ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเสียงแห่งความหวังที่จะเห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.พื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคนในกรุงเทพ ฯ 2.พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและผลักดันวาระทางสังคม และ 3.พื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงโครงสร้างในการพัฒนาเมือง
สิบเอกดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวาระการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ ที่กำลังจะมาถึง สภาเด็กและเยาวชน กทม. ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ยื่นหนังสือต่อผู้สมัคร โดยเน้นใจความสำคัญที่การมีส่วนร่วมในการทำงานเชิงโครงสร้าง และการให้ความสำคัญกับบทบาทของเด็กและเยาวชนในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยระบุว่า แม้ที่ผ่านมา กทม. จะมีงบสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนปีละ 4 แสนบาททุกปี แต่ยังขาดการทำงานร่วมกันในด้านการแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็น เด็กและเยาวชนยังคงมีอำนาจในการจัดการดูแลที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งตนเชื่อว่าทิศทางในการพัฒนา กทม. จะเอื้อต่อคนรุ่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วนรับผิดชอบงานในระดับโครงสร้างมากขึ้น
“เราพยายามหาโอกาสพูดคุยกับผู้สมัครทุกท่าน ทราบว่ามีผู้สมัครที่มีนโยบายด้านสภาเมืองคนรุ่นใหม่ มีพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน รวมถึงการกำหนดเวทีพบปะกับตัวแทนเด็กและเยาวชนเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราต้องการ
“อยากให้ผู้ว่า ฯ คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เล็งเห็นความสำคัญของเด็กเยาวชน ว่าเราคือพลเมืองที่มีการติดตามและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อนโยบายต่าง ๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กเยาวชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง แต่ตลอดมา พวกเราไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นกำหนดนโยบาย ไม่มีวงสื่อสารสำหรับให้คณะเด็กและเยาวชนได้เข้าไปร่วมตัดสินใจ ซึ่งในแง่นี้ เราไม่ได้มองแค่ในบทบาทของ กทม. แต่หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของเยาวชน ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงการกำหนดนโยบายของประเทศด้วย”
สิบเอกดุษฎี กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ทุกคน และได้พยายามแสดงให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนคือพลเมืองที่มีความสามารถ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมได้ และจะผลักดันอย่างเต็มที่ต่อไป ไม่ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนแค่ไหน หรือใครจะเข้ามาเป็นผู้ว่า กทม. คนใหม่ก็ตาม
เพชรลดา ศรัทธารัตนไตร คณะทำงานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพ ฯ กล่าวว่า 3 ประเด็นหลักที่ยื่นต่อผู้สมัครครั้งนี้ ข้อแรกคือต้องการให้มีพื้นสร้างสรรค์และเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น หมายถึงทั้งการสร้างใหม่ขึ้นมา หรือบูรณะปรับปรุงของเดิมที่ถูกละเลยให้เหมาะสมกับการใช้งานยิ่งขึ้น ข้อสอง พื้นที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง หมายถึงการผลักดันให้สภาเด็กและเยาวชนเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯ โดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาเข้าถึงยากและมีความล่าช้าในการสื่อสาร และในการประชุมใด ๆ ก็ตาม ควรมีตัวแทนเด็กและเยาวชนเข้าร่วมประชุมด้วย และข้อสาม ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนในการแสดงออก โดยการชุมนุมแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นปัญหา ผู้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพควรได้รับความรู้สึกปลอดภัย
“สำหรับเรา นี่คือครั้งแรกที่จะได้เลือกตั้ง พร้อมกับเยาวชนอายุ 18-27 ปี อีกมากกว่า 6 แสนคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งแรก เราเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นพลังสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราเห็นกันอยู่แล้วว่ากรุงเทพ ฯ เหมือนจะพัฒนาผิดจุดมาตลอด ฟุตพาท กทม. ไม่เคยมีการจัดการจริงจัง พื้นผิวทางเดินหักพัง ไม่เสมอกัน เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือไม่เคยมีกฎหมายเอาผิดมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนทางเท้าได้ กลายเป็นคนเดินถนนต้องระวังกันเอง ต้องคอยหลบ กลายเป็นคนผิดโดนบีบแตรไล่ ไม่เคยมีใครจัดการเลย”
“ดังนั้นหลังยื่นข้อเสนอ แล้วผู้สมัครทุกคนพร้อมรับฟัง รับปากว่าจะพิจารณาข้อเสนอและทำให้เกิดขึ้นจริง ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะที่ผ่านมา สภาเด็กเยาวชนกับว่าฯ กทม. ไม่เคยได้ทำงานร่วมกันเลย เราได้พบแต่ตัวแทนมาตลอด กับการเลือกตั้งครั้งนี้ เรามีความหวังมากที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเราได้ยินว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่เมื่อเด็กเยาวชนลุกขึ้นเรียกร้องตามเสรีภาพของการแสดงออก กลับไม่เคยได้รับความสนใจหรือปกป้อง เหมือนว่าพวกเราต้องสู้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด”
เพชรลดา กล่าวสรุปว่า แม้จะเป็นเพียงพลังเล็ก ๆ แต่ในการทำงานของสภาเด็กเยาวชน กทม. ได้ผลักดันการแก้ปัญหาต่าง ๆ มาตลอด มีการส่งข้อเสนอให้กับผู้ว่าฯ ทุกคน แต่เหมือนว่ามีน้อยคนที่จะเห็นความสำคัญจริง ๆ ในครั้งนี้คณะทำงานทุกคนจึงหวังมากกับผู้ว่า กทม. คนต่อไป ว่าหลังจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว