วันที่ 8 มิถุนายน 2565 – พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนการศึกษาเยาวชน จากกิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้ “โครงการลมหายใจเพื่อน้อง” ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. เป็นผู้แทนมอบเงินจำนวน 151 ล้านบาท ให้แก่ รศ. ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อคืนโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในช่วงชั้นรอยต่อ ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2565 ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เข้าร่วม ณ ทำเนียบรัฐบาล
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมผู้ดำเนินโครงการลมหายเพื่อน้อง ที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของภาคธุรกิจ ในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญที่นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมได้กล่าวขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วน ที่ทำให้โครงการเพื่อสังคมลักษณะเช่นนี้ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน จะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น เพราะการศึกษาถือเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ
“ผมต้องฝากไปยังหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ในเรื่องการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา เราจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีได้มากยิ่งขึ้น เพราะจำนวนคนที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมีเป็นจำนวนมากอยู่ ทั้งในส่วนที่เราจัดสรรให้ยังมีไม่มากนัก จึงขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน ทั้งรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจที่เชื่อว่าหลายแห่งมีทุนการศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านสามารถนำมาช่วยเติมให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ก็จะทำให้ต้นทุนที่ส่งไปถึงเด็กเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น เป็นการช่วยรัฐบาล ช่วยชาติ ช่วยครอบครัวของเราในอนาคต” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมอบเงินสนับสนุนการศึกษาจำนวน 151 ล้านบาทในวันนี้ เกิดขึ้นได้จากแรงสนับสนุนของประชาชนในกิจกรรม PTT Virtual Run เฟสที่ 1 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในระยะเวลาเพียง 6 วัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสะสมระยะทางเดิน-วิ่ง ได้ถึง 600,000 กิโลเมตร ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 60,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเป้าหมายอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นการมอบเงินสนับสนุนให้แก่เยาวชนในวันนี้ ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วรวมกว่า 80,000 คน
“อย่างไรก็ดี กิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ยังดำเนินต่อไปในเฟสที่ 2 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อต่อยอดจัดตั้งกองทุนช่วยเด็กและเยาวชนอีกกลุ่มที่จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาแบบฉุกเฉิน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังสามารถลุ้นรับของที่ระลึกได้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมผ่าน www.ลมหายใจเพื่อน้อง.com” นายอธิคม กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของ กสศ. คือการนำทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ตามกลยุทธ์ All for Education ซึ่งโครงการลมหายใจเพื่อน้อง จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ สำหรับเด็กเยาวชนกลุ่มวิกฤตมากกว่า 60,000 คนและครอบครัว ให้สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมากแต่ก็เพียงพอที่จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ได้คงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้
กสศ.ยังได้ดำเนินการตามภารกิจโครงการพาน้องกลับมาเรียนที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ 14 หน่วยงานรวมทั้ง กสศ. ค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพาน้องๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจากการวิจัยติดตามข้อมูลของ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี พบว่าช่วงเวลาที่มีการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนสูงที่สุดคือช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษาระหว่างเดือน พ.ค. – มิ.ย. ในแต่ละปี กสศ. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาทั้ง 6 สังกัด สำรวจความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของครัวเรือนยากจนพิเศษที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,094 บาท ต่อคน/เดือน หรือเฉลี่ยวันละ 30-40 บาท เท่านั้น
“กสศ. จะนำเงินบริจาคจำนวน 151 ล้านนี้ ไปช่วยต่อลมหายใจให้แก่น้อง ๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 นี้ เป็นวันปิดระบบการรายงานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลของสถานศึกษาทุกสังกัด ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยชี้เป้าการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มวิกฤตที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกสังกัดได้อย่างเป็นปัจจุบันมากที่สุดอีกด้วย” ดร.ไกรยส กล่าว