3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความซับซ้อน ทั้งด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และคุณภาพการเรียนรู้ ข้อมูลจากรายงานความยากจนของเด็กไทยปี 2564 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราส่วนเด็กยากจนที่ขัดสนด้านการเรียนรู้ ในช่วงอายุ 5-17 ปี มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 7.21
กสศ.ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนริเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และยะลา)
ชวนทำความรู้จัก 6 โครงการตัวอย่าง ที่มุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบ และเกิดความยั่งยืน
– 1 –
หลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุให้รัฐต้องจัดให้เด็กทุกคนได้ “เรียนฟรี” เป็นเวลาสิบสองปี แต่ยังพบว่า มีเด็กวัยเรียนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในครัวเรือนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับรุนแรง และมิอาจสนับสนุนให้บุตรหลานเข้าเรียนได้ตามเกณฑ์ เนื่องด้วยปัญหาหลากหลาย
กสศ. ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. พศ. และโรงเรียนเอกชน ประเภทการกุศลและการศึกษาสงเคราะห์ พัฒนาโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือ ‘ทุนเสมอภาค’ เพื่อให้เกิดระบบช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและคงอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 123,309 คน (ข้อมูลเทอม 1/2564)
นอกจากนี้สถานศึกษาและคุณครูยังได้ใช้ นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ “แอพพลิเคชัน CCT” เพื่อการคัดกรอง ค้นหา และส่งต่อความช่วยเหลือตั้งแต่ระดับพื้นที่ ถึงระดับจังหวัด ซึ่งช่วยให้การดูแลช่วยเหลือ และติดตามนักเรียนได้อย่างเป็นระบบทันเวลา นำไปสู่ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบคลุมหลายมิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติพฤติกรรม และมิติการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังเกิดการเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในระดับที่สูงขึ้น
– 2 –
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
สร้างโอกาสการศึกษาระดับสูง นำไปสู่การยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคน ในพื้นที่ สาม จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) กสศ. ร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษาสายอาชีพพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความต้องการแรงงานฝีมือใน 10 สาขาวิชาหลัก ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานักศึกษาทุนในทุกมิติ ทั้งมิติการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และการเสริมสร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถานประกอบการต่าง ๆ ทั้งยังสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้เข้าถึงการศึกษาสายอาชีพในระดับ ปวช. และ ปวส. จำนวน 521 คน
– 3 –
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนยากจนหรือด้อยโอกาสที่มีศักยภาพสูงและมีใจรักอยากเป็นครู ได้ศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่อาจยุบหรือควบรวมได้ (Protected School) ในสังกัด สพฐ.
ในปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนใต้มีนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นรวม 3 รุ่น (ปีการศึกษา 2563-2564-2565) ที่เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุจำนวน 156 คน ในโรงเรียนปลายทาง 137 แห่ง และยังร่วมพัฒนาต้นแบบสถาบันในการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้ตรงตามความต้องการของบริบทพื้นที่ร่วมกับโรงเรียนและชุมชน
– 4 –
โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP)
30 โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ คุณภาพครู และการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เรียนรู้อย่างมีความสุขและยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนในระยะยาว ผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ มีคุณครูเข้าร่วมพัฒนาจำนวน 725 คน และนักเรียนได้รับการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้จำนวน 8,503 คน
– 5 –
โครงการพัฒนาทักษะแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กสศ.ทำงานร่วมกับ 11 หน่วยพัฒนาอาชีพ ใช้ชุมชนเป็นฐานพัฒนาทักษะอาชีพ (Hard Skill) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิต (Soft Skill) ให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพ นำไปสู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่สามารถดึงต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่มาใช้เพื่อออกแบบในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมพัฒนาอาชีพ จำนวน 1,035 คน ผ่านการฝึกอบรมใน 11 หลักสูตรชุมชนเป็นฐาน
– 6 –
ยะลาโมเดล ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
พลังของการทำงานพื้นที่ ในการค้นหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟูดูแลพัฒนากลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทั้งกลุ่มเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ไปจนถึงกลุ่มเสี่ยงหลุดจำนวนมาก โดย กสศ.สนับสนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยะลา ขับเคลื่อน เชื่อมร้อยภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จนทุกหน่วยสามารถทำงานประสานเป็นเนื้อเดียวกัน และสามารถจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา’ ที่จะเป็นพื้นที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
ความสำคัญของการจัดตั้งสภาการศึกษาหรือกองทุนเพื่อการศึกษาเด็กนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การนำเด็กเข้าสู่ระบบ หรือประคองไว้จนเรียนจบเท่านั้น แต่มีโมเดล ‘Emergency Classroom’ รองรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่มีความพร้อมกลับเข้าเรียน โดยโรงเรียนจะมีแผนการช่วยเหลือดูแลฉุกเฉิน ซึ่งออกแบบโดยผู้อำนวยการโรงเรียน และครูที่เปรียบได้กับแพทย์เฉพาะทาง ที่จะเติมเต็มคุณภาพทางการศึกษาให้เด็กที่เข้ามาเรียนกลางทางได้ ร่วมกับการฟื้นฟูปรับสภาวะจิตใจ การดูแลครอบครัวของเด็กในด้านปากท้องเศรษฐกิจ โปรแกรมเหล่านี้จะออกแบบให้รักษาดูแลเด็กได้ตามอาการ เพื่อให้เขาอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปจนถึงฝั่ง รวมถึง ‘การศึกษาทางเลือก’ สำหรับเด็กทุกคน ทุกรูปแบบปัญหา เพื่อไปให้ถึงจุดที่ประกาศได้ว่า ในพื้นที่ของยะลาไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีกแล้ว