ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แนะ ‘7 แนวทางเปลี่ยนเกม’ ในการทำงานเพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยย้อนข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนราว 4 แสนคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีจำนวนเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ และกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 แสนคน ซึ่งยังไม่รวมกับอีกกว่า 1.8 ล้านคนที่เป็นกลุ่มยากจนด้อยโอกาส และมีความเสี่ยงหลุดจากระบบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
จากการประชุมระดับนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ กสศ. จัดติดต่อกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วม ทำให้ได้คำตอบว่า การแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่เคยนำทางด้วยแนวคิด Education for All หรือการ ‘จัดการศึกษาให้ทั่วถึงสำหรับคนทุกคน’ ยังไม่เพียงพอ หากยังต้องมีความร่วมมือจากคนทุกภาคส่วน บนหลักการ All for Education หรือการทำให้คนทุกคนมีภารกิจร่วมกันในการจัดการศึกษาด้วย
ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า สิ่งที่จะเป็น Game Changer ในการแก้ปัญหาด้านการศึกษามี 7 หัวข้อสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ
1.พัฒนาครูและสถานศึกษา โดยสนับสนุนด้านข้อมูล เทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากร ทำให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้
2.มีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเชิงลึก
3.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล ทรัพยากร ลดการเลือกปฏิบัติการและตีตรา เพื่อทำให้เกิดการศึกษาที่ครอบคลุมอย่างแท้จริง
4.นวัตกรรมการเงินและการคลัง ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ เพื่อให้ภาคประชาสังคมและเอกชนสามารถร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรม ฯ ผ่านการระดมทุนต่าง ๆ
5.การจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ (Area-based Education) สนับสนุนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ กระจายอำนาจการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดช่วงชีวิตตามบริบทพื้นที่
6.มีระบบคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันทางครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง และความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น
7.ผลักดันให้เกิด ‘All for Education’ หรือทำให้ ‘การศึกษาเป็นกิจของทุกคน’ โดยทุกภาคส่วนในสังคม เฉพาะอย่างยิ่งคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกภาคการศึกษา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้การศึกษาที่เสมอภาคเกิดขึ้นให้ได้
“แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาความท้าทายนานัปการ แต่เรามีความโดดเด่นในหลายด้าน ประการสำคัญคือความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากคนหรือหน่วยงานหลายภาคส่วน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ โครงการ ‘พาน้องกลับโรงเรียน’ ที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ ชวน 11 หน่วยงานร่วมเป็นพลังพาน้องกลับโรงเรียน โครงการนี้ กสศ. เป็นหนึ่งในองค์กรเข้าร่วม พร้อมกับนำระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดและเด็กนอกระบบทางการศึกษาไว้ เพื่อเป็นหมุดหมายเริ่มต้นในการทำงานค้นหา และวางแนวทางการช่วยเหลือดูแลในระยะยาวต่อไป
และ กสศ. มีข้อเสนอว่า การทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จำเป็นต้องมองที่ Age Line เป็นหลัก คือเราจะไม่แบ่งเป็นแท่งประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย แต่จะกำหนดตามช่วงอายุกลุ่มเสี่ยง แล้วผลักดันให้เกิดการทำงานเชื่อมต่อกันทุกแท่ง โดยเฉพาะการสร้างระบบเครือข่ายส่งต่อเด็กข้ามช่วงชั้นทางการศึกษา ปฐมวัยต่ออนุบาล, ป.6 ต่อ ม.1, ม.3 ต่อ ม.4 หรืออาชีวศึกษา
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่ง กสศ. ได้ร่วมกับพื้นที่ต้นแบบหลายจังหวัด ในการออกแบบการทำงานที่ช่วยให้ก้าวพ้นความท้าทายที่ว่า ซึ่งที่ผ่านมาเรามักหาเด็กเยาวชนนอกระบบไม่พบว่าเขาอยู่ตรงไหน เพราะไม่มีฐานข้อมูล แต่ด้วยกลไกทำงานเชิงพื้นที่ที่ใช้คนในท้องถิ่นในรูปแบบอาสาสมัคร รวมถึงสถาบันการศึกษา ช่วยกันติดตามเด็กตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จนมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทำให้สามารถส่งต่อให้หน่วยงานในจังหวัดออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม เกิดเป็นโมเดลเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย ผ่านการกำกับดูแลโดยเจ้าภาพ เช่น อบจ. ศึกษาธิการจังหวัด NGOs หรือสมัชชาสภาการศึกษาจังหวัด ส่งผลให้การทำงานนำร่องประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยช่วงการทำงานสามปีที่ผ่านมา กสศ. และพื้นที่ต้นแบบ สามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้มากกว่า 8 หมื่นคน”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวอีกว่า การจัดการศึกษาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่ดึงพลังภาคส่วนต่าง ๆ ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีความสนใจและมีใจที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านการศึกษา
“ตัวอย่างที่ให้ภาพชัดของความร่วมมือที่ผ่านมา คือการที่ กสศ. ได้ร่วมกับบริษัทแสนสิริ และ SCB ในการออกหุ้นกู้ระดมทุนมูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อทำงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเวลา 3 ปี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ด้วยเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดให้เหลือ ‘ศูนย์’ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท ปตท. ที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ในการศึกษาต่อไปได้ไม่หลุดออกมากลางคัน
สองกรณีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ในการจัดการศึกษา แม้เรามีความท้าทายหรือโจทย์ต่าง ๆ แต่ถ้าสามารถสร้างการมีส่วนร่วมขึ้นได้ เราก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่ง กสศ. เอง เป็นพลังหนึ่งในการทำงานทั้งระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ เพื่อเชื่อมร้อยและผลักดันให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น”