ซาเอะ ชิมะอุจิ (Sae Shimauchi) รองศาสตราจารย์แห่งศูนย์นานาชาติ (International Center) แห่ง Tokyo Metropolitan University กล่าวว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เท่าเทียมกันยังคงเผชิญอุปสรรคในญี่ปุ่น เนื่องจากปล่อยให้ผู้เรียนและครอบครัวเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบในด้านทุนการศึกษา ซึ่งแม้ว่าครอบครัวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยินยอมแบกรับภาระหนี้ แต่รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ เพื่อทำให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาสามารถเข้าถึงได้ และมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ปี 2017 นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาของญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีการออกมาตรการด้านทุนการศึกษาที่สามารถขอคืนเงินได้โดยเชื่อมโยงกับรายได้ แต่มาตรการสนับสนุนช่วยเหลือดังกล่าวกลับจำกัดเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และออกแบบมาเพื่อสนับสนุนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในกลุ่มที่รองรับเศรษฐกิจเป้าหมายตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ในขณะที่สาขาวิชาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ยังคงถูกเพิกเฉย ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดข้อกำหนดที่เข้มงวดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาทำให้มีอุปสรรคในการสรรหาอาจารย์ที่มีประสบการณ์จริงนอกภาคการศึกษา รวมถึงปัญหาจากระบบการประเมิน
รองศาสตราจารย์ ชิมะอุจิ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมาจากมุมมองว่าครอบครัวควรเป็นผู้ลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ปัญหาโครงสร้างประชากรที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญใหญ่เกินไปที่จะทิ้งการศึกษาระดับอุดมศึกษาไว้กับการพึ่งพาสมุดบัญชีของครอบครัวได้
“เพื่อหยุดยั้งอัตราการเกิดที่ลดลงของญี่ปุ่นและเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ภาระค่าเล่าเรียนจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข จากการสำรวจโดยสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่มีบุตรตามที่ตนเองต้องการ”
รองศาสตราจารย์ ชิมะอุจิ ย้ำว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการอย่างมากคือ ทุนการศึกษาที่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางด้วย
“การที่ระบบการจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งเคยขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 ที่มีการเติบโตสูงของญี่ปุ่น ได้กลายเป็นสิทธิพิเศษที่มอบให้กับแรงงานทักษะสูงแต่ยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้น การมีโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษาจะช่วยให้เด็กจบใหม่มีโอกาสได้งานเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ แรงงานกลุ่มคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักเลือกทำงานพาร์ทไทม์มากขึ้นเรื่อย ๆ และ 1 ใน 3 ของผู้ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาจะทำงานเฉลี่ยแต่ละที่ไม่ถึง 3 ปี แล้วตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกว่าได้โอกาสในการทำงานไม่คุ้มกับที่เรียนจบมา”
แม้ว่า มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจะบัญญัติไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิได้รับโอกาสเข้าถึงด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกับความสามารถของตน ขณะที่ กฎหมายพื้นฐานของการศึกษายังกำหนดว่ารัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นต้องใช้มาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่เผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกลับสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ผูกพันตามบทบัญญัติในมาตรา 13 (2) (c) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันและเสนอระบบการศึกษาฟรีแบบก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เหตุผลว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาฟรีในญี่ปุ่นยังคงมีความเป็นไปได้ที่ห่างไกล
ด้าน นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะพัฒนาสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ให้สามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอื่น ๆ ได้ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างระบบสินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากระบบสมทบทุนระดับอุดมศึกษาของออสเตรเลีย (Australia’s Higher Education Contribution System)
นอกจากนี้ ในการประชุมว่าด้วยการสร้างอนาคตของการศึกษาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการประกาศว่า ทุนการศึกษาแบบไม่ชำระคืนในระดับปริญญาตรีสำหรับนักเรียนที่มีรายได้น้อย จะขยายไปยังครัวเรือนที่มีบุตรหลายคน รวมถึงให้ครอบคลุมนักเรียนนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น ซึ่งเดิมทีทุนการศึกษาลักษณะนี้จะเปิดให้บริการเฉพาะนักศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงทุนสนับสนุนสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคนว่ามีความสอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลในการต่อสู้กับภาวะอัตราการเกิดต่ำ
รองศาสตราจารย์ ชิมะอุจิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนนักศึกษาในสาขา STEM เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะมีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาร้อยละ 50 ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) โดยปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 35 % ที่กำลังศึกษาในสาขาเหล่านี้ในญี่ปุ่น เทียบกับค่าเฉลี่ยคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มสมาชิก OECD
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษายังคงมีข้อจำกัดสำหรับนักศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากไม่ใช่สาขาในกลุ่มเป้าหมายในการได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา จึงกลายเป็นปัญหาสำหรับนักศึกษาที่มีรายได้น้อยในสาขาเหล่านี้ จากข้อมูลพบว่า 42.3 % ของนักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์จะเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโททันที ในขณะที่นักศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์ที่เรียนต่อปริญญาโทที่ 2.3 % และ ในสาขามนุษยศาสตร์ที่ 4.4 % เท่านั้น นอกจากนี้ โอกาสการจ้างงานที่จำกัดสำหรับบุคคลที่มีระดับสูงกว่าปริญญาตรีในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน
ในมุมมองของ รองศาสตราจารย์ ชิมะอูจิ เห็นว่า การดำเนินการตามนโยบายที่มุ่งลดภาระทางการเงินสำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาและความพยายามในการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาฟรีในญี่ปุ่นยังคงไม่เพียงพอ ซึ่งการปรับปรุงระบบทุนไม่ใช่เรื่องสำหรับภาคการศึกษาเท่านั้น เพราะการสนับสนุนให้ประชากรเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียม สังคมญี่ปุ่นโดยรวมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
ที่มา : Equally accessible tertiary education in Japan still faces obstacles