6 กรกฎาคม 2565 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดผลการวิจัย PISA for Schools การประเมินเพื่อพัฒนาในระดับสถานศึกษาครั้งแรกของไทย ผลวิจัยระบุทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skill) มีความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ พบ “เด็กช้างเผือก” จากครัวเรือนยากจนแต่สามารถอยู่ในกลุ่มที่ทำคะแนนได้สูงสุด 25% มีทักษะอารมณ์สังคม เช่น การควบคุมตนเอง ความอยากรู้อยากเห็น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ที่สูงกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ชี้นอกจากการมุ่งเน้นการสอนด้านความรู้ทางวิชาการแล้ว บรรยากาศของโรงเรียน ห้องเรียน วิธีการสอนและบทบาทของครอบครัว มีผลอย่างมากในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก และเป็นแนวทางพัฒนาที่ไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า PISA for Schools หรือ PISA-based Test for Schools (PBTS) ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างทางสถิติเพื่อวัดระดับความสำเร็จของการศึกษาระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ เหมือนอย่างการสอบ PISA ซึ่งจัดสอบทุก 3 ปี แต่ PISA for Schools เป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาชั้นเรียนและสถานศึกษา และสามารถขยายผลพัฒนาโรงเรียนอื่นที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน รวมถึงนำไปสู่งานวิจัยต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี ได้เชิญประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศทั่วโลกที่มีโอกาสร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องมือ PISA-based Test for Schools นี้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลเพื่อการพัฒนาในชั้นเรียน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลเครื่องมือดังกล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ทดลองใช้ PISA for schools ใน 66 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียน 2,459 คน พบเด็กช้างเผือก (Resilient Student) ซึ่งเป็นนักเรียนจากครัวเรือนยากจนที่มีรายได้น้อยที่สุด 25% ของประเทศสามารถทำคะแนนอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% บนของประเทศ จำนวนหนึ่งที่มีคุณลักษณะด้าน ทักษะอารมณ์และสังคม (social and emotional skill) อยู่ในระดับสูงตรงกัน และเมื่อวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ PISA for Schools จะพบว่า เมื่อควบคุมให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่แล้ว ปัจจัยที่ทำให้นักเรียนช้างเผือกมีผลสมรรถนะที่ดีกว่าเพื่อนแตกต่างจากนักเรียนจากครัวเรือนยากจนทั่วไปคือ การมีระดับทักษะอารมณ์ สังคมสูง โดยบทบาทของผู้ปกครอง โรงเรียน มีผลอย่างมากที่ช่วยให้ระดับทักษะอารมณ์สังคมของเด็กกลุ่มนี้มีมากขึ้น
“กล่าวได้ว่าผลการวิจัยจากโครงการ PISA for Schools นี้เป็นเครื่องมือช่วยให้ กสศ. และหน่วยงานภาคีมีความเข้าใจมากขึ้นในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ หรือ การพัฒนาทางช้างเผือก เพราะ กสศ. และหน่วยงานภาคีเชื่อว่า เด็กทุกคนไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจน สามารถพัฒนาได้ เราเชื่อว่า โรงเรียน ชั้นเรียนและคุณครู พัฒนาได้ แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยความด้อยโอกาสหรือความไม่พร้อม แต่เมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคแล้ว พวกเขาสามารถพัฒนาได้ นี่คือหัวใจของการทำงานของ กสศ. ไม่ใช่การทำงานที่ให้เงินแล้วจบไป ถ้าเราเชื่อมั่นใน เด็ก คุณครู โรงเรียน รวมถึงครอบครัวและชุมชนแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นสู่การสร้างความเสมอภาคที่ยั่งยืน ขั้นตอนต่อไป เราประยุกต์ใช้เครื่องมือ PISA for Schools ร่วมกับทีมวิจัยในประเทศไทยให้เป็นเครื่องมือการประเมินเพื่อการพัฒนาของสถานศึกษาได้ด้วยตัวเอง ที่สอดคล้องกับบริบทของระบบการศึกษาไทย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการศึกษาในระดับนานาชาติ ที่หลายประเทศกำลังผลักดันให้เป็นวาระสำคัญ” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่า PISA for Schools สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาข้อค้นพบเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม หรือ Social and Emotional Skills (SES) และการค้นหาและพัฒนา ‘เด็กช้างเผือก’ ได้ โดยงานวิจัยระบุว่า นอกจากทักษะด้านสติปัญญา (Cognitive Skill) แล้ว กระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม (Social and Emotional Learning) หรือ SEL ถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กและต่อสังคมอย่างมาก ทั้งนี้ ทักษะทางอารมณ์ที่สำคัญแบ่งเป็น 5 ประเภท หรือเรียกว่า Big Five Model ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบต่องาน 2.ทักษะทางอารมณ์ 3.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 4.การเปิดรับประสบการณ์ 5.ทักษะสังคมและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า จากผลทดสอบ PISA for Schools ทำให้ค้นพบว่า SEL มีความสัมพันธ์กับคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเด็กที่มีการควบคุมตัวเองได้ดี มีความอยากรู้อยากเห็น หรือมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะมีผลการเรียนที่ดีตามมา ข้อค้นพบตรงนี้นำเรามาสู่การสำรวจพบ ‘เด็กช้างเผือก’ หรือเด็กที่มีเศรษฐฐานะในระดับ 25% ล่างสุด แต่สามารถทำคะแนนได้สูงอยู่ใน 25% บนสุดของกลุ่มทดสอบ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้เราไปถึงแนวทางในการพัฒนาเด็กคนอื่น ๆ ในภาพรวมได้
“จากเด็กเข้าสอบทั้งหมด มี 76 คน ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มวิชา และมี 5 คนที่คะแนนสูงสุดในทั้งสามวิชา เด็กเหล่านี้คือเด็กช้างเผือกที่ได้รับทุนเสมอภาค ซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด ซึ่ง PISA for Schools เผยให้เห็นพื้นภูมิว่ามีทักษะทางอารมณ์สังคมที่โดดเด่นในหลายเรื่อง เช่น มีการควบคุมตนเอง กล้าแสดงออก และมีทักษะสังคมที่สูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนความอยากรู้อยากเห็น และความเห็นอกเห็นใจก็มีในระดับค่อนข้างสูง แม้ยังเป็นรองเด็กที่มาจากครอบครัวที่เศรษฐฐานะดีที่สุด”
ดร.ภูมิศรัณย์ ย้ำด้วยว่า ในอีกเรื่องที่ค้นพบ เด็กช้างเผือกกลุ่มนี้จะมีการสนับสนุนจากผู้ปกครองในหลายด้าน เช่น การเสริมความมั่นใจ การศึกษาการฝ่าฟันความยากลำบากทำให้เห็นว่าแม้มาจากครอบครัวยากจนที่สุด หรือผู้ปกครองมีระดับการศึกษาที่ไม่สูง แต่หากเขาได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา การให้กำลังใจจากผู้ปกครอง เด็กก็สามารถไปสู่ความสำเร็จทางวิชาการได้
“ยิ่งผู้ปกครองสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีความอยากรู้อยากเรียน มองโลกในแง่ดี เกิดความมั่นใจในการเรียน และเป็นการพัฒนาส่งเสริมทักษะอารมณ์สังคมของเด็กให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือเมื่อมองไปที่ปัจจัยของโรงเรียน จะพบว่าบรรยากาศในห้องเรียนที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมรบกวนในระหว่างการเรียนการสอน มีการเปิดกว้างทางความคิดเห็นก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ทักษะอารมณ์สังคมของเด็กพัฒนาไปในเชิงบวก ทั้งนี้หากโรงเรียนมีปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งกันสูง ทักษะอารมณ์สังคมของเด็กจะเป็นเชิงลบ ดังนั้นปัจจัยเรื่องบรรยากาศโรงเรียน ห้องเรียน วิธีการสอน นับว่ามีผลต่อเด็กในเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคมโดยตรง”
เมื่อลองนำผลทดสอบจาก PISA for Schools มาคิดคำนวณเพื่อสะท้อนไปถึงผลลัพธ์ทางวิชาการ ก็จะพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดคือ เศรษฐฐานะหรือระดับการศึกษาของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปยังปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ หรือคุณสมบัติที่อยู่ภายใต้กรอบ SEL ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนาได้ จะเห็นว่าเราสามารถถ่ายทอดแนวทาง ข้อมูล หรือทัศนคติในการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็กไปสู่ครอบครัว
“โรงเรียน ครู และผู้ปกครองเป็นแรงผลักดันสำคัญของเด็กได้ หากกล่าวโดยสรุป SEL ถือเป็นแนวทางการพัฒนาเด็กได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนในทุกระดับและจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคตของเด็กได้ในระยะยาว” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
ด้าน Dr.Joanne Caddy นักวิเคราะห์อาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยโครงการ PISA for Schools ประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่พร้อมด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวนักเรียนและโรงเรียน การที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง Growth Mindset และบ่มเพาะทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็กอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เด็กเพิ่มพูนทักษะความรู้ทางวิชาการได้ทัดเทียมกับเด็กรุ่นเดียวกันที่มีความพร้อมมากกว่าในหลายๆ ด้านได้
“Growth mindset มีความหมายว่า เด็กนักเรียน เชื่อว่า ตนเองมีความสามารถในการเรียนรู้ คือเมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหา เด็กจะเชื่อว่าตนเองจะหาหนทางเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งตรงข้ามกับ fixed mindset ที่เด็กเชื่อว่าตนเองไม่มีทางเรียนรู้ได้เพราะไม่ฉลาด เพราะไม่มีพร้อมเหมือนคนอื่น Growth mindset จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กได้รับการอบรมสั่งสอนเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคม และเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ปลูกฝัง บ่มเพาะ และสั่งสม แนวทางการวัดก็คือการใช้แบบสอบถามให้เด็กได้คิดทบทวนกับตนเองว่า จะใช้วิชาที่เรียนแก้ปัญหาอย่างไร”
ดร.โจแอนน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นค้นพบจากการศึกษาในโครงการฯ ว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคม จะมีความมั่นคงทางจิตใจ คือไม่กลัวที่จะล้มเหลว และไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น ดังนั้น จึงทำให้เด็กเหล่านี้เป็นผู้เรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้จะนำไปสู่สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่างานวิจัย โดยจะนำไปสู่การสร้างให้เด็กไทยเป็นนักเรียนช้างเผือกได้ทุกคน เพราะผลของ PISA for Schools จะทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพสูงเพื่อยกสมรรถนะของเด็กทุกคน
“สิ่งที่สำคัญคือครูต้องช่วยศิษย์ ช่วยพัฒนาเด็กให้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้านคือ มีค่านิยม เจตนคติ ทักษะ และความรู้ที่ผสมกลมกลืนกัน และต้องการกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกหรือ Active Learning ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนและในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่ครูไทยยังขาดอยู่คือเครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินและปรับปรุงการทำหน้าที่และวิธีการสอนของครูให้กับนักเรียน ซึ่งในอนาคตถ้าเราสามารถพัฒนาเครื่องมือประเมินแบบ PISA ขึ้นมาเป็นของเราเอง เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้ประเมินตัวเองได้ และออกแบบมาใช้สำหรับเด็กในทุกช่วงอายุ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงตัวเองทั้งครู นักเรียน และโรงเรียน และนำผลเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนรู้ ก็จะเกิดการปรับปรุงและพัฒนาวงจรการเรียนรู้ คุณภาพการศึกษาของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว