ปาฐกถา “ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดชีวิตให้แก่ประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส” โดย ดร.​ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ปาฐกถา “ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดชีวิตให้แก่ประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส” โดย ดร.​ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ปาฐกถาโดย ดร.​ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในงานเวทีนโยบาย “โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและ ความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565


ในโลกแห่งการทำงานยุคใหม่ ถือกันว่า “ทักษะ”การทำงาน เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในอาชีพมากยิ่งกว่าปัจจัยเบื้องหลังอื่น ๆ อาทิ ระดับการศึกษาหรือ ใบปริญญา โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัยความชำนาญทางเทคโนโลยีระดับสูง เช่น วงการเทคโนโลยีดิจิตัล ปัญญาประดิษฐ์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ   นอกจากทักษะในการทำงานเชิงเทคนิค หรือ ความรู้ความสามารถ (Hard Skills) แล้ว สิ่งที่เรียกว่าทักษะด้านสังคมอารมณ์ (Socio-Emotional Skills) หรือทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการรักษาอารมณ์จิตใจของตนและคนรอบข้าง ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำงานเช่นกัน

นอกจากนั้นความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน (Adaptation) ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ (Re-Skill) หรือความสามารถในการยกระดับทักษะ (Up-Skill) และความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญ สำหรับผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพของโลกสมัยใหม่ที่มี การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้ใดซึ่งสามารถปรับตัวได้ย่อมใช้ชีวิตในโลกของการทำงานยุคใหม่ ที่จะเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

รายงาน Future of Jobs 2020 ของ World Economic Forum ได้มีการคาดการณ์ว่า ในทศวรรษหน้า จะมีงานกว่า 1.1 พันล้านตำแหน่ง ที่จะถูกเทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนแปลง (Disruption) อย่างสิ้นเชิง

ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของแรงงานหากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ World Economic Forum ในปี 2019 [1] สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั้งหมด 141 ประเทศ ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงถือว่าน้อยเพียงร้อยละ 14 อยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ ทักษะของบัณฑิตจบใหม่ไทย อยู่ในอันดับ 79 และคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา อยู่ในอันดับ 74 โดยในภาพรวมคุณภาพของแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ถือว่าอยู่ในระดับ

[ [1] 2019 เป็นปีล่าสุดที่ WEF ทำการสำรวจแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงไม่ได้สำรวจสถานการณ์ในรอบถัดมา ]

ปานกลาง (อันดับที่ 64 จาก 141 ประเทศ) นอกจากนั้น จากการสำรวจสถิติแรงงานของประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานของไทย มีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา เห็นได้ว่าภารกิจในการพัฒนายกระดับทักษะและการศึกษาของแรงงานไทย ยังเป็นความจำเป็นอันดับต้น ๆ ของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งดำเนินการ ปัญหาคุณภาพของแรงงานไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มขาดทักษะเหล่านี้ ในที่สุดแล้วย่อมส่งผลต่อผลิตภาพในการผลิตของประเทศ และส่งผลทำให้ประเทศไทย มิอาจก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง (High-Income country) ภายในปี พ.ศ. 2580 อันเป็นเป้าหมายสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

การที่ประเทศมีแรงงานที่เป็นกลุ่มทักษะสูงในจำนวนมาก จะช่วยลดค่าดำเนินการทางธุรกิจ ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเกิดเร็วขึ้น และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและนวัตกรรมในประเทศ และจากผลกระทบของตลาดแรงงานในช่วงวิกฤติของโรคระบาด โควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นภาพดังกล่าวได้เด่นชัดยิ่งขึ้น

ในขณะที่แรงงานกลุ่มมีทักษะชั้นสูงหรือผู้ที่สามารถปรับตัวได้เร็ว ยังสามารถได้รับประโยชน์จากการทำงาน การใช้เทคโนโลยี การสร้างอาชีพใหม่ๆ ภายใต้วิกฤติได้ แต่แรงงานไร้ฝีมือ หรือผู้ที่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่า

ท่านผู้มีเกียรติครับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเด็กนักเรียนและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาและการพัฒนา และกลุ่มแรงงานด้อยโอกาส ให้ได้รับการพัฒนาทักษะและศักยภาพในตัวของเขา เพื่อให้สามารถก้าวพ้นกับดักความยากจนแบบข้ามรุ่น (Intergenerational Poverty) และสามารถเป็นประชากรที่มีผลิตภาพในสังคม สามารถเป็นที่พึ่งของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติได้ 

หนึ่งในแนวทางการทำงานของ กสศ. ที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายของประชากรในวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส คือการสนับสนุนกระบวนการของการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ให้แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงแรงงานด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคนในประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้กลุ่มแรงงานด้อยโอกาสและขาดทักษะของประเทศไทย สามารถพัฒนาทักษะของตนให้ก้าวไปสู่ความเป็นแรงงานมีฝีมือ ยกระดับการศึกษาเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ หรือแรงงานฝีมือในชุมชนที่เป็นไปตามศักยภาพและความต้องการ สามารถสร้างอาชีพและรายได้

โดยในปี 2564 กสศ. สามารถเข้าไปยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงานกว่า 8,500 คน ใน 48 จังหวัด โดยใช้การทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายองค์กรพัฒนาอาชีพ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และนำไปสู่การสร้างต้นแบบ (Model) ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการยกระดับการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การประกอบอาชีพ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดขยายผลในระดับท้องถิ่นและนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับธนาคารโลกภายใต้โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment) กสศ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ทำหน้าที่เป็นจุดคานงัด ในการช่วยระดมความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง โครงการนี้จึงเป็นความพยายามสร้างระบบการประเมินทักษะในด้านต่าง ๆ ของแรงงาน ทั้งทักษะด้านการอ่าน การทำความเข้าใจข้อมูล การคำนวณ รวมไปถึงการประเมินด้านทักษะอารมณ์สังคม และการจัดทำสารสนเทศด้านทักษะของประชากรวัยแรงงานไทย 

ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การชี้เป้าหมายของทักษะและกลุ่มประชากรที่ควรเข้าไปพัฒนา โดยเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และธนาคารโลก ตั้งแต่กระบวนการออกแบบการสำรวจ การอบรมภาคีในการสร้างแบบทดสอบ การลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยเป็นการสำรวจจังหวัดตัวอย่าง 45 จังหวัดทั่วประเทศจากทุกภูมิภาค รวมถึงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  โดยใช้เครื่องมือและกระบวนการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานระดับสากล ถือเป็นการประเมินทักษะแรงงานในระดับภาพรวมของประเทศ โดยใช้มาตรฐานระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และสามารถนำผลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับทักษะและคุณภาพของแรงงานไทยกับประเทศอื่นได้

ผลผลิตจากความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลและงานวิจัยเพื่อถอดบทเรียนจากผลการประเมินทักษะแรงงาน ทั้งทักษะที่เป็น Hard Skills และ Soft Skills  อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกลยุทธ์ด้านการพัฒนายกระดับทักษะของวัยแรงงาน ทั้งในภาคการศึกษาเพื่อวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอน การผลิตนักศึกษา  ด้านระบบการอบรมของภาคธุรกิจเอกชนในการจัดเตรียมแนวทางการจัดการศึกษาหรือพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อแรงงานกลุ่มต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแรงงาน ตลอดจนทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลสมรรถนะแรงงานที่น่าเชื่อถือและนำไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจได้ จนกระทั่งถึงระดับนโยบายและการวางแผนในการผลิตแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ในระดับประเทศ

ปัจจุบัน โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหมุดหมายของกิจกรรมสำคัญ (Big Rock) ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้หวังได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีระบบการประเมินทักษะของแรงงานในระยะยาว อันจะสามารถนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนายกระดับทักษะแรงงานไทยได้

สุดท้ายนี้ การดำเนินงานของ กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก ภาคีทั้งภาครัฐและ ภาคเอกชน เพื่อร่วมมือกันยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของแรงงานไทย ถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการเสริมสร้างคุณภาพทุนมนุษย์ให้แก่ประชากรไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ในการศึกษาวิเคราะห์ ชี้เป้าที่ควรทำ เพื่อจะนำไปสู่การวางนโยบายที่มีประสิทธิผล อันจะนำไปสู่การหลุดออกจากวงจรแห่งความยากจน การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคมและเป็นการวางรากฐานสำหรับการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางของประเทศด้วยต่อไป