กสศ. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วนร่วมพิจารณาข้อเสนอ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ปี 2566’ เพื่อคัดเลือกโครงการที่จะสร้างสรรค์รูปแบบและกระบวนการใหม่ทางสังคม ที่จะนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส แก้ปัญหาการว่างงานขาดแคลนรายได้ ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางที่สุดในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ค้นพบศักยภาพในตนเอง พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ดึงความร่วมมือท้องถิ่นให้เกิดเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่
โดยตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละภาคส่วนต่างแสดงความเชื่อมั่น ว่ามุมมองที่ครอบคลุมทุกมิติจะช่วยให้การคัดเลือกโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ผลักดันให้ผลโครงการลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด สร้างรายได้และความเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตได้จริง
ตัวจริงเสียงจริงในสายงานของตัวเอง
คุณชาญ อุทธิยะ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคปราชญ์ชุมชน กล่าวว่า การร่วมพิจารณาโครงการโดยหลายภาคส่วน ทำให้ทุกฝ่ายเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน หนุนเสริมกัน ตนเองในฐานะภาคประชาชน มีความชัดเจนในมิติเชิงลึกของชุมชนท้องถิ่น เห็นปัญหา รู้อุปสรรคการพัฒนาของคนในพื้นที่ ก็ได้นำมาแบ่งปันพร้อมกับรับการเติมเต็มผ่านมุมมองอื่นๆ ทั้งในภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และวิชาการ จนการพิจารณาโครงการเป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และอยู่ภายใต้ความโปร่งใส
“การพิจารณาในแต่ละปี ทำให้เราได้เห็นตัวตนคนที่เข้าใจงานของ กสศ. และได้นำข้อมูล เหตุผล หรือประสบการณ์มาใช้ในการพิจารณาคัดเลือก บุคคลเหล่านี้คือตัวจริงเสียงจริงในสายงานของตัวเอง เป็นคนมีอุดมการณ์ มีจิตใจที่เมตตาต่อกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้โครงการที่ผ่านการพิจารณากลายเป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ
“เรามีฝ่ายวิชาการที่มองเห็นกลุ่มเด็กเยาวชนหรือคนที่หลุดไปจากระบบการศึกษา มีสื่อมวลชนและปราชญ์ท้องถิ่นที่เข้าใจสาเหตุความยากจนหรือปัญหาในชุมชนต่างๆ หรือภาคเอกชนก็มีสายตาที่มองเห็นการพัฒนาอาชีพเชิงระบบ ประเด็นสำคัญคือ ถ้าเราสามารถพัฒนาคนที่อยู่ในพื้นที่ได้ ต่อไปในอนาคต คนกลุ่มนี้จะก้าวไปเป็นแกนนำชุมชนที่ยกระดับคุณภาพของท้องถิ่นของเขาได้”
ภาพที่กว้างกว่ามุมมองเดียวทำให้โครงการตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
คุณพรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคธุรกิจเอกชน กล่าวว่า การร่วมพิจารณาข้อเสนอโดยคนหลายภาคส่วน ทำให้ได้มุมมองรอบด้านที่ลึก ชัด เป็นธรรม สามารถสะท้อนให้เห็นภาพความจริงที่จะเกิดขึ้นจากโครงการลงไปถึงคนในชุมชน
“แม้ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละฝ่ายจะมีกรอบความคิดไปคนละทาง แต่เป้าหมายของทุกคนเหมือนกัน ดังนั้นความเห็นหรือข้อเสนอจึงช่วยประกอบการพิจารณาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างเราเป็นภาคธุรกิจเอกชน ก็จะไม่ทราบมาก่อนถึงมุมมองและฐานข้อมูลของสื่อมวลชน นักวิชาการ และปราชญ์ชุมชน ซึ่งจะทำให้เรารู้ถึงข้อจำกัดบางอย่าง รวมถึงได้นำข้อมูลที่ได้รับมาคิดวิเคราะห์จนได้แนวทางสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การเห็นภาพกว้างกว่ามุมมองเดียว มันทำให้การพิจารณาโครงการตั้งบนพื้นฐานของความเป็นจริง และแน่นอนว่าจะทำให้ทุนที่ลงไปเกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
“สำหรับในมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน ผมคิดว่าทุนนี้เริ่มต้นมาพร้อมๆ กับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งให้บทเรียนในเรื่องการปรับตัว หรือการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องมองหาโครงการที่มีกระบวนการบางอย่าง ในการพาคนทั้งชุมชนเคลื่อนที่ไปด้วยกัน มีแผนฉุกเฉิน เข้าใจความเสี่ยง และต้องสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตเป็นโอกาสได้”
สู้กันด้วยข้อมูล ด้วยสายตาที่เป็นธรรม
คุณปรารถนา ฉายประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคสื่อสารมวลชน กล่าวว่า มุมมองที่แตกต่างจากความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านได้ช่วยเผยให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ต่างฝ่ายไม่เห็นมาก่อน เช่นในฐานะสื่อเราจะมองภาพได้กว้าง แต่ในเชิงลึกก็จำเป็นต้องมีสายตาจากภาคอื่นๆ มาช่วยทดแทน
“ทุกฝ่ายสู้กันด้วยข้อมูลจริงๆ อย่างเราเป็นสื่อได้ลงพื้นที่เยอะ ก็จะพยายามแสดงมุมมองที่เราลงไปเห็นหรือรับรู้มาทั้งหมด ทีนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เขาก็จะเอาข้อมูลออกมาแสดงกัน มีการถกเถียงเกิดขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายพอเห็นว่าข้อมูลอีกฝ่ายหนึ่งดีกว่า เปิดให้เห็นเรื่องราวเชิงลึกได้มากกว่า ก็จะเกิดการยอมรับ ลงมติร่วมกันได้
“อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ ทั้งสี่ฝ่ายต้องทำงานบนฐานของความยุติธรรม ไม่ลำเอียง มองแต่ละโครงการด้วยสายตาที่เป็นธรรม มุ่งเป้าหมายที่การช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก เพราะในภาพรวมแล้ว บางโครงการพิจารณาในแง่ธุรกิจอาจไม่คุ้มค่า แต่พอเห็นว่าทำแล้วจะช่วยเหลือคนด้อยโอกาสให้เขายืนได้ หรือไปต่อได้สักครึ่งหนึ่งของกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือทุกคนภูมิใจ ถือว่าผลของโครงการบรรลุแล้ว”
ข้อถกเถียงโต้แย้งที่นำไปสู่มติเอกฉันท์ ได้โครงการที่ชัดเจนทุกแง่มุม
ผศ.บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจเอกชน กล่าวว่า การมีหลายฝ่ายมาร่วมกันทำให้เกิดความเข้มข้นของการพิจารณาในหลายมิติ เช่นสื่อสารมวลชนจะมีข้อมูลของชุมชนที่ละเอียด ขณะที่ปราชญ์ชุมชนคือคนที่สามารถวิเคราะห์ได้ทันทีว่าแต่ละโครงการจะส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายได้มากน้อยอย่างไร สามารถทำจริงได้หรือไม่ ส่วนภาคเอกชน เราจะดูความคุ้มทุน คุ้มค่า และกิจกรรมที่ทำจะลงลึกไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึงแค่ไหน สำคัญคือโครงการต้องมีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำซาก อาชีพทำออกมาต้องจับต้องได้ ขายได้จริง และภาควิชาการจะลุ่มลึกในเรื่องความสอดคล้องของโครงการต่อการพัฒนาสมาชิกในชุมชน
“เรามองว่าการที่สี่ภาคส่วนได้มานำเสนอและโต้แย้งกัน มันดีกว่าการพิจารณาแบบต่างคนต่างให้คะแนน เพราะความคิดเห็นมันจะกระจายไปคนละทาง ทีนี้พอเรามานั่งอยู่บนโต๊ะเดียวกัน กลั่นกรองข้อมูลเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมามันจึงครอบคลุมในทุกมิติ โดยหลังจากที่เอาข้อดีข้อเสียมาถกกันแล้ว วงพิจารณาจะสรุปและอธิบายกันในแต่ละส่วน จากนั้นจะช่วยกันจัดลำดับความน่าสนใจของแต่ละโครงการ ด้วยวิธีนี้ทำให้เราได้มติพิจารณาที่เป็นเอกฉันท์ สามารถเลือกโครงการที่ชัดเจนในทุกแง่มุม”