โรงเรียนบ้านนาเส อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโรงเรียนชนบทขนาดเล็ก แม้จะเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็มีเด็กนักเรียนทั้งหมดเพียง 283 คนเท่านั้น ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของครอบครัวเด็กนักเรียนมีรายได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำสวนยางหรือรับจ้างกรีดยาง มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าและเป็นข้าราชการ
ด้วยบริบทอันเนิบช้าแบบชนบทอันเรียบง่าย จึงไม่แปลกหากมุมมองความคิดของผู้ปกครองและเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งจะไม่มีความกระตือรือร้นต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากนัก ขณะเดียวกันรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ผ่านมาก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม ๆ ไม่ได้สร้างความน่าสนใจหรือดึงดูดใจให้นักเรียนเกิดความกระหายเรียนรู้ จึงทำให้คุณครูในโรงเรียนค่อนข้างกังวลต่อผลลัพธ์การศึกษาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในกระแสโลก โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างมีความสำคัญต่อโอกาสใหม่ ๆ ในวันข้างหน้า เพราะวิชานี้ก็เหมือนเป็นประตูบานแรกที่จะพาเด็ก ๆ เปิดออกไปสู่โลกกว้างได้
เพื่อมองหาปรึกษาทางความคิดและการออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ๆ ให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อนักเรียนทางผู้บริหารโรงเรียนบ้านนาเสและคุณครูส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจได้เข้าร่วมโครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ และกระบวนการ PLC Coaching กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเวลาต่อมา
Open Mind เปิดใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนหรือการศึกษาของเด็กไทยมากกว่า นี่คือสิ่งที่สนใจ เราคิดว่าน่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว การเรียนของเด็กในยุคนี้เมื่อเทียบกับเรา ย้อนกลับไปเรารู้สึกว่ามันแทบจะไม่ต่างกันเลย ซึ่งมันผ่านมา 20 – 30 ปีแล้ว”
ครูบิ้ว – พิมพ์พลอย กิติโชติ ครูสอนภาษอังกฤษ โรงเรียนบ้านนาเส อธิบายถึงจุดเริ่มต้น เมื่อผู้บริหารโรงเรียนเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าอบรม PLC กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมามีการแนะนำให้ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เข้าไปประยุกต์และจัดการเรียนการสอนแบบเอาเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ หรือ Active Learning ในชั้นเรียน
“ตอนแรกคือไม่เข้าใจว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์ จะมาใช้กับวิชาภาษาอังกฤษได้อย่างไร แต่เมื่อได้ไปอบรมก็เข้าใจว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์ พื้นฐานก็คือ การสังเกตและการคิดวิเคราะห์ ที่นักเรียนสามารถรวบรวมข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เมื่อเราจับจุดได้ก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปออกแบบกับการสอนภาษาอังกฤษ
“สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการ PLC คือที่เราต้องปรับมุมมองความคิดเราว่า มันคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละคน ไม่มีการผิดหรือถูก และเราก็เอากลยุทธ์หัวใจสำคัญตรงนี้มาใช้ในห้องเรียนด้วย”
ด้วยความที่เป็นมือใหม่ ครู บิ้ว ยอมรับว่า เมื่อเริ่มปรับการสอนโดยใช้หลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบการเรียนของ Active Learning ก็พบปัญหาและมีความกังวลอยู่บ้าง ว่าสิ่งที่ทำมาถูกทางหรือไม่ แต่การมี Coaching จาก มอ. มาช่วยดู ช่วยแนะนำ เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นก็ทำให้ผ่านพ้นปัญหาตรงจุดเริ่มต้นมาได้
“อุปสรรคแรกเลยคือ เราต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดตัวเองใหม่ ในครั้งแรกที่เราจะเปลี่ยนมาใช้การสอนแบบนี้ สำคัญที่สุดคือเราต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพเท่ากัน”
Active Learning Classroom คิดแบบวิทยาศาสตร์ ในวิชาภาษาอังกฤษ ทำอย่างไร ?
“อย่างเช่นถ้าจะสอนเด็ก ป.2 เรื่อง this กับ that ใช้อย่างไร เราไม่ต้องบอกว่า this ใช้กับของอยู่ใกล้ that ใช้กับของอยู่ไกล เราปรับเป็นไม่บอกก่อน เราวาดรูปให้เขาเห็น แล้วให้เขาสังเกตจากรูปวาดที่เราวาดให้ดู”
ครูบิ้ว เล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนที่ใช้รูปแบบ Active Learning ให้ฟัง โดยอธิบายอีกว่า เธอมักจะวาดรูปหรือใช้การตั้งโจทย์ปัญหา เพื่อให้นักเรียนในชั้นได้มีส่วนร่วมค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมุติฐาน คิด วิเคราะห์ และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับทั้งคุณครูและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน โดยจะยังไม่ตัดสินว่าความคิดเหล่านั้นจะผิดหรือถูก แต่จะค่อยมาสรุปบทเรียนกันอีกรอบช่วงท้ายคาบ
“พอสุดท้ายเราก็มาถามเขาต่อว่า สรุปแล้วจากที่แลกเปลี่ยนกันของใครน่าจะใช่ที่สุด เขาก็คิดกันว่าจะเป็นแบบนี้ ๆ แล้วเขาจะสรุปกันได้ว่า this กับ that ใช้อย่างไร โดยที่ครูไม่ต้องเริ่มจากการอธิบายก่อน”
ครูภาษาอังกฤษ แห่งโรงเรียนบ้านนาเส เล่าอีกว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าเพื่อนและคุณครูรับฟังความคิดเห็นของเขา สามารถลดอคติความกลัว ที่มีต่อภาษาอังกฤษลงได้ เมื่อสิ่งนี้หายไป ทักษะการพูด การเขียน วิชาภาษาอังกฤษก็จะดีขึ้นเองตามลำดับ
“เราเห็นชัดนะว่าเด็ก ๆ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น การสอนแบบ Active Learning ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแบก ต้องจด ต้องจำ และไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องเครียด แต่เขาทำได้ด้วยตัวเขาเอง ค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายคือเด็ก ๆ ภูมิใจที่เขาทำออกมาได้ด้วยตัวเอง หลายคนเลยมาสะท้อนให้เราฟังว่า วันนี้สนุก วันนี้รู้สึกว่าได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม สนุกที่ได้ข้อมูลใหม่ ๆ จากเพื่อน เขารู้สึกตื่นเต้นว่าวันนี้ครูจะให้ทำอะไร นี่คือเสียงตอบรับของเขา”
ครูบิ้ว ยังมองว่า กระบวนการ PLC ที่ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning รวมถึงการได้รับคำปรึกษาเป็นระยะจากโค้ช เป็นทั้งการทบทวนตัวเองจากภายใน และการได้รับเสียงสะท้อนจากภายนอกที่จะเข้ามาพร้อมกับข้อแนะนำและไอเดียดี ๆ เป็นสิ่งที่จะสามารถนำพาโรงเรียนบ้านนาเสไปสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพมาตรฐาน TSQP – Teacher and School Quality Program ได้ เพราะการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร หรือเรามีจุดแข็งอะไร จะถูกนำคิดเพื่อปรับแก้ในระบบของโรงเรียน ซึ่งก็คือการพัฒนาทั้งคุณภาพของระบบบริหารจัดการ และผลลัพธ์ที่จะเกิดเป็นการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียน เพราะการค้นพบใหม่ ๆ ของเราหรือของเพื่อนครู สุดท้ายก็จะถูกถ่ายทอดระหว่างกันในการ PLC แล้วลงไปสู่นักเรียนเพื่อให้พัฒนาเกิดสมรรถนะใหม่ทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องติดอาวุธให้เขา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือไกลแค่ไหนก็ตาม
“เรามี PLC กันเพื่อมาเห็นปัญหา และมาพัฒนาแก้ไข หรือมาเพิ่มเติมแต่ละโรงเรียน หรือบุคลากรทางการศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมาแลกเปลี่ยนคุยกัน เปิดใจคุยกัน หากมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อการพัฒนา เราก็ทำมันได้สำเร็จ” ครูบิ้ว สรุปทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ
Yes . Keep going, we ‘ll support you.