‘ดร.เอนก’ มอบนโยบายผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษารับช่วงต่อ กสศ. จัดมาตรการดูแลนิสิตนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ หนุนหลักประกันโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนจบปริญญา ‘ผู้จัดการ กสศ.’ เผย TCAS 65 มีเด็กยากจน ยากจนพิเศษ เข้าเรียนมหาวิทยาลัยร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว 1 – 2 %
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในงานประชุมหารือสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ด้อยโอกาสทางสังคมเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อธิการบดีและตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผ่านระบบออนไลน์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ได้มีการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ สำหรับกลุ่มนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ ที่เข้าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในสถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ที่มีจำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่งของ อว. จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งตนได้ให้นโยบายแก่สถาบันอุดมศึกษาที่รับนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียนว่าจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ ในการดูแล อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษา สนับสนุนการทำงาน Part – time ในสถาบันอุดมศึกษา ดูแลการเรียนด้วยการจัดติวพิเศษให้สามารถเรียนเท่าทันนิสิตนักศึกษาอื่น ๆ การดูแลในการปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาจบการศึกษาและประสบความสำเร็จในอนาคต ตลอดจนการติดตาม Survey ข้อมูลหลังนิสิตนักศึกษาเรียนจบ ติดตามสถานะการมีงานทำ รายได้ เพื่อจะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางสนับสนุนต่อไปในอนาคต
“การจัดการความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ต้องทำคู่ไปกับการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social mobility) คือ ทำให้คนลำบากยากไร้ไม่เพียงแต่เขยิบมาเท่ากับคนปกติแต่ต้องทำให้ดีกว่าคนปกติ ไม่มองว่าพวกเขาเป็นคนป่วยหรือมีปัญหา แต่ต้องมองว่าเป็นช้างเผือกในป่า เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าของประเทศ เสมือนเพชรพลอยที่ยังไม่ได้รับการเจียรนัย ถ้าเราดูแลให้ดี เอามาฝึกปรือ ปลุกเร้าให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ก็จะกลายเป็นคนเก่ง คนดี ที่จะมาเติมพลังให้บ้านเมือง อย่าให้กลัวความจน เพราะความจนจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ คนเก่งมาจากความยากไร้มีมากมาย ที่สำคัญต้องให้พวกเขาตระหนักว่าสังคมให้โอกาสและดูแลเอาใจใส่ เมื่อประสบความสำเร็จจะต้องกลับมาตอบแทนสังคมเพื่อคนรุ่นต่อไป”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หลังจาก กสศ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษากับกระทรวง อว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 นั้น ล่าสุดได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เคยได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2561 ซึ่งปัจจุบันได้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว พบว่ามีนักเรียนสอบติดและได้ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง ซึ่งถือว่านักเรียนกลุ่มนี้เป็นเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ที่แม้จะมาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนของประเทศ แต่ก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรรคจนสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอบติดมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
“ปี 2561 เป็นปีแรกที่ กสศ. เริ่มดำเนินงาน และได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ในการสำรวจและคัดกรองสถานะความยากจนของนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ อนุบาลถึงระดับ ม.ต้น โดยมีคุณครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศช่วยลงพื้นที่สำรวจและบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้กับ กสศ. สพฐ. ซึ่งในปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน ฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน โดยปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในโรงเรียน สพฐ. 62,042 คน โดย กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS ปีการศึกษา 2565 ร่วมกับ ทปอ. พบว่ามีนักเรียนยืนยันสิทธิ์ศึกษาต่อ 20,018 คน ประกอบด้วยนักเรียนยากจนราวร้อยละ 14 และยากจนพิเศษร้อยละ 12 ของจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่อยู่ในระบบการศึกษาชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2561 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก TCAS ปี 64 อยู่ราวร้อยละ 1 – 2”
ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า เมื่อจำแนกตามประเภทของสถาบันอุดมศึกษา พบว่า จากนักเรียน 20,018 คน เข้าศึกษาต่อกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมากที่สุด 7,599 คน คิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมาคือกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน คิดเป็นร้อยละ 29 กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน คิดเป็นร้อยละ 26 กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน คิดเป็นร้อยละ 6 กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ 161 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ในจำนวนทั้งหมดนี้พบว่ามีนักเรียน 6 คน สามารถสอบเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน
“จากข้อมูลเชิงลึกจะเห็นว่าประเทศไทยมีเด็กช้างเผือกหรือเด็กจากครัวเรือนยากจนที่สุดได้เรียนมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 14 จาก 100 คน อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับ TCAS ปีการศึกษา 2564 ที่พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ได้เรียนมหาวิทยาลัยร้อยละ 12 จาก 100 คน จะเห็นความก้าวหน้าของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับกระทรวง อว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาให้มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษา วันนี้ กสศ. ร่วมกับกระทรวง อว. ส่งต่อข้อมูลของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่นักศึกษาสังกัดอยู่ เพื่อให้สถาบันการศึกษาได้พิจารณาทุนการศึกษาหรือให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อร่วมกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งระบบ ทั้งหมดเป็นมากกว่าการให้ทุนการศึกษาแต่ยังเป็นการส่งต่อข้อมูลทุกมิติอย่างเต็มที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาส และเป็นภารกิจสำคัญของ กสศ. ที่จะดูแลเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ผ่านการเพิ่มสัดส่วนของกำลังแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง และฐานภาษีของประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว
ทั้งนี้ มีผลวิจัยชี้ว่า เด็กช้างเผือก (Resilient Students) จากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้มีพรสวรรค์มากเพียงใดแต่หากขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคและระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาพรสวรรค์ในระยะยาวก็จะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ ประเทศจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ The Lost Einsteins สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากยูเนสโกปี 2558 ระบุว่าเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า ดังนั้นการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะส่งผลถึงรายได้จากการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาและส่งผลถึงโอกาสหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามชั่วรุ่นของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งมีระดับการศึกษาสูงสุดเฉลี่ยเพียงชั้นประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 – 2570)