World Bank หรือ ธนาคารโลก เปิดเผยผลการศึกษา ชี้ เวียดนามจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์รับยุคดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอาชีวะ เพื่อให้เวียดนามมีแรงงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ และเพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045
รายงานการศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำไตรมาสของธนาคารโลกที่บ่งชี้ได้ว่า สถานการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล และโอกาสของประชาชนหลังสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในเวียดนามค่อนข้างน่าวิตกกังวลอย่างมากในเวลานี้
ทั้งนี้ ในปี 2019 อัตราการลงทะเบียนเรียนต่อหลังเรียนจบในระดับมัธยมศึกษาของเวียดนามอยู่ที่ 28.6 % ซึ่งค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ อย่างเกาหลีใต้ที่มากกว่า 98 % จีนมากกว่า 53 % และมาเลเซียมากกว่า 43 % อีกทั้งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้สูงซึ่งอยู่ที่ 55.1 %
แถลงการณ์ของธนาคารโลก ระบุว่าเวียดนามในขณะนี้มีคนที่จบการศึกษาจากระดับวิทยาลัย (เทียบเท่าปวช. – ปวส.) ซึ่งใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 ปี หรือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี เพียง 11 % เท่านั้น โดยธนาคารโลกอธิบายว่า หากอัตราการสำเร็จการศึกษายังเพิ่มขึ้นตามระดับปัจจุบัน ตัวเลขของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในเวียดนามจะอยู่ที่เพียง 15 % ภายในปี 2050
นอกจากนี้ หากเทียบทักษะทางดิจิทัล ธนาคารโลกชี้ว่า ด้านทักษะดิจิทัล เวียดนามต้องใช้เวลา 25 ปีจึงจะมีความเท่าเทียมกับประเทศไทยในเวลานี้ ยิ่งไปกว่านั้น ทางธนาคารโลกยังเน้นด้วยว่า ในการที่จะบรรลุอัตราการลงทะเบียนที่ระดับเดียวกันกับประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยที่สูงขึ้น เวียดนามจำเป็นต้องลงทะเบียนนักเรียนเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านคน หรือให้ได้ 2 เท่าของปี 2019
ในขณะเดียวกัน ธนาคารโลกยังพบว่า งานและความต้องการทักษะในการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว งานที่ต้องใช้ทักษะง่าย ๆ กำลังลดลง ในขณะที่ 8 ใน 10 ของอาชีพที่เติบโตเร็วที่สุดต้องการความรู้ด้านอาชีพในระดับที่สูงขึ้นและทักษะที่หลากหลายขึ้น ดังนั้น การปรับปรุงคุณสมบัติของทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับการพัฒนาของเวียดนาม แต่ยังมีปัญหามากมายในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยเฉพาะอาชีวศึกษา
ปัจจุบัน การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำเป็นต้องได้รับการผลักดันศักยภาพ ขณะที่จำนวนปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ 10.2 ปี ค่อนข้างดีอยู่แล้ว โดยอยู่ในอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น
ขณะที่ นักเรียนเวียดนามส่วนใหญ่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการประเมินระดับนานาชาติในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกชี้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ยังคงใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่
ทั้งนี้ อาชีวศึกษาของเวียดนามในปี 2019 อยู่ในอันดับที่ 102 จาก 141 ประเทศ และอันดับที่ 8 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่ำกว่าลาว แต่เหนือกว่ากัมพูชาและเมียนมาร์
ในส่วนของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเวียดนามก็ค่อนข้างมีปัญหา แม้ว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งในเวียดนามจะติดอันดับ 1 ใน 1,000 สถานศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่คุณภาพและหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษากลับปรับปรุงพัฒนาได้ช้า ตามไม่ค่อยทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น คำถามที่ท้าทายเวียดนามในขณะนี้คือ เวียดนามจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะและคุณสมบัติสูงได้อย่างไร ? ซึ่งทางธนาคารโลกได้ให้คำแนะนำไว้ 4 ข้อด้วยกันคือ
ขั้นแรกให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา 2 ระบบ ได้แก่ ระบบมหาวิทยาลัย 2 ปีและระบบระดับกลาง 1 ปี
ธนาคารโลกแนะว่า จำเป็นต้องรวมโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น วิทยาลัยเทคนิคระดับต้น และโรงเรียนอาชีวศึกษาเข้าด้วยกันแล้วจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาขนาดใหญ่ ใช้เวลาเรียน 2 ปี ขึ้นแทนเพื่อให้มีทรัพยากรและความสามารถเพียงพอในการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมคุณภาพสูงได้
นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน จำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปในประเด็นเฉพาะ : สร้างโปรแกรมที่เป็นมาตรฐาน ลดจำนวนคนที่ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอาชีพ และปรับโครงสร้างหลักสูตรฝึกอบรมใหม่ด้วยสัดส่วนเป็นบทเรียนภาคทฤษฎี 20 % และบทเรียนภาคปฏิบัติที่ 80 %
ประการที่สอง คือการรวบรวมทรัพยากรสำหรับมหาวิทยาลัยบางแห่งเพื่อยกระดับอันดับของตนสู่ระดับสากล ทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรเพื่อผลักดันระบบมหาวิทยาลัยของประเทศ โดยสถานศึกษาบางแห่งจะเป็นผู้บุกเบิกในการดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและผู้นำระดับสูงในทุกด้าน สิ่งเหล่านี้จะรวมถึงสถาบันฝึกอบรมที่เน้นด้าน AI, Big Data, Internet of Things, คลาวด์คอมพิวติ้ง, บล็อคเชน, ฟินเทคและหุ่นยนต์
ประการที่สาม ลงทุนมากขึ้นในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้เทียบเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูง
ในปี 2019 เวียดนามใช้จ่ายในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ 0.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับเกาหลีใต้ 0.9 % และมาเลเซีย 0.82 % ขณะเดียวกัน การจัดสรรเงินทุนควรขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนด้วย
ประการที่สี่ สร้างระบบข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานเพื่อช่วยให้คนงาน นักศึกษา และสถานประกอบการฝึกอบรมตัดสินใจเลือกอาชีพและกระบวนการเปลี่ยนงาน
ที่มา : Vietnam needs to improve human resources in digital age: World Bank