ส่องประเด็น Mental Health ของเด็กๆ รวมถึงบทบาทของนักจิตวิทยาในโรงเรียนที่ไทยควรเริ่มมีแล้ว

ส่องประเด็น Mental Health ของเด็กๆ รวมถึงบทบาทของนักจิตวิทยาในโรงเรียนที่ไทยควรเริ่มมีแล้ว

ปี 2565 อาจผ่านมาได้ 2 เดือนแล้ว แต่ประเด็นหลักๆ ที่ดูเหมือนว่าปีนี้แวดวงการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและน่าจะต้องเตรียมรับมือตลอดทั้งปี คือ ประเด็นสุขภาพจิต หรือ Mental Health ของเด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ในการรับมือกับประเด็นสุขภาพจิตในหลายประเทศนั้น ได้มีการชูเรื่องบทบาทนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนร่วมด้วย ในบทความนี้จะขอเน้นพูดคุยเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์สุขภาพจิตในหมู่นักเรียน รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของนักจิตวิทยา ที่โรงเรียนในไทยอาจต้องเริ่มให้ความสำคัญบ้างแล้ว

ผลกระทบจากการเรียนทางไกล ส่งผลต่อสุขภาพจิตและปัญหาอารมณ์-สังคม (Social Emotion) ของเด็ก

การต้องเรียนทางไกล การต้องอยู่หน้าจอมากเกินไป รวมถึงปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ส่งผลให้วัยนี้จะพบภาวะกังวล ความเครียด รวมถึงภาวะอารมณ์ดิ่งที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้มากขึ้น ซึ่งสถิติในปี 2564 ที่ผ่านมา เทรนด์ของหลายประเทศสะท้อนไปทางนั้น โดยช่วงปี 2564 มีสถิติของวัยรุ่นอเมริกันที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการกังวล ซึมเศร้า มีความเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายที่สูงมาก ญี่ปุ่นมีสถิติของนักเรียนฆ่าตัวตายหลังโควิด-19 สูงที่สุดในรอบ 20 ปี ในฝั่งของอังกฤษก็พบว่า ช่วงโควิดมีเด็กประสานขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งยังมีกรณีของการทำร้ายตนเองพ่วงมาไม่น้อย เนื่องจากเด็กอยู่ในสภาพเครียด กดดัน หรือบางคนรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมาก เป็นต้น กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเรียนแบบ Remote Learning ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย การพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กอย่างรุนแรง

ในส่วนของไทยนั้น แม้เราจะยังไม่มีสถิติภาพรวมในเรื่องของผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิตของเด็ก แต่ก็มีงานวิจัยในกลุ่มปฐมวัย (อนุบาล) ออกมาบ่งชี้ว่า การที่ศูนย์เด็กเล็กต้องปิดเป็นเวลา 4 เดือน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสติปัญญา ความจำอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยรู้สึกเครียดและกดดัน ทั้งยังมีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือมีพฤติกรรมน่ากังวลประมาณ 28% ซึ่งนับเป็นสถิติที่น่าตกใจ

ภาวะความเครียด วิตก จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตนั้น ในสถานการณ์ทั่วไปอาจพบได้ในเด็กวัยเรียนบ้างอยู่แล้ว ยิ่งโลกอยู่ในภาวะโรคระบาดยาวนานกว่า 2 ปี ซึ่งนำไปสู่อนาคตที่ไม่แน่นอน สภาวะเช่นนี้ ไม่แปลกที่จะนำกังวลมาสู่จิตใจเด็กๆ ในทุกถิ่นฐานของโลก ซึ่งในมุมนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โรงเรียนควรให้ความใส่ใจแก่เด็กเพิ่มขึ้น โดยอาจเพิ่มการสังเกต พูดคุย รวมถึงมองหาสัญญาณเตือนต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้แก่เด็กๆ รวมถึงแจ้งให้เด็กๆ ทราบช่องทางในการติดต่ออย่างฉุกเฉินหากมีเหตุกังวลใจก็เป็นวิธีที่ดีอีกทาง

นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน : อาจถึงเวลาที่โรงเรียนไทยควรเริ่มมีแล้ว

ปี 2564 ที่ผ่านมา โรงเรียนจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีการพูดถึงการเพิ่มนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน โดยในบางโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำอยู่แล้ว แต่มีการเพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อรองรับกับคลื่นความเครียด ความกังวล และปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักเรียน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 อีกทอดหนึ่ง

ในส่วนของไทยนั้น ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนักจิตวิทยาโรงเรียนของประเทศไทยมีไม่พอ หรือมีจำนวนไม่เยอะเมื่อเทียบกับสัดส่วนของนักเรียน การเพิ่มสัดส่วนของนักจิตวิทยาในรั้วโรงเรียนอาจทำไม่ได้ในเร็ววัน แต่นี่เป็นหนึ่งในประเด็นที่โรงเรียนอาจต้องเริ่มให้ความสำคัญ อาจเป็นแผนการในระยะยาวก็ได้ ส่วนในระยะสั้น ครูในโรงเรียนอาจจะต้องมีส่วนร่วมดูแล ต้องสื่อสารให้นักเรียนรู้ว่ามีความช่วยเหลืออยู่ และเด็กต้องเข้าถึงได้ ต้องหาระบบมาช่วยเหลือดูแล เพราะนับวันนักเรียนยิ่งมีความเครียด โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังอยู่ในพื้นที่ระบาดและต้องเรียนออนไลน์อยู่ หากทำให้การเข้าถึงคำปรึกษา ความช่วยเหลือ เป็นไปอย่างเข้าถึงง่าย จะทำให้เด็กที่มีปัญหาทางจิตใจรู้สึกได้รับการดูแลในระดับเบื้องต้นก่อน ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทา ไม่ทำให้ปัญหารุนแรงจนลุกลามเกินแก้นั่นเอง

ทั้งนี้หากให้ครูมีบทบาทในการดูแลสุขภาพจิตเด็ก สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ การเพิ่มศักยภาพให้ครูประจำชั้นและครูที่ปรึกษา หรือครูแนะแนวที่สามารถให้คำปรึกษาแก่เด็กด้วย เพราะอาจไม่ใช่ครูทุกคนที่พร้อมรับมือ แต่หากได้รับการฝึกฝนและฝึกอบรมก็จะสามารถรับมือได้ดีขึ้นนั่นเอง

ชุมชนที่พร้อมโอบกอด และสายด่วนสุขภาพจิต อีกพื้นที่บรรเทาเยียวยาได้

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในเด็กจากภาวะวิกฤตโควิด-19 นั้น ในไทยอาจเพิ่มพื้นที่บรรเทาเยียวยาหรือช่วยให้คำปรึกษาได้มากขึ้นผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต โดยปัจจุบันไทยก็มีระบบสายด่วนอยู่แล้ว แต่อาจเพิ่มช่องทางสื่อสารอื่นเข้าไปด้วย เช่น ช่องทางออนไลน์ที่ทั่วถึงและเข้าถึงเด็กและครอบครัว นอกจากนี้ ชุมชนที่อยู่รอบตัวเด็กอาจมีส่วนสำคัญที่ช่วยรับฟัง ให้คำปรึกษา รวมถึงโอบกอดจิตใจของเด็กได้ด้วย ดังนั้นการประสานงานระหว่างโรงเรียน ชุมชน และครอบครัว รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของสายด่วนภาครัฐ อาจนับเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรเร่งมือสร้างให้เกิดขึ้น

เพื่อให้เด็กทุกคนยังรู้สึกว่าได้รับการโอบกอดอยู่นั่นเอง

แหล่งข้อมูล :