เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ความเป็นชุมชนหดตัวลง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องปรับตัวหันเข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อแสวงหาการงานอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้มากขึ้น แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจนี้ ก็ส่งผลกระทบถึงการศึกษาด้วยเช่นกัน เมื่อผู้คนเข้าเมืองใหญ่ พื้นที่ห่างไกลก็เหลือผู้คนน้อย โรงเรียนในชุมชนก็เริ่มลดบทบาทลงตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และถูกแทนที่ด้วยโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไกลบ้านเด็กนักเรียนมากขึ้น
“มันเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อยู่ในหมู่บ้าน มีภูเขาล้อมรอบ ผู้คนในชุมชนให้ความร่วมมือดี ตัวเราเองเคยอยู่ด่านซ้าย จ.เลย มาก่อน ที่นั่นไม่ได้เจริญมาก พอมาอยู่นี่ก็ปรับตัวได้ไม่ยาก สมัยอยู่โรงเรียนใหญ่ มันมีทรัพยากรทั่วถึง โรงเรียนเล็กมันมีน้อย โรงเรียนใหญ่หน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่โรงเรียนเล็ก เราต้องร่วมกันทำ เลยอาจทำให้ไม่เต็มที่กับเด็กเท่าไหร่”
เพ็ญแข วินากร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านร่องไผ่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ได้เล่าถึงปัญหาของโรงเรียนเล็ก ที่ต้องเจอกับปัญหาและเธอต้องปรับแก้ไขตามวิธีที่ถนัด
“ครอบครัวย่านนี้ส่วนใหญ่ทำไร่ทำสวน ปลูกมันกัน รายได้บางคนก็ได้แค่ปีละครั้ง ราคาดีก็ได้ดีหน่อย ราคาตกก็แย่หน่อย บางคนติดลบก็มี แบบไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยอยู่กับญาติ บางคนพ่อแม่เลิกกัน ก็ต้องให้เด็กมาอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อไปทาง แม่ไปทาง ทำงานในเมือง ไม่ได้เลี้ยงเอง เด็กแบบนี้มีเกินครึ่งเฉพาะในร่องไผ่ ปัญหาอีกอันคือที่ดิน บางคนต้องเช่าที่ทำไร่กัน เด็กส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบเวลาเรียนก็เข้าเรียน เวลาว่างก็ไปรับจ้างทำไร่ทำสวน ไม่ค่อยมีใครอยู่บ้านเฉย ๆ ส่วนใหญ่ก็ได้ค่าขนมตามกำลังของเด็ก ก็เริ่มที่หนึ่งร้อยบาทบ้าง ทำให้เด็กส่วนใหญ่จะมีความสามารถด้านการเกษตรตั้งแต่อายุยังน้อย”
แม้คนพื้นที่เห็นปัญหา แต่ทรัพยากรยังไม่เข้าถึง
ครูเพ็ญแขเล่าถึงสภาพชุมชนอย่างเข้าอกเข้าใจ เธอเล่าต่อว่าถึงแม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ จะใช้เวลาว่างโดยการไปช่วยงานไร่สวน แทนที่จะได้เล่นกิจกรรมอื่น ๆ เหมือนเด็กในเมืองใหญ่ ซึ่งอาจจะทำให้เด็กเกิดความคิดที่อยากทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระมากกว่าเรียนหนังสือ จนทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษา แต่ทางโรงเรียนบ้านร่องไผ่ ก็ได้ใช้ความเป็นชุมชนเข้าแก้ไขปัญหา จุดเปลี่ยนเล็ก ๆ ที่หยุดยั้งเด็กออกนอกระบบได้บ้าง
“เด็กที่นี่ไม่หลุดจากระบบการศึกษา เด็กคนไหนที่หายไปเราจะตาม โรงเรียนตั้งอยู่ในหมู่บ้าน การตามตัวให้มาเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยาก บางทีก็ติดต่อพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ในเมือง พ่อแม่ก็ติดต่อญาติและตามตัวกันมา แม้ว่าจะเหนื่อยกับการเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เด็กก็ยังกลับมาเรียนกัน ทำให้เด็กส่วนใหญ่เรียนจบ ส่วนหนึ่งคือเรารู้จักท้องถิ่น โรงเรียนเล็ก ดูแลเด็กได้ทั่วถึง ติดตามง่าย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ เขาจะไม่ตามกัน”
แต่นี่ไม่ใช่วิกฤตเพียงอย่างเดียวของโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ เมื่อคนส่วนใหญ่มองปัญหาไม่ชัดเจนเท่ากับคนที่ทำงานจริงในพื้นที่ ทำให้คาดเดาไม่ได้เลยว่าอนาคตของโรงเรียนบ้านร่องไผ่จะเป็นเช่นใด
“ปัญหาบุคลากรคือตอนนี้มีครูอยู่ 2 คน ยังไม่มีครูใหม่ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ งบน้อย ได้อะไรมาก็ต้องจัดสรรค์ให้เท่ากัน ครูไม่ครบชั้นก็ต้องควบ ยิ่งครูเกษียณไป ก็ต้องควบเพิ่ม งบประมาณน้อย เฉลี่ยรายหัวแล้วหัวละ 850 บาทต่อหนึ่งภาคเรียน แบ่งจ่ายสองรอบ โอนมาให้ทีละเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ช่วงกลางเทอม อีกสามสิบเปอร์เซ็นต์มาปลายเทอม ทำให้ทรัพยากรกระจายได้ไม่ทั่วถึง พอค่าของสินค้าขึ้น ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายโรงเรียนก็เพิ่มตาม เด็กมีแค่ 49 คน กับ ครู 2 ท่าน บ้างก็ต้องคละเรียนโดยการมัดรวมเช่น เอา ป.5 กับ ป.6 มาเรียนร่วมกัน ทำให้กลุ่มหนึ่งได้เรียนของใหม่ อีกกลุ่มได้ทบทวนของเก่า” ครูเพ็ญแข กล่าว
จุดเปลี่ยนโรงเรียนขนาดเล็ก คนในชุมชนเสริมทัพครูรัก(ษ์)ถิ่น
โครงการทุน ครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มุ่งสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนที่มีศักยภาพ และมีจิตวิญญาณความเป็นครู ได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์อย่างมีคุณภาพ มีทักษะความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อบรรเทาปัญหาครูไม่ครบชั้นและการโยกย้ายบ่อยซึ่งถือว่าตอบโจทย์ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านร่องไผ่ และในปัจจุบันนี้ ก็เริ่มส่งผล ผ่านการยืนยันจากครูเพ็ญแขที่ทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงให้กับครูในโครงการนี้ และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจนส่งผลดีต่อชุมชน
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ส่งคนพื้นที่มา ครอบครัวในชุมชนก็มั่นใจและคุ้นเคยกันดี ก็ไม่คิดเอาเด็กไปเรียนที่อื่น ขณะเดียวกันครูรักษ์ถิ่นก็เป็นเหมือนพี่ ๆ ของพวกเด็ก พอได้เห็นพี่ ๆ ของพวกเขาเป็นครู เขารู้สึกอยากมาเรียนเพราะคุ้นเคยกัน และมันไปสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขารู้สึกอยากเรียนมากขึ้น เพราะอยากเป็นครูแบบพี่ ๆ ของพวกเขา เหมือนน้องเห็นพี่ใหญ่ได้ดี เขาก็อยากได้ดีตาม อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่นี่เก่ง เขามีความคิด มีอะไรใหม่ ๆ มาปรับใช้ นักเรียนก็รู้สึกชอบ รู้สึกสนุกกับการเรียนได้ง่าย พวกเด็กเขาก็อยากไปโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมันดำเนินการสอนไปได้ดีขึ้น”
แม้จะเกิดช่องว่างระหว่างวัย แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เปิดใจร่วมกัน ก็ทำให้ครูรุ่นเก่าที่ฝีมือเก๋าเกม กับครูรักษ์ถิ่นรุ่นใหม่ที่ชำนาญในเทคโนโลยี ก็ช่วยทำให้การเรียนการสอนมีการพัฒนาขึ้น
“ครูรุ่นใหม่เขาเก่งงานไอที ทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ครูรักษ์ถิ่นจะช่วยยกระดับพัฒนา แก้ไขปัญหาการศึกษาระดับชุมชนได้แน่นอน แต่ต้องค่อยเป็นไปค่อย ซึ่งโครงการนี้มันดีตรงที่ ปกติแล้วครูจากที่อื่น เอามาสอน 2 ปี ครบกำหนดเขาก็ย้ายกลับ แต่ครูรักษ์ถิ่นกำหนดไว้ที่ 5 ปี มีการติดตามงานตลอด ก็จะช่วยให้เด็กมีครูดูแลนาน แม้จะครบ 5 ปีแล้ว แต่ครูรักษ์ถิ่นก็ยังอยู่ในชุมชน อาจจะอยู่ยาวถึง 7 ปี เพราะเขาอยู่ในอำเภอนี้ ช่วยให้อัตราการย้ายของครูในพื้นที่ลดลง ทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่อง ถ้าครูรักษ์ถิ่นได้รับการศึกษาที่มาตรฐานสูง น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของการศึกษาได้เยอะ”
คำยืนยันของครูเพ็ญแข ที่เป็นคนที่ได้สัมผัสปัญหามานาน และได้เห็นการแก้ไขผ่านโครงการครูรักษ์ถิ่น ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และอยากจะสนับสนุนให้โครงการนี้มีต่อไป
“ท้องถิ่นจะได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น มีการประกอบอาชีพมากขึ้น คนที่จะมาเป็นครูก็จะมีโอกาสมากขึ้น ถ้าเป็นคนพื้นที่ที่ไปเรียนข้างนอก เขาจะเข้าใจสภาพความแตกต่างของเมืองใหญ่กับชุมชนของตัวเอง ทำให้พวกเขาสามารถจัดการการสอนได้ เพราะเขาเข้าใจว่าชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร ถ้ามีปัญหาก็รู้วิธีแก้ไขได้ดีกว่าคนที่มาจากข้างนอก อีกทั้งการมีของครูรักษ์ถิ่น จะช่วยเป็นต้นแบบให้กับเด็กในชุมชนต่อไปด้วย” ครูเพ็ญแข กล่าว