“ครูไปพูดคุยสร้างความเข้าใจกับครอบครัวของน้องเพื่อบอกความสำคัญของการมาเรียน แน่นอนว่า การให้เด็กที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ทำงานยังผิดกฎหมายด้วย เราพูดจนผู้ปกครองเข้าใจ จากนั้นจึงขอเก็บบันทึกข้อมูลของสองพี่น้องส่งต่อให้ กสศ. เพื่อคัดกรองเข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เปิดโอกาสให้กับเด็กที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยได้รับทุนด้วย ทุนนี้เป็นทุนระยะยาว หมายความว่า หากน้องและครอบครัวยังแน่วแน่ที่จะเรียนต่อไปเรื่อย ๆ ก็ยังมีช่องทางไปต่อได้ จากข้อมูลชุดนี้ ตอนนี้ทั้งคู่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัว โดยไม่ต้องให้ทั้งคู่ขาดเรียนไปรับจ้างเด็ดพริกอีก”
นี่คือ เรื่องราวของ ด.ญ.หนูทอง และ ด.ญ.ยี่เอ (นามสมมุติ) สองพี่น้องชาวเมียนมา ที่คุณครูภิญญดา พุ่มสาขา เล่าให้เราฟัง ปัจจุบัน เด็กหญิงทั้งสองคนพักอาศัยและเติบโตในประเทศไทย เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน อ.เมือง จ.อ่างทอง เป็นเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ความประพฤติดี ร่าเริงแจ่มใสสมวัย เป็นที่รักของครูในโรงเรียน เพียงแต่คุณครูมักมีข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้สองพี่น้องมักจะขาดเรียนอยู่เป็นประจำ
โรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน เป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการที่ครูท่านหนึ่งที่มองเห็นปัญหาของนักเรียนในโรงเรียนว่าส่วนใหญ่ครอบครัวมีรายได้ไม่ดีนัก ทำให้มีโอกาสที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา จึงพยายามมองหาช่องทางช่วยเหลือจนได้มาพบประกาศประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ ‘ทุนเสมอภาค’ ซึ่งเป็นทุนที่ให้ต่อเนื่องจนจบการศึกษาถึงระดับมัธยม 3 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีการประเมินคัดกรองทุก 3 ปี เธอจึงได้ขอผู้บริหารทำโครงการนี้เรื่อยมา พร้อมกับขยายความร่วมมือไปยังครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน
ครูภิญญดา เป็นหนึ่งในครูทุนเสมอภาคของโรงเรียนและเป็นครูประจำชั้นของสองพี่น้องที่ได้รับการประสานความร่วมมือนี้ โดยเมื่อตรวจสอบเงื่อนไขจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแล้วถือว่าเข้าเกณฑ์ เพราะทั้งคู่อาศัยอยู่กับพี่สาวที่เป็นเพียงแรงงานรับจ้างในห้องเช่าเก่า ๆ และด้วยฐานะค่อนข้างยากจน จึงทำให้สองพี่น้องมักจะขาดเรียนอยู่เป็นประจำ เนื่องจากต้องไปรับจ้างเด็ดพริกในค่าแรงกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อให้มีเงินมาโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่กว่าจะมีพอก็ต้องเสียเวลาเก็บเล็กผสมน้อยอยู่หลายวัน
“ที่โรงเรียนจะมีครูแอดมินเก็บฐานข้อมูลคัดกรองเกี่ยวกับทุนก้อนนี้ที่ทำมาตั้งแต่ปีแรก ส่วนครูประจำชั้นปกติต้องลงพื้นที่สำรวจปัญหานักเรียนอยู่แล้ว ปีถัด ๆ มาจึงได้รับการประสานมาจากครูแอดมินให้ทำข้อมูลเพื่อส่งต่อ กสศ.ด้วย ซึ่งก็เป็นงานมีความสอดคล้องกัน แต่ช่วงแรก ๆ จะกระท่อนกระแท่นนิดนึง เพราะมีฐานข้อมูลบางด้านที่ต้องลงรายละเอียดมากกว่าการเยี่ยมบ้านปกติ แต่ก็ได้ครูแอดมินคอยแนะนำ เลยทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น” ครูภิญญดา เล่าย้อนถึงขั้นตอนการทำงาน
“ทุนเสมอภาค เป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่มามอบความสุขให้กับเด็ก ๆ ตอนนี้นักเรียนอาจจะไม่ได้คิดว่าในชีวิตข้างหน้าเขาจะเป็นอย่างไร แต่เขามีความสุขจากการที่มีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมจากที่เขาได้รับจากเพื่อน จากคุณครูที่โรงเรียน ทำให้เขารับรู้ว่ายังมีคนอื่นที่มองเห็นตัวตนและปัญหาของเขา ทำให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ยังมีคนที่มาร่วมมือกับครูกับโรงเรียนเพื่อสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้
“พอครูแอดมินประสานมา เราก็อยากทำหน้าที่เป็นครูคัดกรองให้เป็น เพราะเราเห็นว่าเด็ก ๆ จะได้รับความช่วยเหลือต่อไปในระยะยาว ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเด็กไทยหรือเด็กเมียนมา แต่เขาคือลูกศิษย์ของเรา พอได้รับทุน เราก็ดีใจ เป็นความสุขที่ครูได้รับกลับมา งานนี้อยู่นอกเหนืองานหลักของเราก็จริง แต่การที่ครูได้ให้ ครูยินดีทำค่ะ”
ครูภิญญดา กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจของการทำงานนี้อยู่ที่การทำงานกับผู้ปกครอง เราต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้ได้ เพราะผู้ปกครองคือกำลังสำคัญตัวจริงในการผลักดันเด็ก ๆ ให้ไปถึงเป้าหมายทางการศึกษาจึงอยากฝากเพื่อนครูให้ทำงานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด รวมถึงครูเองก็ต้องทำงานใกล้ชิดกัน ไม่ว่ากับผู้บริหาร ครูวิชาการ ครูแนะแนว ครูแอดมิน หรือคุณครูประจำชั้น ช่วยกันหากลไกแล้วทำงานไปด้วยกันเพื่อพาเด็ก ๆ ไปให้ถึงความสำเร็จการศึกษาไกลที่สุดตามที่เขาต้องการ
กสศ. ยืนยัน มีหลายกลไกพาน้องไปต่อ
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวในระหว่างการนำทีมคณะทำงานร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของสองพี่น้อง พร้อมกับคณะของโรงเรียนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ข้อสังเกตที่ได้จากการลงพื้นที่ พบว่า ปัญหาของเด็กในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษานั้นมีความซับซ้อน ที่ไม่ใช่แค่โจทย์เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีบริบททางครอบครัวและสังคมมาเกี่ยวด้วย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ กสศ.จะต้องให้น้ำหนักกับการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและครอบครัว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับผู้ปกครองของเด็ก จะเป็นเหมือนกับตาข่ายที่สำคัญที่คอยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษา
“ผู้ปกครองมีความสำคัญกับเด็กๆ มาก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม บางครอบครัวอาจเหลือแม่คนเดียว พ่อคนเดียว หรือไม่มี ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย อย่างกรณีน้องสองคนนี้คืออยู่กับพี่สาว แต่ถึงอย่างนั้นผู้ปกครองก็ยังต้องเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เด็ก ๆ ไปถึงเป้าหมายทางการศึกษา ทาง กสศ.เองก็ได้วางกลไกช่วยเหลือไว้ในหลายด้าน จึงอยากให้ผู้ปกครองและครูทำงานใกล้ชิดกัน เพราะนอกจากทุนเสมอภาค กสศ. ยังมีทุนอีกหลายรูปแบบที่ปรับไปตามบริบทของน้อง ๆ เมื่อโตขึ้น เพื่อช่วยพาให้น้อง ๆ ไปสู่เป้าหมายทางการศึกษาได้”
ด้าน กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. หนึ่งในคณะทำงานที่ลงพื้นที่ในวันเดียวกัน กล่าวว่า ต้องชื่นชมความร่วมมือของคุณครูที่ลงพื้นที่อย่างจริงจังและมีความเอาใส่ใจ จนทำให้สองพี่น้องได้รับทุนเสมอภาค โดยจะได้ทุนต่อเนื่องไป 3 ปี และจะประเมินเรื่อย ๆ จนจบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเป็นหลักประกันในการศึกษาได้ว่า หากเขายังเรียนอยู่ในโรงเรียนวัดต้นสน ไม่หลุดไปเสียก่อน เขามีโอกาสได้เรียนต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับ
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ช่วงหลังโควิด ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ที่สำคัญมาก ที่เราจะทำความเข้าใจว่า สถานการณ์การทำงานช่วงหลังโควิด ต้องมีการปรับตัวการทำงานอย่างไร เพื่อสนับสนุนการทำงานของคุณครูให้ได้มากที่สุด ซึ่งวันนี้เราได้ข้อเสนอแนะ และเห็นภาพในพื้นที่จริงว่า กระบวนการทำงานที่เราออกแบบ ตอบโจทย์การทำงานในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็สามารถช่วยคุณครูได้ในระดับหนึ่ง แต่เราจะพัฒนาต่อไป เพราะเราทราบดีว่าปกติคุณครูเองก็มีภาระมากมายที่ต้องแบกรับอยู่”
เพราะการศึกษาของเด็ก ๆ เป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมีพรมแดนมาขีดขั้น เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับ เช่นเดียวกับเรื่องราวของสองพี่น้องชาวเมียนมา การทำงานของ กสศ. และโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน ที่ช่วยกันในครั้งนี้ จนสามารถทำให้ ‘ทุนเสมอภาค’ ได้เป็นอีกหนึ่งกลไกในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อเด็กยากจนพิเศษทุกคน ไม่ว่าถือสัญชาติไทยหรือไม่มีสัญชาติใดให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
เพราะเราเชื่อว่า การศึกษาคือเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด