‘ทุนเสมอภาค’ คือ โอกาส ฟังเสียงจากหัวใจ ‘ครู’ ผู้คัดกรอง
“เพื่อได้เห็นนักเรียนของเรา มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครูยินดีทำ”

‘ทุนเสมอภาค’ คือ โอกาส ฟังเสียงจากหัวใจ ‘ครู’ ผู้คัดกรอง

จุดเริ่มต้น ‘ครู’ เพื่อความเสมอภาค
เก็บข้อมูล คัดกรอง ลงพื้นที่จริง

“เนื่องจากครูไปเห็นในเฟซบุ๊กว่ามี ‘ทุนเสมอภาค’ กำลังเปิดรับ ประกอบกับ ครูเองมองว่า โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน มีเด็กนักเรียนยากจนเยอะ เลยนำเสนอผู้บริหารโรงเรียน ณ ตอนนั้น ขออนุญาตคัดกรองเด็กเพื่อเข้าไปในกระบวนการของเกณฑ์คัดกรองทุนเสมอภาค ท่านก็อนุญาตให้ทำ ครูจึงเริ่มทำงานนี้ ตั้งแต่ปี 2563 และส่วนหนึ่งครูรับผิดชอบระบบสารสนเทศของทางโรงเรียนด้วย มีข้อมูลของนักเรียนอยู่แล้ว เลยพอจะทราบข้อมูลว่าครอบครัวไหนมีรายได้เท่าไหร่เป็นข้อมูลเบื้องต้น”

ครูกฤษณา ไชยาวรรณ ครูแอดมินเก็บข้อมูลคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยเป้าหมายที่อยากช่วยเหลือนักเรียนผู้ด้อยโอกาสในโรงเรียน ซึ่งการเริ่มต้นเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ปี 2563 ภาคเรียนที่ 1 โดยทำงานร่วมกับครูอีกสามคนเพื่อเป็นตัวอย่างการทำงานแบบนี้ก่อน ในปีถัดมางานคัดกรองเก็บข้อมูลจึงขยายไปยังครูประจำชั้น และขยายต่อมาที่ครูประจำวิชาในอีกปีถัดไป

โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน เป็นโรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ของเทศบาลเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปัจจุบันมีนักเรียน 536 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 38 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน โดยเฉพาะส่วนหนึ่งที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในตลาดขายส่งปลาน้ำจืดในจังหวัด และรับจ้างทั่วไป

โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน ยังถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน และเก็บข้อมูลคัดกรองเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ เพื่อให้ได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ โดยมีครูกฤษณา เป็นแอดมินบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ จนสามารถวางระบบขยายการทำงานไปถึงคุณครูคนอื่น ๆ ของโรงเรียนได้อย่างครอบคลุม สร้างโอกาสเข้าถึงทุนสำหรับเด็กนักเรียนได้มากขึ้น จนปัจจุบันทำให้มีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้ได้รับทุนเสมอภาคแล้วกว่า 40 คน

“พอภาคเรียนที่ 2/63 ครูมองแล้วว่าแค่สามคนไม่น่าจะเวิร์คแล้ว ทำไม่ทัน เลยขออนุญาตคุยกับครูประจำชั้น ว่าต้องขยายความรู้ที่เรามี ถ่ายทอดไปที่ครูประจำชั้นก่อน รวมทั้งให้คำปรึกษาเขาด้วยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะเราเองก็เจอปัญหาเยอะในช่วงภาคเรียนที่ 1 ทำให้มีการคุยกันว่า ถ้าไปเยี่ยมบ้านแล้วสอดคล้องกับโครงการเยี่ยมบ้านปกติของทางโรงเรียน ก็เยี่ยมบ้านไปด้วย เก็บข้อมูลของ กสศ. ไปด้วยเลย จะได้ไม่เสียเวลามาก และเริ่มขยับมาที่ครูประจำวิชาในภาคเรียนที่ 1/64”

ด้วยระบบที่ออกแบบมาอย่างลงตัว จึงส่งผลให้โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน สามารถคัดกรองเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูกฤษณา บอกว่า สิ่งสำคัญของการทำงานให้สำเร็จ คือการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารระหว่างคุณครูที่ทำงานร่วมกัน การสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครองของเด็กนักเรียน หรือการสื่อสารระหว่างครูกับ กสศ. ที่จะต้องสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือกัน และการใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

“การสื่อสารสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการส่งกำลังใจให้กันและกัน และส่งกำลังใจให้ผู้ปกครองด้วย เพราะยิ่งช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาในปีที่แล้ว ค่อนข้างที่จะหนักสำหรับผู้ปกครอง และทำให้เห็นว่าเด็กโรงเรียนเรายากจนเยอะขึ้น ช่วงปีแรกจะมีการทำงานที่กระท่อนกระแท่นนิดนึง พอปีปัจจุบันเหมือนกับว่าการทำงานมีความคล่องขึ้น คุณครูมีความเข้าใจมากขึ้น ผลสำเร็จของงานนี้ ครูเองไม่ได้ทำอะไรมากมาย อาจจะทำมากขึ้นช่วงปีแรก แต่ตอนนี้เราอยู่ตัวแล้ว เพราะได้รับความร่วมมือจากคุณครูทุก ๆ ท่าน เลยได้เป็นผลสำเร็จ ณ ปัจจุบันนี้”

ครูกฤษณา บอกเล่าต่อว่า สิ่งที่เป็นข้อสังเกตเริ่มต้นคือ การที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียน เด็กขาดเรียนบ่อย ๆ เราต้องหาสาเหตุ ส่วนหนึ่งหลังจากที่ครูโทรถามผู้ปกครองเพื่อตามเด็กให้มาเรียน ทุกคนจะบอกว่าไม่มีเงินให้ลูกมา ไม่อยากให้ลูกมาโดยที่ไม่มีเงิน ไม่อยากให้ลูกมาอดให้เพื่อนเห็นอายเพื่อน ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กได้รับทุนเสมอภาคจะทำให้ยกฐานะ ยกความเป็นอยู่ของเขาให้ดีขึ้น อย่างน้อยเด็กมีค่าขนมมาโรงเรียน จะได้มีกินมีใช้เป็นเงินเล็กน้อยก็ยังดี ดีกว่าไม่มีเลย

ครูทุนเสมอภาค กับหัวใจความเป็นครู

“ในการกรอกข้อมูลของนักเรียน ข้อมูลค่อนข้างแน่นหนา ต้องลงลายเซ็นหลายอย่างหลายคน และตอนปีแรกเราเยี่ยมบ้านกันไปแล้ว เท่ากับเราต้องลงไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งหนึ่ง เพราะทาง กสศ. ให้มีรูปถ่ายสองที่คือในบ้านกับนอกบ้าน และลายเซ็นของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ยอมรับตรง ๆ ว่าตอนนั้นทำไม่ทัน คนน้อย ต้องยอมรับตรงจุดนี้ว่ามันเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับครูจริง ๆ แต่ถ้าเราสื่อสารการทำงานกันดี ๆ และด้วยหัวใจความเป็นครู เราก็ยินดีทำเพื่อเด็ก” ครูกฤษณา บอกเล่าถึงอุปสรรค

“บางทีการเยี่ยมบ้านไม่ได้ราบรื่นเสมอไป บางบ้านอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด มีคนขี้เมาหรือมีคนติดยา ครูก็ต้องไปหมด บางทีต้องชวนกันไประวังหน้าระวังหลังให้ดี ว่าตรงไหน จุดไหน บ้านหลังไหน ที่เสี่ยงอันตราย หรือในการเข้าไปเก็บข้อมูลแล้วเด็กนักเรียนไม่ได้รับทุน เมื่อกลับไปเก็บซ้ำในครั้งต่อไป คุณครูทั้งหลายมักเจอปัญหาความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง ว่าจะมาเก็บข้อมูลซ้ำทำไม จุดนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่คุณครูจะต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้รับความร่วมมือ ให้สามารถช่วยเหลือเด็กได้รับทุนในครั้งต่อไป”

“ตัวครูเองรับผิดชอบหลายงาน ทั้งงานวัดและประเมินผล เป็นผู้ช่วยงานทะเบียน งานสอนด้วย แล้วก็งานระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศ และระบบทุนเสมอภาคด้วย หนักมาก ท้อบ้าง แต่ก็ถ้าเห็นเด็กนักเรียนโรงเรียนเรา มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คุณครูก็ยินดีทำ ให้เด็ก ๆ ทุกคนได้มี ได้รับโอกาสในส่วนนี้ ยินดีที่จะทำ”

“ครู คือ คุรุ แปลว่า หนัก ครูก็เป็นผู้ที่ทำงานหนักคนหนึ่งค่ะ แต่ครูก็ยินดีที่จะทำค่ะ” ครูกฤษณา กล่าวทิ้งท้ายถึงการทำหน้าที่ครูผู้คัดกรองทุนเสมอภาคด้วยความภาคภูมิใจ

รู้จักทุนเสมอภาค

‘ทุนเสมอภาค’ เป็นทุนสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหัวใจสำคัญของทุนเสมอภาค คือการมุ่งค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยากจนจริง ๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด เป็นการให้เงินทุนการศึกษาแบบมีเงื่อนไข หมายความว่า ให้แล้วมีการติดตามเรื่องการมาเรียน น้ำหนัก ส่วนสูง รวมไปถึงการติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายด้วย เพราะจะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของ กสศ. ทั้งนี้ เด็กนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองของทุนเสมอภาค จะได้รับทุนต่อเนื่อง 3 ปี โดยไม่ต้องสำรวจข้อมูลใหม่