จากถ้อยแถลงของ ออง ยี คัง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ เรื่องความสำคัญของโครงการ Skills Future for Educators ต่อที่ประชุมพิจารณางบประมาณประจำปีของรัฐสภา ที่มีใจความว่า “ปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ที่เราทำไปก็คือครูของเรา ผมคิดว่าเรามีคณะครูผู้สอนที่ดีที่สุดในโลก ที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของเราสำเร็จได้ หลายปีที่ผ่านมา เราทำการคัดสรรครูที่เก่งมากมายมาร่วมงาน หลายท่านเข้ามาเพื่อต้องการช่วยให้บรรลุภารกิจทางการศึกษาอันสูงส่ง อันจะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศของเราต่อไปในอนาคต หลังจากคัดเลือกครูไปแล้ว เราจำเป็นต้องลงทุนส่งเสริมความสามารถทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง”
ซึ่งนำมาสู่การสำรวจครูทั้งประเทศ ว่าในภูมิทัศน์การศึกษาที่เปลี่ยนแปลง ‘ทักษะ’ (skill) ประเภทใดที่ครูต้องการพัฒนามากที่สุด จนได้ออกมาเป็นทักษะ 6 ประการ คือ
1.ทักษะและความรู้เรื่องการประเมิน “เพราะขณะที่ภาระการสอบลดลง ครูเองก็ต้องการการเรียนรู้เพื่อใช้เครื่องมือในการประเมินโครงงาน แบบทดสอบ หรือการนำเสนอในชั้นเรียน ฯลฯ”
2.การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ “ครูต้องการความสามารถในการออกแบบและจัดการสอน ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้เชิงรุกมากขึ้น เพื่อสำรวจสิ่งที่เรียน ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง”
3.ออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับความแตกต่างหลากหลาย “เมื่อในห้องเรียนมีความหลากหลายมากขึ้น ครูต้องหาจุดแข็งและความต้องการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันได้”
4.สนับสนุนนักเรียนที่ต้องการการศึกษาพิเศษ “มีนักเรียนประมาณ 80% ในโรงเรียนทั่วไปที่ต้องการการศึกษาพิเศษ ครูต้องมีความเข้าใจนักเรียนมากขึ้น และสนับสนุนนักเรียนได้ดีขึ้น
5.ปรับศาสตร์การสอนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล (e-pedagogy) อย่างมีประสิทธิภาพ “โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้กับ NDLP หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติ”
6. การสอนเพื่อไปสู่ ‘CCE’ หรือ การศึกษาเพื่อสร้างคุณลักษณะและความเป็นพลเมือง “เพื่อทำให้ทุกประสบการณ์ในโรงเรียนเป็นบทเรียนสู่การสร้างคุณลักษณะและความเป็นพลเมือง”
และการกำหนดแนวทางวิชาชีพด้วยตนเองนี้ ก็ได้กลายมาเป็นปรัชญาสำคัญของ ‘Skills Future’
1 ‘การเรียนรู้เพื่อชีวิต’
ลี ยาน เคง ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนพัฒนาอาชีพ สาขา 1 หรือ Acadamy of Singapore Teachers(AST) กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ เผยภาพภูมิทัศน์การศึกษาของประเทศสิงคโปร์ว่า ปัจจุบัน สิงคโปร์มีครูทั้งหมด 33, 000 คน ในโรงเรียน 446 แห่ง และมีต้นทุนการศึกษาราว 13.62 ล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็น 3% ของ GDP
ที่ผ่านมา สิงคโปร์ใช้วิธีการสรรหาครูผ่านการคัดเลือกหลายระดับ และมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการพัฒนาระบบการศึกษาหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ความต้องการตั้งหลักในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นเรื่องเทคนิควิชาชีพ จนเมื่อเศรษฐกิจเติบโต จึงเน้นการฝึกทักษะสร้างฐานความสามารถ ที่คำนึงถึงความถนัดและความปรารถนารายบุคคล โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ปูทางสู่ ‘การเรียนรู้เพื่อมีชีวิตอยู่’ ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเทคโนโลยี ความซับซ้อนทางสังคม และโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นในทุกด้าน
เพราะภารกิจด้านการศึกษาของประเทศสิงคโปร์คือการหล่อหลอมพัฒนาประเทศ การศึกษาจึงต้องเน้นในเรื่องสมรรถนะ และสนับสนุนความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อยกระดับคนทุกคนทั้งในด้านสังคมและการงานอาชีพ
ปี 2018 สิงคโปร์เริ่มปฏิรูปการศึกษาด้วยระบบ ‘การเรียนรู้เพื่อชีวิต’ โดยเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แตกแขนงโครงสร้างกลุ่มวิชา มุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม สร้างความแข็งแกร่งทุกด้าน และปลูกฝังคติเรียนรู้ด้วยความเบิกบาน
มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้เรียนที่ต้องการการศึกษาพิเศษ โดยครูจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุน และได้รับการพัฒนาการสอนตามหลัก Skill Future ซึ่งเป็นการสนับสนุนความสามารถ เพิ่มพูนวิธีการและคุณภาพของครูในการจัดการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและการศึกษาทางไกล
2 ‘การพัฒนาคุณภาพครูคือต้นทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา’
ด้วยการพัฒนาที่วางตำแหน่งไว้ให้ ‘ครู’ เป็น ‘แกนกลาง’ ในระบบการศึกษา จึงจำเป็นต้องสร้างครูคุณภาพสูง มีภาวะผู้นำ สามารถบูรณาการความสอดคล้องของกลุ่มวิชาอื่น ๆ โดยครูในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการอบรมเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งในช่วงก่อนและหลังเข้าทำงาน เพื่อให้มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการสอนให้ทันสมัยตลอดเวลา
นอกจากนี้ในแง่ของปัจจัยด้านอาชีพ ครูต้องได้รับเงินเดือนที่สามารถแข่งขันกับอาชีพอื่นได้ มีการปรับฐานรายรับที่สอดคล้องกับกลไกเศรษฐกิจ และมีช่องทางให้พัฒนาตนเองได้ตามความชำนาญ
ครูทุกคนในประเทศสิงคโปร์จะเริ่มต้นเส้นทางอาชีพที่ ‘สถาบันการศึกษาแห่งชาติ’ ตั้งแต่การสรรหา คัดเลือก สัมภาษณ์ บรรจุ เข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ สังเกตเรียนรู้จากการสอนในห้องเรียนจริง จนถึงการทำสัญญาจ้าง โดยในขั้นตอนต่าง ๆ ทางสถาบันจะเป็นผู้สนับสนุนทุนทรัพย์ รวมถึงยังสนับสนุนทุนต่อเนื่องสำหรับครูทุกคนที่ต้องการพัฒนาสมรรถนะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ เพื่อให้ครูสามารถเติบโตสู่ระดับผู้ชำนาญการ หรือเป็นผู้บริหารสถาบันได้
การปรับการเรียนการสอนให้เลื่อนไหลเท่าทันความซับซ้อนของโลก จำเป็นต้องสนับสนุนครูไม่เพียงในด้านวิชาการ หากต้องเติมประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะ สำหรับการดูแลเด็กที่ต้องการการศึกษาพิเศษ หรือการส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงทักษะการจัดการศึกษานอกห้องเรียน มีการส่งเสริมบุคลากรแวดล้อม (Supporting Teacher) เพื่อการดูแลสวัสดิภาพของครูและผู้เรียน อาทิ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับทั้งครูและผู้เรียน หรือบุคลากรสนับสนุนฝ่ายบริหาร ในการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับวัฒนธรรม สังคม สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น และส่งเสริมระบบนิเวศทุกด้าน ผ่านการรวมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์หลากหลาย ผ่านสถาบัน หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันแห่งชาติด้านการศึกษา (Systemic Support for Teacher PD) ที่มีภารกิจโดยตรงในการพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ ภายใต้ปรัชญาที่ว่า ครูคือผู้นำการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างทางจริยธรรม เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ด้วยความสนับสนุนร่วมกันกับเพื่อนครูและชุมชน
3 ‘ครู’ ในบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม
จาก Skill Future ที่เน้นแนวปฏิบัติ 6 ด้าน นำมาสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงาน 4 ระดับ คือ 1.พัฒนาความสามารถ 2.สร้างผลงาน 3.ขยายผลจนประสบความสำเร็จ และ 4.ก้าวไปเป็นผู้นำในทุกสถานการณ์ (Leading Accomplished Proficient Emergent)
โดยหลังดำเนินงานผ่านมาเป็นเวลา 2 ปี Skill Future ได้สร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานของครู ทั้งในห้องเรียน และการสอนผ่านระบบทางไกลในช่วงเวลาที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19
ทั้งนี้ ใน 5-6 ข้างหน้า คาดการณ์ว่า ครูในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการพัฒนาทักษะทุกด้าน เติบโตขึ้นตามเส้นทางของแผนพัฒนาวิชาชีพ และขยายนิยามความสำเร็จของการศึกษาที่กว้างไกลกว่าการเพิ่มพูนทักษะวิชาการ แต่จะเป็นการลงลึกและให้ความสำคัญกับทักษะ ความสนใจ ลักษณะนิสัยที่แตกต่างของผู้เรียน ไปจนถึงการเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่มีลักษณะแตกต่าง และนั่นคือบทบาทสำคัญของครูในการพัฒนาพลเมือง นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมและประเทศชาติในอนาคต
กล่าวโดยสรุป ‘Skills Future for Educators’ คือการขยายเป้าหมายด้านการศึกษา จากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไปสู่ประชากรทุกระดับ เป็นความเคลื่อนไหวระดับชาติที่เปิดโอกาสให้คนสิงคโปร์ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพของตนตลอดช่วงชีวิต โดยมุ่งยกระดับกลุ่มครูผู้สอน โดยอาศัย ‘โรดแมพ’ ที่ออกแบบจัดทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาทักษะวิชาชีพอย่างเป็นขั้นตอน มีเป้าหมายชัดเจน โดยครูเป็นผู้กำหนดการวางแผนการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับชุมชนครูด้วยกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศสิงคโปร์