กสศ. ชวนผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมถกแนวทางแก้ไขปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ หลังพบว่า กทม. มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในประเทศไทย จากความต่างทางรายได้และภาระค่าใช้จ่ายคนจน-คนรวย ที่ต่างกัน 25-30 เท่า ทำให้ครอบครัวยากจนด้อยโอกาสต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าผู้มีรายได้สูงถึง 4 เท่า กลายเป็นช่องว่างของคุณภาพการศึกษา หรือโอกาสในการเข้าถึงโรงเรียนดีมีคุณภาพที่ต่างกัน 12 เท่า และนอกจากนี้คน กทม. ยังมีค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมสูงกว่าคนทั้งประเทศ 2 เท่า
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่กรุงเทพ ฯ จำเป็นต้องปลดล็อคโครงสร้างการทำงานในฐานะเขตปกครองพิเศษ ที่มีความอิสระและคล่องตัว โดยจำเป็นต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการพัฒนาการศึกษา พร้อมเปิดประเด็นถึง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 เกี่ยวกับนโยบายในการปิดช่องว่างทางการศึกษาในพื้นที่ กทม. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยผู้ปกครองเรื่องการแบกรับรับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียน สวัสดิการนักเรียน และการดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ
โดยผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ดีที่สุดคือ ‘การศึกษา’ นิยามง่ายที่สุดคือคนรุ่นลูกต้องมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ด้วยการเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเอง เรามีตัวอย่างของเด็กที่เติบโตในพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย แต่สามารถใช้การศึกษาพาตัวเองไปจนจบปริญญาเอก ได้งานในบริษัทปูนซีเมนต์ ยกระดับครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นี่คือผลของการศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญให้คนหลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตัดวงจรความยากจนไม่ให้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
“สำคัญคือทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกัน และจำเป็นต้องมุ่งทำศูนย์ก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อเริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่วัย 0-6 ปี เพราะถ้ารอถึง ป.1 ก็สายไปแล้ว พอถึงโรงเรียนระดับประถม ต้องมีโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน มีการสอน 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์แลป ต้องลดภาระครู คืนครูให้นักเรียน ช่วยเรื่องการขยับวิทยฐานะ เอาเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการเรียนการสอน”
“ข้อเสนอหนึ่งคืออยากให้มีการเปิดโรงเรียนช่วงวันเสาร์อาทิตย์สำหรับในพื้นที่ชุมชน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้นอกเหนือจากวิชาปกติ จัดให้มีกิจกรรมดนตรี กีฬา สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีอินเทอร์เน็ตฟรีให้เด็กใช้ มีสาธารณูปโภคครบครัน ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยดูแลเด็ก ๆ ไปด้วยกัน พร้อมชักชวนครูอาสาในชุมชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือภาคเอกชนที่มีใจอยากร่วมพัฒนาหลักสูตรนอกเวลาให้กับเด็ก ๆ มาช่วยกัน ผมคิดว่าสถานที่เช่นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ เนื่องจากเด็ก ๆ จะได้เจอกับคนที่มีความรู้ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นต้นแบบของอาชีพที่หลากหลาย แล้วอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล”
ส่วนในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษา คุณชัชชาติ กล่าวว่า นโยบาย ‘เรียนฟรี 15 ปี’ ต้องถูกผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการปรับเพิ่มงบประมาณรายหัว จัดสรรสวัสดิการนักเรียนเพื่อลดภาระผู้ปกครอง
“ที่พูดกันว่าเรียนฟรี ต้องทำได้จริง อย่างแรกคือสนับสนุนเครื่องแบบนักเรียนอย่างน้อยคนละ 3 ชุด พวกค่าใช้จ่ายเสริมเรียนคอมพิวเตอร์ ภาษา ต้องไม่เก็บเพิ่ม แล้วจากนี้จะมีการเรียนที่บ้านเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลา แท็บเลตต้องมีให้ ซึ่งสามารถใช้วิธีขอบริจาคจากเอกชน ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นที่ทันสมัยที่สุด เทคโนโลยีดีที่สุด แค่เหมาะสมกับการใช้เรียน สำคัญคืออินเทอร์เน็ตชุมชนต้องมี เพื่อให้การเรียนฟรีเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วคุณภาพต้องดีทัดเทียมกัน เด็กไม่จำเป็นต้องหาที่เรียนพิเศษข้างนอกเพิ่ม”
“ขณะที่ศูนย์เด็กเล็กใน กทม. ที่ข้อมูลระบุว่ามีอยู่ 291 แห่ง แต่เข้าข่ายได้มาตรฐานที่ประมาณ 20% เบื้องต้นต้องเพิ่มงบค่าอาหารรายหัวจาก 20 บาท เป็น 40 บาท เท่ากับระดับประถม เพิ่มสวัสดิการให้ครูพี่เลี้ยงซึ่งเดิมมีแค่รายได้ไม่เกินเดือนละ 15, 000 บาท เพื่อให้เขามีกำลังใจทำงาน ผมมองว่าศูนย์เด็กเล็กโดยเฉพาะที่ดูแลเด็กวัย 1-3 ขวบ พ่อแม่เขาเอาลูกมาฝากไว้แล้วไปทำงานหารายได้ ถ้าเขามั่นใจว่าเด็กปลอดภัยได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ เขาจะไม่กังวล ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง หรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่เป็นข้อจำกัดของการตั้งศูนย์เด็กเล็กเราก็อาจต้องปลดออก เพราะบางพื้นที่ในชุมชนไม่ได้ใหญ่โตเพียบพร้อม แต่สามารถดูลเด็กได้ เพียงแต่ กทม. ต้องเข้าไปช่วยปรับ สนับสนุนให้มีคุณภาพ”
“อีกเรื่องหนึ่งคือสวัสดิการนักเรียน นักเรียนและผู้สูงอายุขึ้นรถฟรี เด็กตั้งแต่แรกเกิดมีหนังสืออย่างน้อย 3 เล่มติดบ้าน นำมาหมุนเวียนได้ในศูนย์เด็กปฐมวัย หนังสือคือสิ่งสำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีหนังสือไว้เปิดอ่านหรือสอนเด็ก ๆ ที่บ้าน ไม่รอมาเริ่มที่โรงเรียน การสร้างสวัสดิการเหล่านี้ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ผลที่ได้กลับมาถือว่ามหาศาล”
ด้านกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ได้ฝากผู้สมัครผู้ว่า กทม. ให้กำลังใจครูในสังกัด กทม. กว่า 15, 000 คน และพิจารณาช่วยเหลือในการสอบวิทยฐานะ ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราสอบผ่านเพียงครึ่งหนึ่ง นับว่ายังน้อยหากเปรียบเทียบกับครูโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และ อปท.
โดยคุณชัชชาติ ได้ให้กำลังใจ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และคุณภาพทางวิชาการให้ครูใน กทม. กล่าวว่าจะนำเทคโนโลยี Open Data มาช่วยสนับสนุนลดภาระครู และผลักดันนโยบาย ‘คืนครูให้นักเรียน’ เพื่อนำเวลามาใช้ในการสอนหนังสือได้เต็มที่
ศ.ดร.สมพงษ์ ได้ฝากประเด็นสำคัญถึงผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบายเมื่อพูดถึงการพัฒนาพื้นที่ กทม. ที่เรื่องของของเด็กเยาวชนด้อยโอกาส หรือคนกลุ่มน้อยในสังคม ถูกพูดถึงไม่มากนัก จึงขอเสนอปมปัญหาเพื่อพิจารณาดังนี้
- กว่าครึ่งของเด็กในชุมชนแออัด 641 แห่ง มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ด้วยค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูง ซึ่งเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
- ค่าใช้จ่ายรายหัวเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ชั้นอนุบาล 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 มัธยมต้น 3,500 มัธยมปลาย 3,800 บาท มีการใช้ต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว โดยสามารถช่วยผู้ปกครองได้เพียง 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จำเป็นต้องปรับให้สูงขึ้น และต้องสูงพอจะช่วยให้เด็กและครอบครัวไปต่อได้ในระบบการศึกษา
- โรงเรียน 437 แห่ง เป็นโรงเรียนเพื่อเด็กยากจนใน กทม. จะสามารถทำให้มีคุณภาพในลักษณะ ‘อินเตอร์ติดดิน’ เช่นมีการสอน 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด อาหารเช้า หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนคุณภาพสูงได้อย่างไร
- การแก้ปัญหาการส่งต่อเด็กระหว่างโรงเรียนของ กทม. กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เมื่อจบชั้นประถม ต้องย้ายไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง จำเป็นต้องมีสวัสดิการด้านการเดินทางหรือค่าอุปกรณ์การเรียน เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้
- กทม. จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ทดลองใช้มาแล้ว 3-5 ปี และเห็นผลแล้วว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ต่อไปได้หรือไม่ โดยไม่อิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ
- ผู้ปกครองเด็ก 75% มีรายได้ทางเดียวไม่พอ เป็นไปได้แค่ไหนที่ พม. จะช่วยพัฒนาอบรมวิชาชีพเสริมให้ผู้ปกครองฟรี รวมถึงมีทุนเริ่มต้น 3, 000-6, 000 บาท ในการซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพ ทั้งนี้ กองทุน กทม. เพื่อคนยากจนขัดสนและเด็กด้อยโอกาสจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาส สามารถกู้เงินในภาวะเปิดเทอมด้วยดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงินกู้สำรองในการประกอบอาชีพ
ท้ายที่สุด ผู้ว่าราชการ กทม. ถือเป็นบุคคลในอุดมคติของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ควรมีแนวทางสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการ กทม. ควรได้พบปะพูดคุยกับเยาวชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง และผลักดันให้สภาเด็กเยาวชน กทม. ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ มีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างเมืองร่วมกับผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ โดยประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าผู้ว่าราชการ กทม. สามารถเข้าถึง แก้ไข และปรับปรุงได้ จะแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ในเชิงลึกและตรงจุดที่สุด