ฝากการบ้านถึงผู้ว่าฯ คนใหม่ หนึ่งโจทย์ใหญ่ของกรุงเทพฯคือ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา’

ฝากการบ้านถึงผู้ว่าฯ คนใหม่ หนึ่งโจทย์ใหญ่ของกรุงเทพฯคือ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา’

“นโยบายแรกที่จะทำคือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ เด็กดีก็จะดีกับพ่อแม่ได้ ถือว่าลดความเหลื่อมล้ำได้ในหนึ่งช่วงอายุ เพื่อช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้ พร้อมทั้งส่งเสริมห้องสมุดเพื่อสร้างให้เด็กมีความรู้ กทม.ต้องเตรียมพวกนี้ไว้เป็นเครื่องมือสร้างโอกาส”

วิสัยทัศน์ของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนที่ 17 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เห็นว่ากรุงเทพมหานครคือมหานครแห่งความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ โดยโจทย์ใหญ่ที่ผู้ว่าฯคนใหม่ต้องเร่งจัดการแก้ไขให้สำเร็จคือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่มีนโยบายด้านการศึกษาจำนวน 28 ข้อที่นำมาหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง

โดยในช่วงระหว่างการหาเสียงที่ผ่านมา กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนและเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย เพื่อค้นหาปัญหาทางการศึกษาของกรุงเทพฯให้ได้มากที่สุดทั้งในทางกว้างและในทางลึก จากนั้นจึงกลั่นกรองออกมาเป็นข้อสังเกตต่างๆ ผ่านกระบวนทัศน์ของ ‘ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ ‘ดร.ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค’ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ซึ่งเราได้สรุปออกมาเป็นประเด็นต่างๆ เพื่อฝากเป็นการบ้านให้ผู้ว่าฯ คนใหม่รับไปแก้ไขหรือหาทางสนับสนุน เพื่อเป็นแนวทางพัฒนากรุงเทพฯ ของเราต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้านี้

เรียนฟรีต้องฟรีจริง

[1] ปัจจุบันนโยบายเรียนฟรีของภาครัฐ ยังเป็นการเรียนแบบ ‘ฟรีทิพย์’  เงินที่ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้เพียง 1 ใน 5 จากที่ต้องจ่ายจริงเท่านั้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของคนกรุงเทพฯ ยิ่งสูงกว่าคนต่างจังหวัดถึง 2 เท่า นอกจากค่าเทอม จึงควรมีเงินสนับสนุนด้านอื่นๆให้ครอบคลุมด้วย เช่น เครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน แบบเรียน ฯลฯ

[2] ค่าอาหารต้องเพิ่มอย่างน้อยควรเป็น 40 บาทต่อหัว ทั้งในส่วนโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ปัจจุบันงบประมาณที่ภาครัฐให้ยังคงอยู่ที่หัวละ 20 บาท ซึ่งเป็นฐานที่ใช้มาแล้ว 15 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน กทม.จัดงบเพิ่มจากที่รัฐสนับสนุนเพียง 8 บาท ทำให้ได้แค่ 28 บาท ซึ่งยังไม่พอและอาจทำให้เกิดภาวะถดถอยทางร่างกายของเด็กๆ ปัจจุบัน เริ่มเห็นภาวะเตี้ยตัน ขณะที่มีงานวิจัยหลายชิ้นมีข้อบ่งชี้ที่ตรงกันว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆไม่ว่า ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือสังคม

โรงเรียนต้องเป็น Soft Area

[3] รอบโรงเรียนในสังกัด กทม. ส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด มีปัญหาต่างๆ เช่น ยาเสพติด ความรุนแรง หรืออื่นๆ จึงต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่อ่อนโยน ยืดหยุ่น เด็กเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย นอกจากนี้ ต้องมี Soft Power คือ เด็กเข้ามาแล้วได้แสดงออกอย่างเต็มที่ เช่น มีฝันเป็นแร็ปเปอร์ เป็นบาร์ริสต้า หรือเป็นอะไรอย่างอื่นก็ควรมีช่องทางส่งเสริมให้เขาทำได้ ควรมีการจัดการหลักสูตรที่สามารถพัฒนาอาชีพให้มากขึ้นว่า 1 คาบต่อสัปดาห์ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจครัวเรือน เด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนหรือยากจนพิเศษจะสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้จริงโดยไม่ต้องลหลุดออกไปจากระบบการศึกษา

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนต้องลงทุน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือกรุงเทพมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่มีมาตรฐานเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นจาก 292 แห่ง พบทั้งปัญหาทั้งทางกายภาพของสถานที่ ขาดอุปกรณ์ส่งเสริมพัฒนาการ อาหารกลางวันไม่พอ หรือแม้กระทั่งครูที่ยังเป็นเพียงครูอัตราจ้างเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีการขึ้นเงินเดือนจูงใจให้พัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ผิดหลัก เพราะการดูแลเด็กปฐมวัยต้องการครูที่ดีที่สุด มีความพร้อม มีความสุข ความมั่นใจ ทุ่มเทกับการทำงานได้มากที่สุด ปัจจุบันมีงบให้ศูนย์เหล่านี้แค่ประมาณ 700 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่งบส่วนใหญ่ไปอยู่กับโครงการประเภทขุดลอกคูคลองและก่อสร้างต่างๆ ไม่ใช่งบลงทุนเพื่อการศึกษา

ต้องมีพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน

[5]  ปัญหาของกรุงเทพคือขาดพื้นที่เรียนรู้ ทำกิจกรรม หรือแม้แต่พื้นที่เล่นของเด็กๆนอกโรงเรียนที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีฐานะที่ครอบครัวสามารถพาไปเรียนรู้หรือไปเล่นได้ช่วงวันหยุดด้วยกำลังทรัพย์ที่มี ไม่ว่าจะไปห้าง ไปสวนสัตว์ ไปเล่นในสนามเด็กเล่น แต่เด็กยากจนในชุมชนแออัดไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เลย หรือถ้ามีพื้นที่ก็มักถูกทำให้หายไปด้วยเหตุผลทางธุรกิจ เช่น พื้นที่ตรอกโรงหมู ชุมชนคลองเตย ที่เดิมได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกโรงเรียน มีสนามบาส มีลานกิจกรรมหรืออาจเรียกว่าเป็นโอเอซิสของชุมชนแออัด แต่ต่อมาได้ถูกรื้อไปกลายเป็นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ เป็นบทเรียนว่ากรุงเทพต้องมีพื้นที่เล่นที่เหมาะสมกับเด็กๆให้มากขึ้นหรือรักษาไว้ไม่ให้หายไป ทุกชุมชนควรมีพื้นที่เพื่อให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อดึงกันให้พ้นจากภาวะไม่เหมาะสมได้

ยกระดับโรงเรียนในสังกัด กทม.

[6]  อย่านำหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ เพราะไม่มีความทันสมัยหรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โรงเรียนในสังกัด กทม. สามารถใช้หลักสูตรสิงคโปร์ หรือฟินแลนด์เป็นต้นแบบได้ เพื่อยกระดับการศึกษาของเด็กกรุงเทพได้

[7]  ครูในสังกัด กทม. ขอวิทยฐานะยากมาก ทำให้ไม่สามารถก้าวหน้าทางอาชีพได้ แม้จะไปทำชื่อเสียงระดับโลกมาก็ตาม

[8]  เพิ่มโรงเรียนสังกัด กทม. ในสัดส่วนมัธยมต้นและปลาย ปัจจุบันมีแต่โรงเรียนระดับอนุบาลกับประถมมาก แต่โรงเรียนที่เปิดถึง ม.ปลายมีเพียง 9 แห่งเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะหากเรียนจบประถมโรงเรียนในสังกัด กทม. แล้วต้องไปหาที่เรียนต่อโรงเรียนสังกัด สพฐ.จะต้องมีรายจ่ายเพิ่มอีกอย่างน้อยคนละ 5,000 – 8,000 บาท ยังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนเอกชนที่สูงกว่านั้นมากจนไม่สามารถเข้าเรียนต่อได้อย่างแน่นอน