ช่วงเริ่มต้นของการเปิดเทอมเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดึงดูดนักอ่านรุ่นเยาว์ให้กลับมาสนใจหนังสืออีกครั้ง ทีมนักวิจัยด้านการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา จึงมีเคล็ดลับมาฝากพ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครู เพื่อกระตุ้นโน้มน้าวให้เด็กอยากอ่านหนังสือมากขึ้น บ่มเพาะปลูกฝังจนมีนิสัยรักการอ่านให้ติดตัว เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในช่วงเวลาที่เด็กสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง การบ้านและกิจวัตรด้านการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จะต้องตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กระนั้น สิ่งที่น่าปวดหัวไม่แพ้กันสำหรับครู พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ก็คือการหาทางโน้มน้าวหลอกล่อให้ลูกหลานหาหนังสือมาอ่านเสริมความรู้ให้มากขึ้นนอกเหนือไปจากการทำการบ้านให้เสร็จ ซึ่งประโยชน์ในการนี้ยังรวมไปถึงการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปกว่า 2 ปี จากการปิดโรงเรียนเพราะภาวะการณ์โควิด-19 ให้กลับมาได้เร็วขึ้น
งานนี้ Lakeisha Johnson ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัย Florida State University ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือของศูนย์วิจัยเพื่อการอ่านแห่งฟลอริดา หรือ Florida Center for Reading Research ได้รวบรวมข้อมูลและคำแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ในการเติมเต็มบางช่วงเวลาเพื่อส่งเสริมให้บุตรหลานกระตือรือร้นขวนขวายหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติม
“การเริ่มต้นปีการศึกษาเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดึงดูดนักอ่านรุ่นเยาว์ให้กลับมาอีกครั้ง และบางครั้ง การหาหนังสือหรือรูปแบบที่เหมาะสมสามารถจุดประกายที่จะอยู่กับพวกเขาตลอดไป” Johnson ผู้เขียนเว็บไซต์หนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กที่หลากหลาย Maya’s Book Nook กล่าว
สำหรับเคล็ดลับที่ Johnson นำมาฝากก็คือ
1) Let your child lead ปล่อยให้เด็กเป็นผู้เลือก
เปิดทางให้เด็กเป็นผู้เลือกหนังสือตามความสนใจ ไม่ว่าพวกเขาจะชอบหนังสือภาพ นิยายภาพ นิยาย ชีวประวัติ กวีนิพนธ์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพราะเด็ก ๆ จะมีแรงจูงใจในการอ่านมากขึ้น เมื่อพวกเขาเริ่มต้นจากความสนใจในหัวข้อนั้น ๆ
2) Make reading a family activity ทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมครอบครัว
เลือกช่วงเวลาของวันที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถละทิ้งทุกอย่างและมานั่งอ่านหนังสือร่วมกัน โดยเด็กมักจะทำตามแบบอย่างที่บรรดาผู้ใหญ่แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังนั้น เด็ก ๆ จะให้ความสำคัญกับการอ่านเมื่อเห็นผู้ใหญ่อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านหนังสือเพื่อความสนุกสนานบันเทิง
3) Keep reading aloud อ่านออกเสียง
อ่านหนังสือออกเสียงร่วมกันยังคงใช้ได้เสมอ แม้ว่าลูก ๆ จะโตพอที่จะอ่านด้วยตัวเองได้แล้วก็ตาม เพราะเมื่อผู้ใหญ่อ่านออกเสียง จะเหนี่ยวนำให้เด็กนิ่งและมีสมาธิในการฟังเสียงของบุคคลที่ตนเองไว้ใจและให้ความเคารพรัก และเด็กเองก็สามารถมุ่งความสนใจไปที่การทำความเข้าใจเรื่องราวเพียงอย่างเดียวและมีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างกระตือรือร้นนอกเหนือจากข้อความที่ปรากฎในหนังสือ
4) Introduce a fun series แนะนำหนังสือเรื่องยาวที่สนุก
ไม่ว่าใครต่างก็ไม่ชอบหนังสือเรื่องยาวเล่มหนาที่น่าเบื่อหน่าย ดังนั้นเรื่องยาวในลักษณะที่เป็นซีรีส์ที่มีเรื่องราวน่าดึงดูดใจจึงเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการดึงดูดให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมและต้องการอ่านตอนต่อ ๆ ไปจนจบ จนในที่สุดก็จะหาอ่านซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ด้วยตนเอง
5) Go beyond storybooks อ่านให้มากกว่าหนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราว
ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าการอ่านไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่เป็นเล่มหรือเป็นเรื่องเป็นราวจนจบเรื่องไปเพียงเท่านั้น บางทีการลองได้อ่านตำราอาหารเพื่อหาแนวคิดเรื่องอาหารหรือของหวานใหม่ ๆ หรือค้นหานิตยสารสำหรับเด็กก็สามารถจุดประกายความสนใจในหัวข้อใหม่ได้ หรืออาจเป็นการลองฟังหนังสือเสียงก็อาจช่วยเพิ่มความสนุกแปลกใหม่ที่มากกว่าการอ่านหนังสือตามปกติได้เช่นกัน
ที่มา : Back to School: Literacy researcher offers tips on encouraging kids to read more