เด็กรุ่นต่อไปต้องเก่งกว่าเรา 2.2 เท่า จึงจะรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจได้เท่าปัจจุบัน แต่ถ้าจะสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางจะต้องเก่งกว่าอีก 2.5 เท่า”
ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษาเฉพาะด้าน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สะท้อนวิกฤติแรงงานไร้ฝีมือที่ภาคการศึกษาไม่มีศักยภาพเพียงพอในการสร้างคน ในเวทีนโยบาย ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565
แต่โจทย์ใหญ่ที่จะทำให้แรงงานไทยเก่งขึ้นไปอีกเท่าตัวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างประชากรประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว รวมถึงจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลง หรือหากจะคิดพึ่งพิงแรงงานต่าวด้าวก็ไม่สามารถทำได้อย่างเดิม ทำให้กำลังวัยแรงงานจะลดลงต่อเนื่องอีกมาก
ตอกย้ำด้วยวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้แรงงานกลับภูมิลำเนา และกลายเป็นปัญหาอีกแบบคือตลาดแรงงานในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณคนที่เดินทางกลับไป โจทย์จึงต้องกระจายให้แต่ละพื้นที่มีงานเพิ่มขึ้นและรองรับคนได้ เช่น หลายจังหวัดมีรายได้หลักอยู่ที่ภาคการเกษตรจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยไม่ให้การเกษตรเป็นเพียงการผลิตรูปแบบเดิม แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถปรับตัวหรือมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านั้น
“ทำไมถึงต้องพูดเรื่องแรงงานทั้งที่ตัวเองทำงานเรื่องการศึกษา เพราะว่าการศึกษากับแรงงานมันควรจะเชื่อมกัน เราจะมีแรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก ถ้าภาคการศึกษาไม่ได้เตรียมพร้อมให้เขาออกไปประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาเองได้” ดร.รุ่งนภา กล่าว
นำมาสู่การแก้ปัญหาโดยใช้ “Credit Bank for Life-Long Learning” ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ท่ีผู้เรียนได้รับจากการประกอบอาชีพ การฝึกอบรม การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ไปใช้ต่อยอดทางการศึกษาและการทํางานได้
ระบบนี้มาปลดล็อคข้อจำกัดของการศึกษาในระบบเดิม เช่น ปริญญาตรีต้องเรียนภายใน 8 ปี ไม่เช่นนั้นต้องกลับไปเรียนใหม่ถึงจะได้วุฒิการศึกษา หรือการกำหนดอายุเด็ก ที่ทำให้เห็นเมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบและมีอายุเกินเกณฑ์ไม่สามารถกลับเข้ามาสู่การศึกษาได้ แต่ระบบธนาคารหน่วยกิตจะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ หรือกลับมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ตามศักยภาพความเหมาะสมของผู้เรียน
ทั้งนี้ ดร.รุ่งนภา ได้ทดลองนำระบบนี้ไปใช้ในพื้นที่ จ.ปทุมธานีที่มีโรงเรียนอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 แห่ง โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ลงนามความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม จ.ปทุมธานี จนเริ่มมีบางโรงงานเข้าสู่ระบบการเรียนนี้แล้ว
“ธนาคารหน่วยกิตจะทำให้เด็กเก่งมาก ๆ หรือเด็กที่มีศักยภาพ เขาไม่จำเป็นจะต้องเรียนพร้อมเพื่อนแต่เรียนนำเพื่อนไปได้เลยแล้วก็เก็บหน่วยกิตไว้ และนำชั่วโมงว่างไปพัฒนาด้านอื่นที่เขายังไม่ค่อยสันทัด ส่วนเด็กด้อยโอกาสจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าพวกเขาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ก็สามารถสะสมหน่วยกิตไว้ และเมื่อพร้อมกลับมาสู่ระบบการศึกษาก็สามารถสะสมเพิ่มให้ครบได้ ซึ่งหมายความว่ารูปแบบการเรียนไม่จำเป็นจะต้องกลับมาเรียนในโรงเรียน แต่สามารถเรียนรู้จากข้างนอกและเอามาเทียบโอน ซึ่งวิธีการเทียบโอนก็ต้องหลากหลายที่อาจจะเป็นวิธีการสอบ วิธีการประเมิน จากประสบการณ์จากการทำงาน หรือการฝึกอบรมก็ได้”
ดร.รุ่งนภา ยังทิ้งท้ายว่า ในระยะยาวจะต้องมีการพัฒนาครูและผู้ปกครองให้มีความพร้อมต่อเทคโนโลยี รวมถึงต้องมีหลักสูตรที่สอดคล้องกับการสอนในแต่ละรูปแบบ และต้องมองให้ไกลกว่าโควิด ถึงเป็นหลังโควิดก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่สูญเสียงานไปจะได้กลับมาทำงาน เพราะในส่วนของนายจ้างจำนวนมากได้เตรียมนำเทคโนโลยีและดิจิตัลมาใช้มากขึ้น นี่คือสถานการณ์ใหม่และจะเป็นอีกทักษะที่วัยแรงงานจะต้องมีมากขึ้น