“หนูตั้งใจว่าอยากพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพและประหยัดเวลาได้มากขึ้น จากเดิมทีลูกไก่ชุดหนึ่ง คนเลี้ยงต้องใช้เวลาราวครึ่งปีถึงเอาไปขายได้ แต่เครื่องมือที่หนูคิด จะทำให้การเลี้ยงไก่บ้านลดเวลาลงมาเหลือแค่ 2-3 เดือน ทั้งยังช่วยให้ไก่แข็งแรงมีคุณภาพเพิ่มขึ้นถึง 95-100% ต่อหนึ่งรอบการเลี้ยง ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงรายได้ และเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้”
‘น้องอั๋น’ กรรณิการ์ วงษ์อินทร์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ชั้น ปวส.3 แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ เจ้าของ ‘รางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่’ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ในหัวข้อ ‘นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน’ พูดถึงแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เธอคิดค้นนวัตกรรมซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท ‘สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ’ ประจำปีการศึกษา 2564
รางวัลที่ได้รับ แน่นอนว่านำมาซึ่งความภาคภูมิใจประดับไว้กับเจ้าของผลงาน แต่น้องอั๋นบอกว่า “ที่ประทับใจยิ่งกว่า คือนวัตกรรมที่เราคิดเริ่มมีเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้จริงแล้ว เพราะมันคือเป้าหมายแท้จริงที่หนูพยายามพัฒนางานขึ้นมา”
จากบ้านที่ห่างไกลถึงวิทยาลัยในตัวเมือง
แม้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้น ‘ชุดอนุบาลลูกไก่อัตโนมัติ’ จะเพียงไม่กี่เดือน แต่หากย้อนมองยังจุดเริ่มต้น ก็กล่าวได้ว่า ‘น้องอั๋น’ แทบจะใช้เวลาเก็บเกี่ยวความรู้ความคิด และสั่งสมแรงบันดาลใจมาทั้งชีวิต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมาในตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่น้องบอกว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเมือง ไร้ซึ่งความสะดวกสบาย
แต่ที่นี่เองที่ทำให้เธอได้มองเห็น และผ่านความยากลำบากต่าง ๆ มาด้วยตนเอง จนวัตถุดิบเหล่านี้ได้หล่อหลอมเป็นความมุ่งมั่นพยายาม ..ก่อนจะบ่มเพาะสุกงอมเต็มที่ ในวันที่แรงสนับสนุนจากทุกสิ่งรอบตัวอยู่ในสภาวะอันเหมาะสม
“ครอบครัวเราทำอาชีพรับจ้างทำสวนทำไร่ เลี้ยงไก่ด้วย ในหมู่บ้านเองก็มีคนเลี้ยงไก่กันอยู่มาก ที่บ้านหนูมีแม่คนเดียวที่มีรายได้ ซึ่งเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 ส่วนพ่อทำงานไม่ได้หลายปีแล้ว เพราะมีอาการแขนขาอ่อนแรงจากการแพ้ยาฆ่าย่า ต้องรับเงินสวัสดิการคนพิการทุกเดือน
“ตอนจะจบ ม.3 แม่บอกว่าถ้าจะเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยคงทำงานส่งเสียไม่ไหว หนูเลยมองถึงการเรียนสายอาชีพ ตั้งใจว่า จบ ปวช. แล้ว จะหางานทำช่วยแม่ให้เร็วที่สุด”
แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อน้องอั๋นได้เข้ามาเป็น ‘นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ
“หนูลองสมัครไปทั้งที่ใจคิดว่าไม่น่าได้ทุน วันประกาศผลก็ไม่รู้ข่าวคราวอะไรเลย โทรศัพท์หนูก็ไม่มี เปิดเทอมเราก็มาเรียนด้วยความคิดที่ว่าจะตั้งใจรีบเรียน รีบจบ รีบทำงาน แต่ผลปรากฏว่าเรามีรายชื่อเป็นนักศึกษาทุน เชื่อไหมคะว่านาทีนั้นความคิดหนูเปลี่ยนเลย เริ่มมีความหวังแล้วว่าจะได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย อีกใจก็คิดว่าหนูจะได้แบ่งเวลาไปให้สิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องได้ด้วย
เปลี่ยนผ่านสู่การค้นพบ ‘ตัวตน’
เมื่อสถานนะเปลี่ยนแปลง เส้นทางที่วาดไว้ว่าจะเดินก็เปลี่ยนไป หลังเป็นนักศึกษาทุน น้องอั๋นทุ่มเทกับกับการเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความหลงใหล พร้อมเปิดรับกับทุกโอกาสที่ยื่นเข้ามา
“หนูพบว่าสัตวศาสตร์เป็นสาขาที่เปิดโลกความรู้ใหม่ ๆ ให้เรา กลายเป็นว่ายิ่งเรียนหนูยิ่งชอบการลงมือปฏิบัติ เพราะมันทำให้เราได้รู้ได้ซึมซับประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านสองมือของเราเอง
“แค่เทอมแรก หนูได้ไปแข่งขันทักษะ ซึ่งใจเราก็พร้อมที่จะลองทุกอย่างอยู่แล้ว ทีแรกก็คิดว่าคงได้แค่เข้าร่วม แต่กลายเป็นว่างานแรกเราได้รางวัลที่ 1 ในการแข่งขันทักษะสัตว์ปีกระดับภาค แล้วไปได้ที่ 7 ในงานระดับชาติกลับมา ตอนนั้นคือดีใจมาก ยิ่งรู้สึกสนุก เหนือสิ่งใดทั้งหมดหนูต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนที่ให้โอกาสและดูแลสนับสนุนอย่างดีในทุกเรื่อง”
‘นวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจน’ ที่ ‘คั้นจากประสบการณ์ชีวิต’
จากปี 1 ถึงปี 3 น้องอั๋นตระเวนลงสนามวัดทักษะอีกหลายรายการ จนไอเดียที่เก็บไว้กับตัวมาตลอด ได้เวลาทำให้เป็นจริง ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2564
“หนูอยากทำ‘ชุดอนุบาลลูกไก่อัตโนมัติ’ ที่จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ลดต้นทุน ได้ผลผลิตคุณภาพ ซึ่งหมายถึงรายได้ตอบแทนที่สูงกว่าเดิม”
“อย่างที่บอกว่าชุมชนที่หนูโตขึ้นมาคนนิยมเลี้ยงไก่กันมาก ทีนี้การเลี้ยงด้วยวิธีที่ทำกันมา หนูมองว่าไก่โตช้ากว่าจะพร้อมจำหน่าย อัตราการตายหรือไม่แข็งแรงก็สูง อย่างลูกไก่ออกมา 15 ตัว จะมีไก่คุณภาพเพียง 5 ตัวเท่านั้น ผลตอบแทนจึงไม่ค่อยคุ้ม เมื่อคำนวณกับแรง เวลา หรือค่าอาหารที่ลงไป”
ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสม น้องอั๋นจึงเริ่มพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพและประหยัดเวลา จนกลายมาเป็น ‘ชุดอนุบาลลูกไก่’ ที่จะช่วยทั้งกกและเลี้ยงลูกไก่ในช่วงอายุ 1-4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยอุปกรณ์ 1 ชุดสามารถดูแลลูกไก่ได้ถึงคราวละ 100 ตัว
กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่นำลูกไก่อายุ 1 วันเข้าระบบชุดกก ในสภาวะควบคุมอุณหภูมิที่คำนวณแล้วว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับการกก ราว 34-35 องศาเซลเซียส จากนั้นชุดเครื่องมือจะดูแลลูกไก่แทนตัวแม่ ให้น้ำให้อาหารลูกไก่ทุกตัวในเวลาและปริมาณที่เสถียร ทำให้ผลที่ได้คือเปอร์เซ็นต์ของลูกไก่ที่สุขภาพดี แข็งแรงพร้อมจำหน่าย ในอัตรา 95-100% จากจำนวนลูกไก่ทั้งหมด ซึ่งสามารถการันตีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร
หลังรับรางวัลระดับจังหวัด น้องอั๋นได้ร่วมกับทางวิทยาลัยนำความรู้และเครื่องมือเข้าไปสาธิตตามชุมชนคนเลี้ยงไก่ในพื้นที่ โดยคิดค่าต้นทุนอุปกรณ์รวมค่าแรงค่าความคิดทั้งหมดเพียง 3, 000 บาทต่อ 1 ชุด และตั้งราคาขาย 4, 000 บาท เนื่องจากต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนวันนี้ นวัตกรรมที่น้องอั๋นคิดค้นได้ขยับไปอีกขั้นสู่การทำงานจริงแล้ว
และนั่นเท่ากับว่า ‘โอกาส’ ของการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนของเธอกำลังยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
“กว่าจะมาถึงขั้นนี้ เราทดลองกันในวิทยาลัยมาหลายครั้งจนแน่ใจ ว่าเครื่องมือนี้สามารถดูแลลูกไก่ในระบบกกเพียงหนึ่งเดือน จากนั้นให้อาหารลูกไก่ต่อเนื่องอีกเดือนกว่า พอสองเดือนกว่าผ่านไป เราก็ได้ไก่ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 1 กิโลกรัม 5 ขีด 100 ตัวพร้อมจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท” น้องอั๋นกล่าว
พัฒนาตัวเอง ยกระดับผลงาน พร้อมเผื่อแผ่โอกาส
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนของชีวิตหลังเป็นนักศึกษาทุน ฯ และความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคต น้องอั๋นบอกว่า สิ่งแรกที่เธอจะมองเห็นก่อนเสมอคือครอบครัว เพราะมีทุน เธอจึงช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ พอมีเงินเก็บ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน ไม่ต้องเป็นหนี้ และแน่นอนว่าเธอได้เรียนหนังสือ จนฝันได้แล้วว่าอนาคตจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และเป็นสัตวบาลให้ได้
ส่วนถ้าไม่มีทุน ฯ เข้ามา ตอนนี้ที่กำลังจะจบชั้น ปวช. เธอก็คงต้องเตรียมตัวหางานทำ และแน่นอนว่าสามปีที่ผ่านมา คงไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ หรือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตได้มากเท่านี้
“ความคาดหวังตอนนี้ หนูแค่รอลุ้นว่าชุดอนุบาลลูกไก่ ฯ จะไปได้ถึงไหนในเวทีระดับภาคหรือระดับชาติ แต่ยังไงก็ตาม ตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาต่อไป อยากทำให้ดีขึ้น ให้นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยเหลือผู้คนได้มากกว่านี้ ส่วนกับตัวเองก็จะพยายามพัฒนาไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมรับทุกโอกาส ทุกเรื่องราวที่จะมาถึง”
“แค่หนูนึกย้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง จากเข้ามาเรียนคนเดียว ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออก แต่เราได้เพื่อนได้อาจารย์ที่เป็นเหมือนครอบครัวคอยช่วยเหลือ จนมาวันนี้เรากลายมาเป็นรุ่นพี่ของน้อง ๆ ที่พอให้คำแนะนำดูแลเขาได้ มันยิ่งทำให้หนูตระหนักว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เมื่อเราได้รับแล้วก็ต้องส่งให้คนอื่น ๆ ต่อไปด้วยค่ะ”