ลึกเข้าไปหลังต้นไม้ใหญ่ดูสงบและร่มรื่นสบายตาแห่งนั้น สองข้างทางขนานไปกับรางรถไฟ มีเสียงผู้ใหญ่คอยตะโกนโหวกเหวก บอกให้เด็ก ๆ ถอยห่างออกจากรางเพื่อป้องกันอันตราย ภาพแบบนี้คือชีวิตปกติที่เห็นได้ในทุก ๆ วันของ ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ ที่สิ่งปลูกสร้างง่าย ๆ แทนบ้าน ตั้งเบียดเสียดกันแบบแทบประจัญหน้าและต้องระวังทุกครั้งที่รถไฟวิ่งผ่าน
ทองพูล บัวศรี หรือ ‘ครูจิ๋ว’ ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ) ทำงานร่วมกับชุมชนแห่งนี้มาหลายปีแล้ว ชุมชนที่แออัดกันเหมือนมีขนาดไม่ใหญ่ กลับมีหลายครอบครัวอยู่อาศัย เฉพาะเด็ก ๆ ในวัยเรียนมีอยู่มากว่าร้อยคน ซึ่ง ครูจิ๋ว เพิ่งนำข้าวสารอาหารแห้งและรองเท้านักเรียนมามอบให้ เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็ก ๆ และลดภาระรายจ่ายของบรรดาผู้ปกครองในชุมชนไปในตัว
ความหมายของ ‘รองเท้าคู่ใหม่’
“ตอนนี้เด็กเปิดเทอมใหม่มาแล้ว 3 เดือน แต่บางคนยังต้องใส่รองเท้าคู่เก่าตั้งแต่ก่อนโควิด เท้าเขาโตเร็วก็ต้องใส่ไปคับ ๆ แบบนั้น ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ บางคนเรียนไปด้วยทำงานด้วย ตกกลางคืนต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ไปขายพวงมาลัย ดอกจำปี จำปา รายได้ตรงนี้ เขารู้สึกสำคัญกับเขากว่าการไปโรงเรียน บางคนจึงตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันก็มี อายุเขายังอยู่ในชั้นประถมอยู่เลย” ครูจิ๋ว เล่าถึงสถานการณ์
แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ ‘ฟรีจริง’ โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในโรงเรียนกลับสร้างภาระหนักไม่แพ้ค่าครองชีพ เฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องแบบที่ต้องจ่ายเพิ่มมากกว่า 2,000 บาท เนื่องจากค่าชุดนักเรียนสวัสดิการที่ได้มาไม่พอและไม่ครอบคลุมในอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋านักเรียน ยังไม่นับ ปัจจุบันต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ในแต่ละสัปดาห์เข้าไปอีกด้วย
“ทำไมรองเท้าจึงสำคัญ เด็กบางคนไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียน หรือบางคนเท้าโตขึ้นก็ใส่เหยียบส้นไป เวลาเข้าแถวก็โดนก่อนเลยเรื่องแต่งตัวไม่สุภาพ ก็เลยต้องจัดหาให้เด็ก ๆ เพื่อให้ถูกระเบียบของโรงเรียนด้วย”
สิ่งเหล่านี้สำหรับครอบครัวที่พอมีฐานะอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับชาวชุมชนโค้งรถไฟยมราช หรืออาจรวมถึงอีกหลายชุมชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ซุกซ่อนอยู่ในกรุงเทพ ฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากกว่ารายได้ต่อวันเสียอีก ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องเสีย เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียนในแต่ละวัน
“ทุกปีจะต้องหางบประมาณมาสนับสนุนเด็กกลุ่มเปราะบางให้ได้ราว 200,000 บาท รวมถึงความช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งในระยะหลังราคาของได้ขยับขึ้นไปสูงกว่าเดิมมาก เด็กส่วนใหญ่ในชุมชนโค้งรถไฟยมราชจะศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งจะมีสวัสดิการที่มากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โดยจะมีค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน ประกันอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม งบประมาณจำนวนนี้ยังไม่เพียงพออยู่ดี ตอนนี้จึงกำลังทำข้อมูลของชุมชนเพิ่ม เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถรับทุนจาก กสศ.เป็นต้นทุนในการศึกษาต่อไปในระยะยาวได้” ครูจิ๋ว ระบุ
ขายพวงมาลัย จำปี จำปา
ข้าง ๆ ครูจิ๋ว มีแฟ้มปึกหนึ่ง ในนั้นมีรายละเอียดของเด็ก ๆ ที่ต้องขายพวงมาลัย จำปี จำปา เป็นอาชีพเสริม แต่เพราะบางคนตัดสินใจออกจากโรงเรียนไปแล้ว ข้อมูลที่บันทึกจึงกำลังเปลี่ยนไปเป็นอาชีพหลักของเด็กในชุมชน บางทีแฟ้มนี้อาจเป็นเสมือนสิ่งชี้วัดที่เห็นกันได้ชัดเจน เพราะหากระบบการศึกษาทำงานอย่างสัมฤทธิ์ผล แฟ้มนี้ควรมีขนาดที่บางลง แต่หลายปีที่ผ่านมาขนาดความหนาของแฟ้มดูเหมือนจะเป็นสิ่งตรงข้าม
การศึกษายังเป็นต้นทุนอันหนักหน่วงสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนโค้งรถไฟยมราชแห่งนี้ที่บางครอบครัวคือรายได้ยังติดลบ หรืออาจหายไปทั้งหมดในช่วงการระบาดโควิด – 19 ที่ผ่านมา ทำให้แม้จะยังไม่ได้จ่ายเพื่อการศึกษาเลย แต่ในแต่ละวันก็ยังต้องหาวิธีหารายได้เพิ่มจึงจะเอาตัวรอดได้ ฉากทัศน์ถัดไปจึงหลีกไม่พ้นภาพของเด็ก ๆ ที่ต้องเลือกระหว่างเรียนต่อหรือออกมาเลี้ยงชีพด้วยการขายพวงมาลัย จำปี จำปา ข้างถนน แม้จะต้องเสี่ยงกับชีวิตและข้อกฎหมายว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กก็ตาม
“ครูอยากให้ได้เรียนทุกคน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเด็กต้องออกจากโรงเรียนด้วยความจำเป็นของเขา อย่างในวันนี้ที่มามอบรองเท้ามีเด็กขอสละสิทธิไปแล้ว 7 คน เพราะเขาบอกว่าจะเลิกเรียนแล้ว”
ทำไมเรียนฟรี 15 ปี จึงยังไม่เป็นจริง
“มันไม่พอไง เพราะสิ่งที่ต้องซื้อมันแพงกว่า อย่างกระโปรงตัวใหญ่ของเด็กคนนั้น ตัวหนึ่ง 700 กว่าบาทแล้ว แต่ค่าชุดนักเรียนที่จัดสรรมาแค่ 360 บาท กระโปรงสักตัวยังซื้อไม่ได้เลย”
ครูจิ๋ว สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า มีอย่างน้อย 2 ประเด็นสำคัญ ที่ทำให้การเรียนฟรี 15 ปี ไม่เกิดขึ้นจริง โดยประเด็นแรกเกี่ยวกับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะแทบจะจัดสรรเท่าเดิมทุกปี ในขณะที่ราคาสินค้ามีแต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของฐานข้อมูลที่ไม่เชื่อมต่อกันและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประชากรที่ต้องเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งงาน โดยเฉพาะการกระจุกตัวของคนต่างจังหวัดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับสิทธิประโยชน์ทางการศึกษา
“เรื่องงบประมาณ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ให้ฟรี 3 รายการ คือ ชุดนักเรียน 360 บาท อุปกรณ์การเรียน 195 บาท ค่าทัศนศึกษา 500 บาท แต่เวลาเด็กไปโรงเรียนจริง ยังมีค่ารองเท้า ต่อมาคือค่ากระเป๋านักเรียน ราคาถูกสุด 199 – 300 บาท เมื่อกี๊แค่หนึ่งกระโปรงก็ไม่พอแล้ว ค่ารองเท้า ค่ากระเป๋าคือไม่มี ยังไม่รวมค่าเดินทางและค่าอาหาร แต่สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม. จะดีที่มีค่าอาหารเช้าและเที่ยงให้ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ทำให้การเรียนฟรีไม่ฟรีจริง”
ครูจิ๋ว กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหานี้จึงได้ทำโครงการเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นคือโครงการแบ่งปันอุปกรณ์การเรียนและกระเป๋านักเรียน พอโพสต์ขึ้นไปบนเฟซบุ๊กก็ได้บริจาคมาซื้อกระเป๋า 170 ใบ ก่อนรองเท้าก็นำกระเป๋านักเรียนมาแจกที่นี่ไปแล้วรอบหนึ่ง
สำหรับปัญหาของฐานข้อมูล ครูจิ๋ว บอกว่า หากยกตัวอย่างชุมชนโค้งรถไฟยมราช ถ้านับตามทะเบียนบ้านจะมีแค่ 198 คนเท่านั้น แต่นอกนั้นคือคนนอกทะเบียนบ้านทั้งหมด ที่อาจมาเช่าอยู่หรือมาขออยู่ ซึ่งปัญหานี้มีทุกชุมชนในกรุงเทพ ไปชุมชนบ่อนไก่ก็จะเจอปัญหานี้เหมือนกัน
“ตัวอยู่ในชุมชน แต่ทะเบียนบ้านอยู่ที่อื่น พอตามทะเบียนบ้านไปต่างจังหวัดไม่เจอตัวเขาก็ไม่ให้สิทธิต่าง ๆ แต่พอไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านกรุงเทพ เด็กหลายคนก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบช่วยเหลือหรือสวัสดิการได้ ยังมีกรณีบางคนไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักด้วย พอไม่มีก็หลุดอีก”
ครูจิ๋ว บอกว่า หากเจอกรณีเหล่านี้ก็จะเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กทั้งหมด โดยจะเอาเข้าทะเบียนบ้านกลางก่อน แล้วถ้าเขาย้ายไปตรงไหนเขตไหนก็ย้ายชื่อตามไปตรงนั้น เช่น เขตหลักสี่บอกไม่มีชื่อ เราก็ย้ายเขาเข้ามูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเขตหลักสี่ ตรงนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบหนึ่งเพื่อให้เขาได้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ได้เป็นสิ่งแรก
“เราต้องเก็บเด็กกลุ่มที่ตกหล่นให้ได้ ทำในส่วนที่คนอื่นเข้าไม่ถึง และไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ หน้าที่ของคนทำงานภาคประชาชนแบบเรา คือการอุดช่องโหว่และเป็นกลไกเชื่อมประสานระหว่างรัฐที่มีงบประมาณให้เจอกับเด็ก เราไม่มีงบประมาณ แต่เรามีพลังและมีข้อมูล เรามีตัวเด็กที่มองเห็นว่าเขามีปัญหาเกิดขึ้น เราก็เอาไปเชื่อมกับหน่วยงานที่มีงบประมาณเพื่อให้เด็กได้รับโอกาสมากที่สุด”
แต่ ครูจิ๋ว บอกว่า ยิ่งทำมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจเพราะคนจนเยอะขึ้นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่อีกประเด็นคือ เขากล้าเปิดเผยตัวและไว้วางใจเรามากขึ้น เพราะคนทำงานเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือข้อมูลที่ต้องเปิดเผย เพราะจะทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น เวลาเราทำงานเราก็เปิดทั้งหมด
“บางส่วนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่เราทำให้กลับคืนมา 6 – 7 คน เป็นการกลับคืนที่น่าภาคภูมิใจ เด็กที่อาจจะไปต่อไม่ไหว จะต้องเข้าไปประคอง เรายังหยุดไม่ได้ ต้องช่วยอุดช่องว่างกันต่อไป”
ในวันที่นโยบายเรียนฟรี 15 ปียังคงไม่เป็นจริง หน้าที่ของตัวกลางระหว่างรัฐ เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ยังคงมีความสำคัญ จำเป็น และมีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อช่วยกันอุดช่องว่างที่สวัสดิการของรัฐยังมีไม่พอ หรือไปไม่ถึงเด็ก ๆ อีกจำนวนมากในเวลานี้