ปัญหาการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน ?
อะไรคือโอกาส ตัวเลือก หรือแนวทางไปสู่การเปลี่ยนแปลง ?
ท้ายที่สุด หลังจากรู้ทางแล้ว เราจะแก้ปัญหาการศึกษาเชิงระบบได้อย่างไร ?
ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิช แนะแนวทางขับเคลื่อนการศึกษาไทยในอนาคต โดยเสนอว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องทำให้กลไกทำงานทุกหน่วยหมุนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหัวใจสำคัญคือการกระตุ้นส่งผ่าน ให้ทุกคนเห็น ‘ความสำคัญ’ ไปด้วยกัน ให้สังคมตระหนักรู้ว่าการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ เป็นภารกิจของคนทุกคน
…เพราะในท้ายที่สุดผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมหมายถึงอนาคตลูกหลานของคนไทยทั้งหมด
หากสะท้อนภาพกว้างหรือความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราอาจยังมองไม่เห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม คือมีบางอย่างที่ดีขึ้น บางอย่างคงที่ ขณะที่บางอย่างกลับแย่ลง อย่างไรก็ตาม เรามีคนทำงานที่ไม่ว่าจะมีภารกิจข้องเกี่ยวกับการศึกษาโดยตรงก็ดี หรือคนที่ไม่ได้มีภารกิจโดยตรงก็ดี แต่เขามีหัวใจ มีพลังบวก มีความท้าทายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ทำงานอย่างต่อเนื่อง และทำจนเกิดผลสัมฤทธิ์เล็ก ๆ ให้สังคมเห็นแล้ว
“ถ้าจะมีแนวทางใดทำให้เกิดผลในเชิงระบบ All for Education คือ ‘Key Point’ ที่เราต้องหนุนให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและคนทุกฝ่ายเกิดการเรียนรู้ ทั้งต้องช่วยกันทำให้ระบบการศึกษากระเตื้อง เคลื่อนขยับ โดยยึดเอาหลักการ ‘ปวงชนเพื่อการศึกษา’ เป็นโจทย์เพื่อทำงานต่อ“
จากแนวทางนี้ โอกาสคืออะไร อย่าลืมว่าเราไม่ได้เริ่มทุกอย่างจากศูนย์ เพราะหลักการ ‘All for Education’ ไม่ใช่สิ่งใหม่เลยในสังคมไทย ที่ผ่านมามีคนทำอยู่แล้ว เห็นผลแล้ว แค่เราต้องหาเขาให้เจอ ว่าคือใคร อยู่ตรงไหน เขาทำอย่างไร สำเร็จได้อย่างไร แล้วจากความสำเร็จนั้นจะเอามาต่อยอดหรือช่วยสนับสนุนให้ขยายผลได้อย่างไร”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า สำคัญที่สุดคือต้องพบให้ได้ว่าเด็กได้อะไรบ้างจากผลงานที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลจากการเรียนรู้ที่อยู่ภายใต้กรอบสมรรถนะ ‘vask’ (value, attitude, skill, knowledge) อันได้แก่ คุณค่า ทัศนคติ ทักษะ และความรู้ ซึ่งต้องวัดจากงานที่มีผู้ริเริ่มไว้ ว่าสามารถพาผู้เรียนไปได้ถึงตรงไหน เพราะ vask คือปัจจัยที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเด็กแต่ละคน ให้เดินไปบนทางที่เหมาะสม โดยเมื่อถอดบทเรียนจากสิ่งที่มีคนริเริ่มไว้ออกมาได้ สังคมจะได้ข้อเรียนรู้ และขยับขยายจากจุดนี้ต่อไป
‘พลังการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ’ สร้างความร่วมมือ แม้ในมุมมองที่แตกต่าง
“การแก้ไขปัญหาเชิงระบบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย หากไม่มีความร่วมมือ (Synergy) ของทุกฝ่าย โดยในการทำงานเราต้องไม่มองว่า ‘ใคร’ หรือ ‘หน่วยงาน’ ใดอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เช่น ฝ่ายดูแลระบบกับฝ่ายพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องไม่วางตัวเป็นศัตรู แต่ต้องมองว่าทุกคนต่างทำด้วยบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แล้วหาทางทำให้เกิดจุดเชื่อมประสานระหว่างกัน”
เครื่องมือที่ช่วยให้ขั้วการทำงานที่เคยอยู่ตรงข้าม สามารถเสริมพลังทำงานร่วมกันได้ แม้มีมุมมองแตกต่างเชิงประเด็น หรือทำงานกันคนละอย่าง คือ ‘พลังการเรียนรู้’ โดยในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน แต่ความหมายจริงแท้คือคนทุกคนที่หวังให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันผ่านการทำงาน
พลังการเรียนรู้นี้เอง ที่จะช่วยหมุนวงจรผ่านการลงมือปฏิบัติ (Experiential Learning Cycle) ในทุกระดับ ตั้งแต่เด็กปฐมวัยถึงวัยผู้ใหญ่ การเรียนรู้นี้แตกต่างจากที่คุ้นเคยกันมา คือไม่ใช่เกิดจากใครมาบอกหรือถ่ายเทส่งต่อกันไป แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อเติบโต พัฒนา และตกผลึกของทุกคนในการทำงาน เพื่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
“สามสิ่งที่จะนำภาพความเปลี่ยนแปลงมาถึง ประการแรกคือการศึกษาไทยต้องส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ประการที่สองคือเปลี่ยนการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป ให้เป็นการเรียนผ่านประสบการณ์ตรง สามารถใคร่ครวญสะท้อนคิด และตกผลึกออกมาเป็นหลักการ (conceptualization) เฉพาะบุคคล ที่นำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง“
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าวิธีการรับ-ส่งถ่ายทอดความรู้จะไม่สำคัญเสียทีเดียว เพียงแต่เราอาจวางสัดส่วนให้เหมาะสม โดยอาจลดเหลือเพียง 20 % แล้วให้น้ำหนักที่เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ 80 % และประการที่สามคือ โรงเรียนและครูต้องปรับตัวสู่บทบาท ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘Change Agent’ สร้างวงจรเรียนรู้ภายในระหว่างครูในโรงเรียน และต่อยอดเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนสนับสนุนระหว่างสถาบันการศึกษา ถ้าเราหนุนให้แนวทางเหล่านี้ไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และคนทุกคนที่มีใจอยากเห็นการศึกษาดีขึ้นได้ การหมุนวงจรการเรียนรู้ที่เคลื่อนขยับไปพร้อมกันทั้งสังคม ก็จะมอบผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมตามมา”