เพราะเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย รู้จัก ‘Safe Zone’ เว็บแอปพลิเคชันคลายเครียดเพื่อเพื่อน
ผลงานสุดปังจากนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.

เพราะเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย รู้จัก ‘Safe Zone’ เว็บแอปพลิเคชันคลายเครียดเพื่อเพื่อน

“Safe Zone เป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับผ่อนคลายความเครียด ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ คำว่า Safe Zone ที่เราใช้ชื่อนี้เพราะเราอยากให้มีพื้นที่ เป็นเหมือนกับพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการได้เมื่อตนเองมีอาการเครียด พวกเราเล็งเห็นปัญหาความเครียดตรงนี้มาตั้งแต่ตอนที่เกิดโควิดระบาดในช่วงแรก ๆ และต้องมีการเรียนออนไลน์ เราเลยสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ปัญหาความเครียดในกลุ่มเยาวชนนั้นผ่อนคลายลง”

น้องเอเป็ค – นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้น ปวส.1 แผนกพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว วิทยาลัยเทคนิคพังงา อธิบายถึงที่มาที่ไปของเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ที่เขาร่วมกับเพื่อนในกลุ่มอีก 2 คนคือ น้องนัส – นัฐศิกานต์ เพ็งจันทร์ และน้องส้ม – พิยะดา นิลบุศย์ ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อหวังเปิดพื้นที่สำหรับผ่อนคลายความเครียดให้กับเพื่อนเยาวชนที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

เว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้ นอกจากจะเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดรางวัล Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2564 แล้ว และในการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมเกรซแลนด์ เขาหลัก บีช รีสอร์ท ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 16 – 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีนักศึกษาเข้าร่วมนำเสนอผลงาน 6 ประเทศ คือ ไทย, สิงคโปร์, บังคลาเทศ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และ จีน ซึ่งผลงาน Safe Zone ของพวกเขายังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานตัวอย่างที่นำเสนอบนเวทีในระหว่างพิธีเปิดการประชุมด้วย 

งานนี้ น้องเอเป็ค น้องนัส และน้องส้ม ในฐานะนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้นำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว สร้างความประทับใจให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก แม้น้อง ๆ กลุ่มนี้จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้เพียบพร้อมเหมือนคนอื่น ๆ แต่พวกเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การได้รับโอกาส และการใช้โอกาสที่ได้รับอย่างมีค่า สามารถนำพาชีวิตพวกเขามาสู่จุดที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนรอบข้างได้ไม่แพ้คนอื่น ๆ เลย

จุดเริ่มต้นของเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone

(จากซ้ายไปขวา) น้องนัส – นัฐศิกานต์ เพ็งจันทร์ / น้องเอเป็ค – นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล / น้องส้ม – พิยะดา นิลบุศย์

น้องเอเป็ค เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ Safe Zone แม้จะมีต้นตอความคิดมาจากผลพวงของความเครียดที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่ปรากฎว่าเมื่อได้ลงมือศึกษาข้อมูลด้วยการทำแบบสอบถามไปยังเพื่อน ๆ นักศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคพังงา ก็ได้พบความจริงเพิ่มเติมว่าความเครียดในกลุ่มเยาวชนไม่ได้เกิดจากการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือแม้แต่การที่เทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ก็ส่งผลให้มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งเผชิญกับปัญหาความเครียดสะสมได้เช่นกัน

“เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น เยาวชนเองก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น เพื่อที่จะให้มีงานดี ๆ ทำ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เยาวชนเกิดความกดดันและความเครียด ไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจที่แย่ลงในช่วงการระบาดของโควิด เด็กหลาย ๆ บ้าน ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่เพียบพร้อมมากนัก เมื่อเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ บ้านเขาก็เริ่มมีเงินน้อยลง เขาก็เริ่มเครียด นี่คือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เราอยากมีพื้นที่สำหรับแก้ปัญหาตรงนี้ให้กับเพื่อนเยาวชนครับ”

น้องเอเป็ค เล่าต่อไปว่า ในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ช่วงเริ่มต้น มีการวางกรอบความคิดว่าโปรแกรมนี้ควรจะมีฟังก์ชันอะไรบ้าง เขาใช้คำว่า “เริ่มแรกพวกเรา คิดเอง เออเอง ว่าควรจะมีฟังก์ชั่นอะไร” แต่เมื่อได้ไปปรึกษากับนักจิตวิทยา ผู้มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ทำให้ได้รับคำแนะนำมาว่า เราควรจะไปเริ่มต้นที่การสอบถามกับกลุ่มเป้าหมาย ว่าพวกเขาต้องการอะไร เราจะได้ออกแบบเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างตรงจุดที่สุด

“เราก็เลยลงไปสัมภาษณ์ครับ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนนักศึกษาในวิทยาลัยของเราเอง เด็กทุนที่อาศัยอยู่ในหอพักของวิทยาลัย กลุ่มนี้มีเรียน 6 วันในหนึ่งสัปดาห์ ไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ก็เริ่มมีความเครียดแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเป็นกลุ่มเด็กนักศึกษาทุน กสศ. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฐานะทางบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ พวกหนูเองก็เหมือนกัน ซึ่งหนูเองก็พอที่จะเข้าใจว่าความเครียดมันเป็นยังไง ก็ไปสัมภาษณ์เค้าว่าเวลาเค้ามีความเครียดเค้าจัดการยังไง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เราก็เอาเครื่องมือเหล่านั้นมาสรุปแล้วทำออกมาเป็นฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากที่สุดครับ”

ใครคือกลุ่มเป้าหมายหลักของเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone

“ตอนนี้เรากำหนดนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเอาไว้แค่ใน จ.พังงา เรายังไม่อยากเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้าง เพราะว่าระบบมันยังไม่เสถียร แต่กลุ่มเป้าหมายหลัก ๆ เลย ที่เราคิดว่าเขาควรจะได้ใช้เว็บแอปพลิเคชันนี้ก็คือกลุ่มเยาวชนทั่วไปในประเทศไทย เพราะว่าเว็บแอปพลิเคชันลักษณะนี้มันมักจะมีค่าใช้จ่าย เช่น เวลาที่ต้องการปรึกษาจิตแพทย์ เรื่องปัญหาความเครียด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เราเลยอยากให้มีพื้นที่ที่มันฟรีและเค้าสามารถใช้งานได้ง่าย เข้าได้ทุกช่องทางที่เค้าอยากจะเข้า เมื่อเค้ามีความเครียด” 

น้องนัส – นัฐศิกานต์ เพ็งจันทร์ สมาชิกอีกคนในกลุ่มได้กล่าวเสริมในเรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ของเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ว่า สาเหตุที่ต้องมีการจำกัดกลุ่มเป้าหมายในช่วงทดลองใช้ เนื่องจากจะมีการเก็บข้อมูลฟีดแบ็คจากผู้ใช้นำมาทำการวิเคราะห์ร่วมกับโปรแกรม google analytics เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรมให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น การพัฒนาในส่วนนี้จะมีการทำอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้โปรแกรมสามารถใช้งานและตอบสนองผู้ใช้ได้ดีที่สุด โดยปัจจุบันมียูสเซอร์หรือผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับเว็บแอพพลิเคชั่น  Safe Zone แล้วประมาณ 364 รายชื่อ

เรียนท่องเที่ยว ไม่มีความรู้ด้าน IT แต่มาพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน

น้องส้ม – น.ส.พิยะดา นิลบุศย์ สมาชิกอีกคนในกลุ่มเล่าถึงการแบ่งบทบาทหน้าที่กันในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ว่า ส้มมีหน้าที่ในการออกแบบรูปร่างหน้าตาของเว็บขึ้นมา ในขณะที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นตัวผู้ใช้ร่วมกันผลิตเนื้อหาขึ้นมาเผยแพร่ในเว็บ ถ้านับเวลาจากจุดเริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน เว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone เปิดใช้งานมาเป็นเวลาปีกว่า ๆ แล้ว ทั้ง 3 เคยนำผลงานนี้ไปเข้าร่วมประกวดในงาน Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นำเงินรางวัลที่ได้รับมา มาพัฒนาต่อยอดเว็บแอพพลิเคชั่นให้มีประสิทธิภาพใช้งานได้ดียิ่งขึ้น 

“เป้าหมายของพวกเราคือ แม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ จากการส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนั้น แต่พวกเราก็จะตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นนี้ต่อไปให้ดีที่สุดตามกำลังและทรัพยากรเท่าที่มีค่ะ” 

น้องเอเป็ค กล่าวเสริมว่า พวกเขาเรียนอยู่ในแผนกพาณิชยกรรมและบริการ ฐานวิทยาศาตร์ สาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี IT หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมาก่อนเลย ทำให้พวกเขาทำงานได้ค่อนข้างยากลำบากในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อก้าวแรกเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ยากที่ก้าวที่สอง ที่สาม และก้าวต่อ ๆ ไป จะตามมา 

“เราไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติมกันด้วยตัวเองครับ ทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นองค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการทำเว็บแอปพลิเคชันตัวนี้ เราไปค้นหามาหมด ทั้งการทำกราฟิก การออกแบบรูปร่างหน้าตาของเว็บไซต์ เราศึกษาและให้ความสำคัญแม้กระทั่งเรื่องจิตวิทยาของการใช้สีต่าง ๆ ที่จะมีผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจของผู้พบเห็น เพราะเราอยากให้มันได้ผลจริง ๆ ต่อเยาวชนครับ”

ไม่ใช่ ‘ศาลาคนเศร้า’ แต่เป็น ‘พื้นที่ผ่อนคลายความเครียด’

วัยรุ่นที่เติบโตในช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 คงจะยังจำนิตยสารเล่มหนึ่งที่ชื่อ ‘ศาลาคนเศร้า’ ได้อยู่บ้าง สมัยนั้นนิตยสารเล่มนี้นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ผ่อนคลายความเครียด ความโศกเศร้า จากปัญหารุมเร้าต่าง ๆ ของผู้คนในสังคมยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ด้วยเนื้อหาที่มีข้อเขียนบทกลอน บทกวี ตีพิมพ์จรรโลงใจคนเหงา คนเศร้า อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ารูปแบบเนื้อหาและลักษณะของเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone นวัตกรรมผ่อนคลายความเครียดของน้อง ๆ กลุ่มนี้ มีรูปแบบเนื้อหาแตกต่างไปจากนิตยสารดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง พวกเขาออกแบบสิ่งนี้ไว้สำหรับเผยแพร่แต่สิ่งที่พวกเขาใช้คำเรียกว่า “อะไรที่บวก ๆ” เท่านั้น ต้องไม่มีอะไรที่ลบ ๆ ไม่มีความเหงา ความเศร้า ปนอยู่เลยในเนื้อหาที่เผยแพร่ 

“เราให้ความสำคัญมากกับการใช้สี เพราะเราอยากให้เมื่อคนที่มีความเครียดเปิดเข้ามาในหน้าเว็บแอปพลิเคชันของเราแล้ว เขาจะมีความรู้สึกผ่อนคลายได้ทันที โทนสีทั้งหมดที่เรานำมาใช้ก็จะอ้างอิงจากงานวิจัยทั้งหมดครับ ว่ามันสามารถผ่อนคลายความเครียดได้จริง” 

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะสงสัยกันแล้วว่าเว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ที่น้อง ๆ กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมาสามารถใช้เป็นพื้นที่ผ่อนคลายความเครียดให้กับเยาวชนผู้ใช้งานได้จริงหรือไม่ น้องส้ม อธิบายให้เราฟังว่าขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลรอบสุดท้ายจากผู้ใช้ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลการใช้งาน

“การเก็บข้อมูลรอบสุดท้ายของเรา เราใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะดูค่าเฉลี่ยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อแปลผลออกมาพบว่าค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของผู้ใช้อยู่ในระดับที่สูงมาก ตรงนี้บางคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ เราก็เลยมีการติดตามน้องคนหนึ่ง ซึ่งมีภาวะซึมเศร้า ได้มีการสัมภาษณ์น้องว่าน้องมีความรู้สึกดีขึ้นไหมระหว่างก่อนใช้กับหลังใช้เว็บแอปพลิเคชัน Safe Zone ของเรา ผลปรากฎออกมาว่าน้องรู้สึกดีขึ้น มันไม่ถึงขั้นที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาของเขาได้หมด เพราะเราไม่ใช่จิตแพทย์ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนของความเครียด แต่เราแค่สร้างเครื่องมือขึ้นมาอีกเครื่องมือหนึ่ง เพื่อไปผ่อนคลายให้กับคนที่มีความเครียด”

น้องนัส กล่าวเสริมว่า บางคนมีภาวะความเครียดจากการที่ไม่มีกิจกรรมอะไรทำในแต่ละวัน แอดมินผู้ดูแลระบบทั้ง 3 จึงพยายามเสาะหากิจกรรมสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือในการคลายเครียดให้กับเยาวชนผู้ใช้งานด้วย 

“เราสร้างกิจกรรมขึ้นมาเพื่อให้เค้าไม่ต้องมานั่งนึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้เขามีความเครียดค่ะ เด็กที่พักอยู่ในวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กทุน การได้มาอาศัยอยู่รวมกันมันทำให้เรามองเห็นปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางทีเราอาจจะคิดว่าเราเจอมาหนักแล้ว แต่พอไปเจอคนอื่นมันก็ช่วยปรับมุมมองของเราได้ว่าปัญหาของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันและเราไม่สามารถตัดสินได้ว่าหนักของเค้านั้น ไม่หนักสำหรับเรา หรือหนักของเราจะไม่หนักสำหรับเขา 

“กิจกรรมที่เราคิดให้เพื่อน ๆ ได้มีส่วนร่วมก็เช่นการถ่ายรูปท้องฟ้า เพราะที่วิทยาเลยเทคนิคพังงาจะมีอยู่มุมหนึ่งที่ท้องฟ้าสวยมาก สวยทุกวัน ทุก ๆ วัน ตอนเย็น ๆ ทุกคนก็จะพากันออกมาดูท้องฟ้าเราก็โพสต์หัวข้อให้ทุกคนถ่ายรูปท้องฟ้ามาโชว์ตามไอเดียของแต่ละคน ซึ่งทุกคนก็กระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมมาก มันทำให้เราสนุกและมีความสุขที่ได้ทำอะไรร่วมกันค่ะ

ทุนการศึกษา จาก กสศ. โอกาสในวันนั้น ทำให้มีวันนี้

“เราพูดเรื่องนี้กันมาตั้งแต่เรียนชั้น ปวช.1 ตั้งแต่พวกเราเริ่มได้รับทุน เพราะว่าพวกหนูเป็นนักศึกษาทุนรุ่นแรก ซึ่งเมื่อเราได้รับทุนตรงนี้เรารู้สึกว่าโอกาสมันยื่นเข้ามาหาเราจริง ๆ ค่ะ มันทำให้เราได้เรียนต่อ ส่วนหนึ่งก็คือถ้าสมมุติว่าวันนั้นเราไม่ได้รับทุน ตัวเว็บแอพพลิเคชั่นนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้นค่ะ”

น้องนัส บอกว่าโอกาสที่ได้รับจาก กสศ.เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเธอเดินทางมาจนถึงวันนี้ได้ วันที่พวกเธอสร้างเครื่องมือมาช่วยเยียวยากันและกันในกลุ่มนักเรียนทุนผู้มีพื้นฐานที่ขาดแคลนเกือบทุกด้าน ขณะที่น้องส้ม เสริมว่า เว็บแอพพลิเคชั่น Safe Zone ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้ได้ผ่อนคลายความเครียดเพียงเท่านั้น 

“แต่มันยังช่วยพัฒนาพวกเราทั้ง 3 คนด้วยค่ะ ทำให้เราพัฒนาในเรื่องของทักษะต่าง ๆ มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น เวลาที่เราเห็นคนอื่นมีความสุข เราจะรู้สึกว่าเราไม่เหนื่อย บางครั้งเราก็รู้สึกท้อมากเลยเพราะว่าเรา 3 คนไม่ได้มีความรู้ทางด้าน IT มาก่อน เราอ่านงานวิจัยมาเป็น 40 เรื่อง เพื่อที่จะทำตรงนี้ เวลาที่เรานำเสนอตรงนี้ไปแล้วผู้คนสนใจ เราก็รู้สึกว่าโอเค เราหายเหนื่อยแล้วนะ วันนี้เรารู้สึกว่าเราคุ้มค่ากับการที่เราเหนื่อยค่ะ” 

น้องเอเป็ค กล่าวปิดท้ายว่า ถ้าไม่ได้รับทุนพวกเขาจะไม่ได้มาเรียนที่นี่ ไม่ได้มาเห็นความเครียด ไม่ได้เปิดมุมมองเรื่องของปัญหา อยากขอบคุณ ตัวเองที่กล้าที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนแล้วมาทำสิ่งใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม สองคือขอบคุณครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่หยิบยื่นทุนการศึกษามาสนับสนุน บางคนอาจจะไม่ได้ให้มาเป็นเงิน แต่ให้มาเป็นองค์ความรู้ ให้มาเป็นคำแนะนำ ซึ่งมีค่ามาก

“และสุดท้ายอยากขอบคุณ กสศ. ที่ทำให้เราได้มาเจอกันที่นี่ ทำให้เราได้เกิดเป็นชุมชนและเกิดเป็นเว็บแอพพลิเคชั่น Safe Zone ขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยเหลือน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาทุน กสศ. หรือว่าเยาวชนทั่วไป ต่อไปครับ” 

สำหรับผู้ที่สนใจเว็บแอพพลิเคชั่น Safe Zone สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้