโครงการภายใต้ทุนสนับสนุนของ GEC 10 โครงการโดยอาศัยฐานข้อมูลที่ใช้เครือข่ายครู อาสาสมัคร และ ‘ผู้อุปถัมภ์’ – เช่นเดียวกับผู้ให้คำปรึกษา – เพื่อตอบสนองความท้าทายที่ซับซ้อนในการสนับสนุนเด็กผู้หญิงในชุมชนที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ ห่างไกล และมักจะอยู่ในเขตสงครามล่าสุดหรือปัจจุบัน พบว่า  ประเทศที่ได้รับเลือกในการศึกษาวิจัย เป็นผลจากการที่ประเทศเหล่านั้นมีโอกาสในการลงทะเบียนเรียน การบรรลุผล และโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงอยู่ในระดับต่ำ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลง เนื่องจากครอบครัวต่างคาดหวังให้เด็กผู้หญิงทำงานบ้านหรือหารายได้ หรือแต่งงาน มากกว่าที่จะยอมให้เด็กได้เรียนหนังสือ 

นอกจากนี้ โปรแกรมการเรียนรู้ทางไกลยังเข้าถึงเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้เช่นกัน ซึ่งเด็กหญิงมักไม่มีคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และวิทยุ และในบางกรณีถึงกับอยู่ห่างไกลในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น ในกานา นักเรียน 80% ที่สัมภาษณ์ทราบว่าบทเรียนทางทีวีกำลังออกอากาศในประเทศของตน แต่มีเพียง 34% เท่านั้นที่สามารถรับชมได้ นอกจากนั้นส่วนใหญ่ไม่มีทั้งทีวีและไฟฟ้า

ศาสตราจารย์พอลีน โรส (Pauline Rose) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการเข้าถึงและการเรียนรู้ที่เท่าเทียม (REAL) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และหนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า “เมื่อโรงเรียนปิดตัว โครงการ GEC ได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่เป็นความคิดริเริ่มด้านการศึกษาเท่านั้น แต่คำนึงถึงบทบาทด้านมนุษยธรรมของครูอีกทางหนึ่ง หากไม่มีสิ่งนี้ ผลกระทบของการระบาดใหญ่ต่อการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิงอาจรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะครูเปรียบเสมือนคู่หูที่นักเรียนหญิงสามารถไว้ใจได้ 

รายงานระบุอีกว่า ครูหญิงจะมีบทบาทในการปกป้องและได้รับความไว้วางใจมากกว่าครูชาย โดยครูหญิงเหล่านี้ช่วยแนะนำนักเรียนที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการชุมชนหรือสังคม ในขณะที่หลายคนได้แจกจ่ายข้อมูลด้านความปลอดภัยของไวรัสโควิด-19 และส่งจัดอุปกรณ์ PPE กระจายไปทั่วชมุชน ขณะที่ครูอีกหลายคนยังคอยให้ความช่วยเหลือกุล่มหญิงมีครรภ์ และให้การสนับสนุนดูแลนักเรียนที่เป็นโรคลมบ้าหมู

ผู้จัดการโครงการยังแจกจ่ายโทรทัศน์และเครื่องแปลงสัญญาณให้กับครัวเรือนเพื่อให้นักเรียนดูบทเรียน และให้ครูได้รับโทรศัพท์มือถือเพื่อให้สามารถติดต่อพูดคุยกับนักเรียนเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ  ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่มีปัญหากับการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ทางครูยังได้รับการเตรียมความพร้อมด้วยการฝึกอบรมพิเศษในด้านความรู้ที่สำคัญอื่น ๆ เช่น การปฐมพยาบาลทางจิตวิทยา การจัดการความเครียด การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี และการบรรเทาอาการโควิด-19 ในเบื้องต้น 

เด็กหญิงชาวอัฟกันคนหนึ่งในรายงานกล่าวว่า “การขาดคำแนะนำทำให้เราไม่สามารถเรียนหนังสือได้ เราจึงอ่านบทเรียนของเราได้ไม่ดีพอ ดังนั้น การที่ครูโทรมาจึงช่วยเรื่องเรียนได้อย่างมาก” 

นอกจากนี้ ครูยังได้รับฝึกอบรมทักษะในการให้ความคุ้มครองเด็กและความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อตอบสนองต่อความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน เซียร์ราลีโอน ที่พบว่า 19% ของเด็กผู้หญิงและ 20% ของพี่เลี้ยงหญิงรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งแค่เพียงเขตเดียวก็มีอัตราความรุนแรงต่อเด็กหญิงและเพศหญิงเพิ่มขึ้นถึง 38% 

ครูที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมทำให้สามารถปรับปรุงศักยภาพในการทำงานดูแลสวัสดิการของนักเรียน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลก็คือการที่หลายฝ่าย รวมถึงครูเอง ที่มัวแต่ให้ความสำคัญกับนักเรียนจนลืมใส่ใจต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง

“งานเพิ่มเติมที่พวกเขาแบกรับส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเอง นำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน และสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อชีวิตที่บ้านของพวกเขา ดังนั้น ในขณะที่สถานการณ์เริ่มฟื้นฟูจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 เราต้องตรวจสอบว่าความคาดหวังและแรงกดดันเพิ่มเติมเหล่านี้มีความหมายต่อครูและระบบการศึกษาอย่างไร เราควรมองให้ถี่ถ้วนถึงผลกระทบของความเหนื่อยหน่าย การรับสมัคร การรักษาและการฝึกอบรม” ศาสตราจารย์โรสกล่าว 

รายงานนี้จัดทำขึ้นสำหรับสำนักงานต่างประเทศ เครือจักรภพและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ซึ่งประเมินด้านความท้าทายทางการศึกษาของเด็กหญิง หรือ ‘Girls’ Education Challenge’ (GEC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยให้การศึกษาด้านการรู้หนังสือ การคิดเลข และทักษะชีวิตแก่เด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาสที่สุดในโลกจำนวนหนึ่งล้านคน

ที่มา : 85% of teachers in the Global South provided extra care for girls in education