“ครูรัก(ษ์)ถิ่นช่วยเด็กที่ขาดโอกาส เด็กที่เคยถูกมองข้ามอย่างหนูได้รับโอกาส ทำให้หนูได้เรียนต่อ ทำให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแรงผลักดันที่จะก้าวต่อไปด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งจะเป็นเสาหลักให้กับที่บ้าน และเป็นกำลังสำคัญพัฒนาชุมชนช่วยเหลือไม่ให้มีเด็กคนไหนที่ต้องถูกมองข้ามอีกต่อไป ”
นุช – ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 เล่าให้ฟังว่าตั้งใจอยากจะเป็นครูตั้งแต่เด็กเพราะมีครูที่เคยให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่แค่ให้วิชาความรู้แต่ยังดูแลเอาใจใส่ คอยสอนเรื่องการเย็บปักถักร้อย คหกรรมจนเป็นอาชีพติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน จึงคิดว่าสักวันหนึ่งจะเป็นครูมาช่วยสอนเด็กๆ ให้ได้รับโอกาสแบบนี้บ้าง
แต่เส้นทางความเป็นครูไม่ได้ราบเรียนสำหรับ “นุช” เพราะฐานะทางบ้านซี่งมีพี่น้องหลายคน พี่คนโตต้องออกมาช่วยที่บ้านทำงานส่งให้เธอเรียน และคิดว่าถ้าจบม.6 คงจะต้องไปหางานทำที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเห็นประกาศรับสมัครครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงไปสมัครและผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ ทำให้ความฝันใกล้จะเป็นความจริงอีกครั้ง
คนในพื้นที่รู้จักบริบทชุมชน สื่อสารพูดคุยได้เข้าใจมากขึ้น
อีก 3 ปีข้างหน้า “นุช” จะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน จ.กาญจนบุรี ในตำบลบ้านเกิดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายขอบในละแวกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง การเดินทางค่อนข้างลำบาก ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ครูต่างถิ่นที่เข้าบรรจุครบเกณฑ์ก็จะขอย้ายออก
“แต่สำหรับหนูเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว อยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็ก บริบทชุมชนเป็นป่าเขา คนอื่นอาจจะไม่ชิน แต่สำหรับหนูเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือการสื่อสารหนูสามารถสื่อสารภาษากระเหรี่ยงได้ น่าจะช่วยทำให้การเรียนการสอนกับเด็กๆ ง่ายขึ้นกว่าครูจากที่อื่น และยังช่วยสื่อสารกับผู้ปกครอง คนในชุมชนได้เป็นอย่างดีว่าเราจะสอนอะไรลูกเขา ทำให้คุยกันได้ง่ายขึ้น”
นุช เล่าให้ฟังว่า เด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษากระเหรี่ยง เวลาพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด ก็จะไม่กล้าพูด ถ้าได้ครูที่เข้าใจภาษากระเหรี่ยง หรือเข้าใจบริบทชุมชน วัฒนธรรมในพื้นที่ก็น่าจะเข้าถึงเด็ก ๆ ได้ดี โดยเฉพาะเทคนิคการหัดพูดภาษาไทยให้ชัดซึ่งตอนเป็นเด็กเธอจะใช้วิธีการจำจากเพื่อน หรือครู และหัดพูดตามให้ชัด ก็จะเป็นเทคนิคที่นำไปสอนเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่อไป
ปลูกฝังทัศนคติให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
บทบาทของครูรัก(ษ์)ถิ่นในการเข้าไปเป็นนักพัฒนาชุมชนในพื้นที่นั้น “นุช” มองว่าจะเริ่มจากการเข้าไปทำงานกรับผู้นำชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะก่อนที่จะทำอะไรต้องได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนก่อน เมื่อได้รับความไว้วางใจก็จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดี
ปัญหาหนึ่งที่สัมผัสได้ตอนนี้คือเรื่องแนวคิดการให้ความสำคัญกับการศึกษาซึ่งผู้ปกครองคนในชุมชน ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษา ลูกหลานเรียนจบ ป.6 ม. 3 ก็ให้ออกมาทำไร่ ทำสวนช่วยงานที่บ้านหารายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ค่อยส่งไปเรียนต่อระดับสูงที่นอกหมู่บ้าน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ปกครองเองก็มีรายได้ไม่มาก การจะให้ส่งลูกไปเรียนสูงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่จึงให้ลูกออกมาช่วยทำไร่ทำสวน ถ้าได้ไปเป็นครูในพื้นที่ก็อยากจะปรับเปลี่ยนค่านิยม ปลูกฝังเรื่องความสำคัญของการศึกษาให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญว่าถ้าลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็จะมีทางเลือก มีโอกาส มีงานทำที่ดีขึ้น มีชีวิต มีอนาคตที่ดีขึ้น
ตั้งเป้าหมายเป็นครูที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือเด็กในทุกเรื่อง
สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้เด็กค้นพบความถนัดความสามารถของตัวเอง ทำให้เขาเห็นศักยภาพของตัวเองที่จะพัฒนาต่อไป ไม่ใช่แค่เรียนไปวัน ๆ รอจบออกมาแล้วไปทำไร่ทำสวนแค่นั้น แต่เราจะสามารถต่อยอดสนับสนุน หาทุนการศึกษาส่งเขาให้ได้เรียนสูงขึ้นและกลับมาช่วยกันพัฒนาสังคมของเราได้
“ส่วนตัวหนูเองก็เคยเป็นคนที่ถูกมองข้ามมาก่อนเพียงเพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งที่เราก็ทำอะไรได้เหมือนคนอื่นแต่ก็ถูกมองข้าม จนมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มองเห็นหนู ทำให้หนูกลับมามีโอกาสที่จะเดินตามความฝันที่อยากเป็นครูได้อีกครั้ง และหนูจะใช้โอกาสที่ได้รับนี้อย่างดีที่สุด วันหนึ่งที่ได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่ก็จะส่งต่อโอกาสนี้ไปยังเด็กคนอื่นๆ ให้เขาได้มีทักษะความรู้ ดูแลเด็กๆ ทุกคนไม่ให้มีใครที่รู้สึกว่าถูกมองข้าม”
เป้าหมายที่วางไว้คืออยากเป็นครูที่นักเรียนเคารพนับถือ เป็นแบบอย่างที่ดี เด็กเชื่อฟัง แต่ไม่กลัว ควบคุมดูแลได้ แต่ไม่ใช้การบังคับ และเป็นครูที่มีความรู้หลากหลายด้าน คอยช่วยเหลือดูแลเรื่องทุกข์ร้อนใจ คอยให้คำปรึกษาให้กับนักเรียนได้ทุกเรื่อง