ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 หรือหนึ่งปีก่อน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษา กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ความร่วมมือดังกล่าวนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เคยได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ จาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2561 ซึ่งปัจจุบันได้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว กสศ.จึงทำการสำรวจอีกครั้งในปีนี้ พบว่า มีเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ 20,018 คน สอบผ่าน TCAS กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยืนยันว่า เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ พร้อมกับมอบเป็นนโยบายสำคัญไปยังสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ด้วย
รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของ อว. อยากช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ทุกมิติ ไม่ว่า ด้านทุนการศึกษา การมีงานทำระหว่างเรียน หรือการให้คำปรึกษาระหว่างเรียน
“สิ่งสำคัญคือเราอยากให้เด็กมีหางเสือในการดำเนินทิศทางของเขา จึงอยากมีข้อเสนอเพิ่มเติมไปถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเป็นที่ปรึกษาแก่เด็ก ๆ ไม่ว่าเรื่องการเรียน การประกอบอาชีพ รวมถึงการติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของพวกเขาระหว่างเรียน เพราะเราอาจให้ทุนแล้วก็จริง แต่เขาอาจจะมีปัญหาสภาพจิตใจระหว่างเรียนได้ จุดนี้เป็นจุดสำคัญเพื่อสร้างกำลังใจให้เขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ได้ทุนแล้วแต่นักศึกษามีภาวะซึมเศร้า เราก็จะสูญเสียสิ่งที่เราเคยตั้งเป้าหมายไป”
รศ.ดร.พิชัย ย้ำว่า ทุน ในที่นี้ จึงหมายถึงโอกาสและคำปรึกษา นอกจากนี้ การสนับสนุนพวกเขาอาจทำให้มหาวิทยาลัยได้บุคลากรคุณภาพกลับมาด้วย ความที่เราเป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี อาจมีคนเข้าใจว่าเราสอนเรื่องการปฏิบัติได้เก่ง แต่ตอนนี้ ครูอาจารย์กำลังลดหายไปกับการเกษียณอายุ เราจึงอยากจะหยิบเพชรเม็ดงามจากเด็ก ๆ เหล่านี้เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ ตรงนี้จะเป็นต้นแบบสร้างทักษะให้กับประเทศได้
ขณะที่รองอธิการบดีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การคัดกรองของ กสศ.ทำให้มหาวิทยาลัยพบเจอเด็กที่ต้องการการสนับสนุนง่ายขึ้น แต่ทำอย่างไรที่ให้ทั้ง 20,018 คน ซึ่งในจำนวนนี้ทาง กสศ.ให้ข้อมูลว่า มาเรียนต่อที่เรา 195 คน ให้ทั้งหมดจบการศึกษาได้ เพราะเป็นไปได้ว่า นักศึกษาที่ได้ทุนก็อาจตกหล่นระหว่างทาง ทางมหาวิทยาลัยจะขอรับเรื่องนี้ไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะส่งต่อข้อมูลไปยังฝ่ายการนักศึกษาว่าจะดูแลอย่างไรไม่ให้พวกเขาตกหล่นระหว่างทาง เชื่อว่าทั้ง 195 คน มหาวิทยาลัยสามารถดูแลได้
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากได้รับข้อมูลชุดนี้จาก กสศ. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ไปตรวจสอบต่อ แต่ยังมีไม่พบรายชื่ออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจรีไทร์ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยเปิดเรียนมาถึงกลางภาค จึงคิดว่าข้อมูลในขณะนี้นิ่งแล้ว จึงอยากให้แต่ละสถาบันกลับไปสำรวจข้อมูลจริงล่าสุดอีกครั้ง ว่ามีเด็กที่ต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือมีตัวจริงเท่าไหร่ เพื่อประสานข้อมูลระหว่างกันทั้ง มหาวิทยาลัย, กสศ., ทปอ. รวมถึง กยศ.ที่จะเข้ามาสนับสนุนเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งจะทำให้การทำงานช่วยเหลือง่ายขึ้น