จากเวทีการประชุมอาชีวศึกษาระดับนานาชาติ ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 700 คนจาก 120 ประเทศทั่วโลก รัฐบาลจีน ย้ำ ‘อาชีวศึกษา’ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นหลังการระบาดของโควิด-19 ชู โครงการ Luban Workshop เป็นเรือธงสร้างบุคลากรมีทักษะด้วยการแบ่งปันความสำเร็จด้านวิชาการและทรัพยากรกับกลุ่มประเทศบนเส้นทางสายไหมในศตวรรษ 21 ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ โดยเข้าไปทำโครงการแล้ว 20 แห่งใน 19 ประเทศ
รายงานระบุว่า เวทีการประชุมอาชีวศึกษานานาชาติปีนี้ ดำเนินภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาอาชีวศึกษาและเทคนิคในยุคหลังโควิดระบาด : เปลี่ยนแปลงใหม่ ทิศทางใหม่ และทักษะใหม่” (“Vocational and Technical Education Development in the Post-pandemic Era: New Changes, New Ways and New Skills”) โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือ ด้านอาชีวศึกษาและเทคนิคระหว่างประเทศ ทั้งนี้ นอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาแล้ว ตลอด 2 วันของการประชุม ยังจัดให้มีการแข่งขันทักษะจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงมีงานแสดงสินค้าออนไลน์ที่เป็นผลงานจากความร่วมมือของภาคอาชีวศึกษากับภาคอุตสาหกรรม
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย บวกกับแรงกดดันจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนย้ำว่า พวกเขาตระหนักดีถึงความสำคัญของอาชีวศึกษาในฐานะฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาชีวศึกษาระดับนานาชาติ ทางการจีนได้เปิดตัวโครงการ Luban Workshop เพื่อแบ่งปันความสำเร็จด้านการศึกษาของจีนและทรัพยากรกับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยจนถึงขณะนี้ มีการจัดทำ Luban Workshop ดังกล่าวแล้ว 20 แห่งใน 19 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงไทย สหราชอาณาจักร อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และโปรตุเกส
มีการคาดการณ์ว่า Luban Workshop ซึ่งมาพร้อมกับความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาของจีนจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานและปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันบนเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road ที่จีนเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้
Afifa Shajia Awais ผู้ช่วยทูตด้านการศึกษาของสถานทูตปากีสถาน ประจำประเทศจีน กล่าวว่า Luban Workshop เป็นโครงการเรือธงของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ จึงคาดหวังว่าหลังจากนี้จะได้เห็นความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระดับทวิภาคีเพิ่มเติม เนื่องจากปากีสถานต้องการบุคลากรด้านเทคนิคจำนวนมากเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
ขณะเดียวกัน ทางด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า การศึกษาด้านอาชีวศึกษาจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของการยกเครื่องพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งบ่มเพาะและขัดเกลาฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ในสายงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ การเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษายังตอบโจทย์ในแง่ของการเปิดทางให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกงาน พร้อมกับได้ค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นทุนสำคัญในการต่อยอดการศึกษาขั้นสูงของผู้เรียนต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญจากการประชุม World Vocational and Technical Education Development Conference กล่าวว่า การปรับหลักสูตรของอาชีวศึกษาเพื่อบูรณาการให้การเรียนการสอนสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผู้ประกอบการด้านการผลิตจึงจำเป็นต้องสร้างและปรับปรุงระบบการขายออนไลน์อย่างเร่งด่วน รวมถึงมีความต้องการผู้มีความสามารถด้านการค้าและโลจิสติกส์ ซึ่ง Yu Haixiang ประธานวิทยาลัยเทคนิคการขนส่งแห่งเทียนจิน กล่าวว่า ทางสถาบันเองก็กำลังฝึกอบรมผู้มีความสามารถเหล่านี้ทั้งหมด ปัจจุบัน จีนกำลังก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจด้านการผลิตระดับโลก ที่ผู้ผลิตหลายรายในประเทศมีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมโดยแสวงหาการเติบโตที่มีคุณภาพสูง
Wang Wei ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน กล่าวว่า ระบบอุตสาหกรรมและห่วงโซ่การผลิตของจีนมีความสมบูรณ์มากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 16.98 ล้านล้านหยวนในปี 2012 เป็น 31.4 ล้านล้านหยวนในปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30 % ของยอดรวมของโลก ขณะนี้ จีนมีบริษัทอุตสาหกรรม 73 แห่งจาก 500 องค์กรชั้นนำของโลก และตามสถิติอย่างเป็นทางการ มีองค์กรการผลิตไฮเทครายใหญ่ 41,400 แห่งภายในสิ้นปี 2021
Zhang Danyang ประธาน Tianjin Electronic Information College กล่าวว่า สถาบันอาชีวศึกษาจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและต้องบูรณาการองค์ความรู้เข้ากับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตที่แท้จริงของจีน อย่างไรก็ตาม เขามีความเชื่อมั่นว่า วงการอาชีวศึกษาจะมีอนาคตที่สดใส
ที่มา :