นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ เปิด 5 องค์ประกอบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย เผยสถิติย้อนหลัง 10 ปี ชี้ชัด ครอบครัว – ชุมชน – โรงเรียน – ตนเอง – ข่าวสาร เปลี่ยนอนาคตการศึกษาได้

นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ เปิด 5 องค์ประกอบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย เผยสถิติย้อนหลัง 10 ปี ชี้ชัด ครอบครัว – ชุมชน – โรงเรียน – ตนเอง – ข่าวสาร เปลี่ยนอนาคตการศึกษาได้

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 สมาคมพฤติกรรมศาสตร์ ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “การศึกษาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยศาสตร์แบบบูรณาการ” โดยมี นางสาวแพรพิมพ์ สีลวานิช นำเสนอผลการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรมสำหรับจัดทำงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมด้วย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ดร.รุ่งนภา จิตร์โรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสมาชิกสมาคมพฤติกรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยหาทางออกจากวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

(ขวา) แพรพิมพ์ สีลวานิช นำเสนอผลการศึกษางานวิจัย

นางสาวแพรพิมพ์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ตั้งคำถามถึงแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร และการศึกษาประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีช่องว่างการวิจัยประเด็นทางพฤติกรรมศาสตร์อะไรบ้างที่น่าสนใจ โดยได้ประมวลงานศึกษาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 – 2565 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและข้อเสนอแนะ 5 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

  1. ครอบครัว งานวิจัยนี้ค้นพบว่าโปรแกรมพัฒนาความรู้และทักษะแก่ผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กเกิดความพร้อมในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และลดภาวะถดถอยในการเรียนรู้ได้ การสนับสนุนจากครอบครัว ทั้งด้านการเงิน และอารมณ์ มีผลต่อการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
  2. ชุมชนเครือข่ายทางสังคมระหว่างผู้ปกครองกับสมาคมต่าง ๆ สามารถแบ่งปันเรื่องราว อัปเดตข้อมูลจัดหาแหล่งทุน การสนับสนุนสถานที่เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาและทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นได้

    “การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและบริบทของกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กไม่รู้สึกถูกกีดกัน ไม่รู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมชุมชนที่ยึดถืออยู่ รวมทั้งเกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้ภายใต้วัฒนธรรมและบริบทจะช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนต่อไป”
  3. โรงเรียน บรรยากาศการเรียนที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับเด็กชาติพันธุ์ จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความไว้วางใจโรงเรียนมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ การสื่อสารเชิงบวกระหว่างผู้ปกครองกับครู อาจารย์ หรือระหว่างนักเรียนกับครู อาจารย์ ทั้งในและนอกเวลาเรียน จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาว ส่วนภาวะผู้นำและความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษา เช่น การประสานความร่วมมือ การสื่อสารเป้าหมาย ก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเช่นกัน

    “นโยบายและมาตรการ เช่น การเปิดกว้างเรื่องสาขาวิชาเรียน มาตรการป้องกันการยุติการศึกษาด้วยระบบให้การปรึกษา ระบบการปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้”
  4. บุคคลหรือบุคลิกภาพเชิงบวก อันได้แก่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการกำกับตนเองที่รวมถึงการจัดลำดับงาน การตั้งเป้าหมาย แรงจูงใจ การประเมินผลลัพธ์ และการประเมินตนเอง จะสามารถช่วยนักเรียนจากการถูกกีดกันและพาออกจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหารจัดการ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การโต้วาที มีความสัมพันธ์กับการคิดเชิงวิจารณญาณ จะนำไปสู่แนวโน้มของการจบการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

    “บุคลิกภาพเชิงบวก เช่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง เห็นคุณค่าทางการศึกษา ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษา ความเสมอภาคทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
  5. การสะกิด (Nudge) การสะกิดด้วยข้อความ (Text) ในกลุ่มผู้ปกครอง เช่น การเสนอแนะวิธีปฏิบัติและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ หรือการอธิบายกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการช่วยเหลือนักเรียน จะช่วยลดภาวะถดถอยในการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น มีไหวพริบในการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าโรงเรียน เช่น การปฐมนิเทศ เป็นการสะกิดช่วยให้นักศึกษาเลือกสาขาที่เรียนได้ดี การสะกิดโดยใช้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกโรงเรียน โรงเรียนที่มีคุณภาพ กระบวนการสมัครในแต่ละโรงเรียน และบริการเฉพาะทางจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างพลังในการเข้าสู่โรงเรียนที่มีคุณภาพที่เหมาะสม
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการ วสศ.

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีหลายมิติ เช่น ด้านโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งปัจจัยส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานเศรษฐฐานะ อาจจะมาจากครอบครัวยากจน มีปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม รวมทั้งความพิการ เป็นต้น หรือในด้านของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ สำหรับผู้ที่ได้เข้าถึงการศึกษาแล้ว

“แม้ว่าตอนนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่า ๆ กัน แต่ว่าทำไมคุณภาพการศึกษาถึงมีความแตกต่างกัน โรงเรียนในเมืองกับชนบทอาจพูดถึงทรัพยากรที่แตกต่างกัน แม้แต่ในเมืองเหมือนกันก็ยังมีความต่างระหว่างโรงเรียนรัฐกับเอกชน หรือกระทั่งในโรงเรียนรัฐเอง บางแห่งมีความพร้อมมาก แต่บางแห่งไม่มีความพร้อมเลย คุณภาพครูก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ความแตกต่างทางด้านทรัพยากรทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันค่อนข้างมาก ซึ่งสุดท้ายความเหลื่อมล้ำทั้ง 2 ด้านนี้ก็จะส่งผลไปถึงความเหลื่อมล้ำในระยะยาวของประชาชน เราจึงกำลังพยายามหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดความเหลื่อมล้ำทั้ง 2 แบบนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ทางการศึกษาที่มีความแตกต่างกัน”

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า การนำเอาแนวทางการสะกิด (Nudge) มาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษา ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย อาจจะพิจารณาถึงมาตรการต่าง ๆ ในการทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส มีข้อมูลในเรื่องของโอกาสการเข้าถึงข้อมูลด้านทุนการศึกษา ผลตอบแทนในอนาคตของการศึกษา การทำให้ระบบการสมัครเรียนต่อ การขอทุน การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ทำได้ง่ายขึ้นหรือพัฒนาแนวทางกระตุ้นให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของเด็ก  อย่างในสหรัฐอเมริกามีการปรับใช้แนวทางนี้ในการทำให้นักเรียนยากจน สามารถสมัครเข้าเรียนต่อโดยกระบวนการที่ง่ายขึ้น หรือมีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษา เช่น ทุนการศึกษาต่าง ๆ ไปยังนักเรียนโดยตรง ทำให้นักเรียนยากจนที่สมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ดร.รุ่งนภา จิตร์โรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ด้าน ดร.รุ่งนภา จิตร์โรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์ความรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากงานวิจัยมากพอสมควร จนตอบได้ว่าสังคมมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่แน่ ๆ แต่ก็ยังมีส่วนขององค์ความรู้ที่ยังขาดอยู่ เช่น มาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้วได้ผล สิ่งที่อยากรู้คือแต่ละมาตรการทำในบริบทไหน เพื่อเป็นประโยชน์ในเชิงนโยบายสำหรับการแก้ปัญหา

“ถามว่าเราได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่ จริง ๆ แล้วในเชิงนโยบายในประเทศไทยก็มีการแก้ปัญหาไปหลายเรื่อง เช่น การเกิดขึ้นของ กสศ. ก็เพื่อมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตรงนี้ อีกเรื่องคือมีการพยายามปรับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้น แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะว่าจริง ๆ แล้วต้องมีการปรับสูตรการจัดสรรใหม่ บริหารจัดการทรัพยากรใหม่ เพราะถ้าเพิ่มเงินไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยไม่มีเงินพอที่จะมาลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ มันต้องแก้ที่ระบบจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร.รุ่งนภา กล่าว