ช่วงโรงเรียนปิดจากผลกระทบโควิด-19 แม้ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนพยายามกันเต็มที่ที่จะนำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็ก แต่แน่นอนว่าเราไม่อาจหยุดยั้งภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กได้
เมื่อเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ผลของพัฒนาการที่ขาดช่วงจึงค่อย ๆ เผยออกมา ทั้งความรู้เก่าที่หดหาย ขาดสมาธิ หรือเด็กไม่พร้อมปรับตัวกลับมาเรียนในห้องเรียน ทำให้เด็กมากกว่าครึ่งหนึ่งประสบปัญหาเรียนไม่ทัน ไม่เข้าใจบทเรียน เกิดความเครียดสะสม และโดยเฉพาะในเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ปัญหาเหล่านี้คือสัญญาณเตือนเริ่มแรกว่าน้อง ๆ มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา หากไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลที่เหมาะสม
นานาเหตุผลนี้คือจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘พัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน’ ที่องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างโมเดลการทำงานระดับจังหวัด เพื่อหาแนวทางจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องถึงช่วงเวลาเปิดเรียนเต็มรูปแบบอีกครั้งในปีการศึกษา 2565 โดยปักหมุดทำงานที่จังหวัดสมุทรสาคร อันเป็นจังหวัดแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้การปิดโรงเรียนยาวนานกว่าพื้นที่อื่น
ถึงวันนี้ หลังเทอมแรกของปี 65 ผ่านไป นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็มกับการดำเนินโครงการ คณะทำงานแต่ละฝ่ายได้พร้อมใจกันลงพื้นที่ ที่โรงเรียนวัดโสภณาราม (ปลั่งร่วมราษฎร์บำรุง) เพื่อเยี่ยมชม แลกเปลี่ยน และเป็นกำลังใจให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนต้นแบบ พร้อมเก็บข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ประเมินผล เพื่อให้ได้กรอบแนวทางการจัดการเรียนรู้ ที่สามารถขยายผลต่อไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศ รวมถึงต่อยอดบทเรียนไปสู่ระดับนานาชาติ
ปิด (โรงเรียน) ก่อน เปิดทีหลัง ‘สมุทรสาครโมเดล’ ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย
อาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สมุทรสาครเป็นจังหวัดแรกที่โดนผลกระทบโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้ต้องปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ด้วยสภาพพื้นที่เขตอุตสาหกรรม สมุทรสาครก็เป็นกลุ่มจังหวัดท้าย ๆ ที่ได้กลับมาเปิดเรียนปกติ ทำให้ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ เรียนรู้ด้วยเครื่องมือวิธีการทดแทนค่อนข้างยาวนาน ในมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่าประเด็นนี้คือภาระของครูและผู้บริหารโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายครั้งสำคัญ ที่ชาวสมุทรสาครต้องช่วยกันทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤต คือจุดเริ่มของความร่วมมือเชิงนวัตกรรมที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเรามีทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ที่มาช่วยกันมองปัญหา หาทางแก้ไข จนสามารถสร้างกระบวนการที่ช่วยลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ไม่ให้ขาดช่วงเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดได้ เรามีเครือข่ายอย่างองค์การยูนิเซฟ ที่นำแนวคิดฟื้นฟูพัฒนาระดับนานาชาติมาสนับสนุน ด้วยหลักการเปิดเรียนปลอดภัย รักษาเด็กไม่ให้หลุดจากระบบ และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เด็กเสี่ยงหลุด ประสานไปกับการทำงานภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครสามารถนำเด็ก 76 คน จากจำนวนสำรวจ 77 คนที่หลุดจากระบบกลับมาเรียนได้สำเร็จ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100 % เต็ม”
ศธจ. สมุทรสาคร กล่าวว่า แม้เด็กกลับเข้าสู่การเรียนรู้ในภาวะปกติได้แล้ว มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก็ยังเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยมี 3 ประเด็นหลักเพื่อต่อสู้กับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ได้แก่ 1.จัดตั้งศูนย์ดูแลส่งต่อช่วยเหลือนักเรียนในภาวะฉุกเฉินทางการศึกษา 2.วัดประเมินผลการเรียนรู้นักเรียนทุกระดับเมื่อเริ่มต้นปีการศึกษา 2565 และ 3.จัดระบบส่งเสริม – ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เพื่อปรับอารมณ์และความพร้อมด้านสังคมของเด็กในช่วงก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้กับผู้ปกครอง
“สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งยูนิเซฟ กสศ. มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิช ฯ โรงเรียน และองค์กรทุกสังกัดในจังหวัด เราสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ได้ตั้งแต่ในวันที่ยังไม่เปิดเรียนปีการศึกษา 65 และวันนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าการทำงานได้ช่วยฟื้นฟูเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในเด็ก ๆ ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้เรายังมีผลพลอยได้อีกประการ คือการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย โดยหลังจากนี้เชื่อว่าแม้ต้องเจอวิกฤตอีกกี่ครั้ง แต่เราจะมั่นใจได้ว่าเด็กจะเข้าถึงการพัฒนาตนเอง องค์ความรู้ และทักษะชีวิตได้อย่างเสมอภาคทุกคน”
มุ่งฟื้นฟู 2 วิชาหลัก + สุขภาวะกาย / จิต
สร้างฐานให้แข็งแรงในการต่อยอดการเรียนรู้
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่ปิดเรียนยาวนานที่สุด จึงเหมาะกับการศึกษาบทเรียนในฐานะพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย ตั้งแต่การประเมินปัญหาสำคัญ และการพัฒนาครู โดยแนวทางการฟื้นฟูหลังเปิดเทอม 1 / 65 เน้นไปที่วิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เนื่องจากการอ่าน – เขียน และคำนวณ ถือเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ในวิชาอื่น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพกายสุขภาพใจ และสภาพแวดล้อมในการเรียน เพราะช่วงที่หยุดเรียนไปเด็กหลายคนมีความเครียดกดดัน ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือการขาดหายของพัฒนาการทางสังคม ดังนั้นถ้าจะฟื้นฟูการเรียน ก็ต้องดูแลผู้เรียนไปถึงเรื่องจิตใจ เพื่อปรับตัวกลับมาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
“การลงพื้นที่วันนี้เราได้เห็นผลจากการทำงาน 1 ปี และพบว่าทั้งครูและเด็กมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก เราเห็นครูมีวิธีใหม่ ๆ ในการสอน มีการปรับการเรียนการสอนเป็น Active Learning เน้นลงรายละเอียดนักเรียนเป็นรายคน และมีการผสมผสานวิธีจัดการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Blended Learning ทั้ง on – line on – site มีกล่องการเรียนรู้ รวมถึงคลังเรียนรู้ on – line ให้ทั้งครูและเด็กค้นคว้าเพิ่มเติมได้ทุกที่ทุกเวลา ในภาพรวมของพัฒนาการเราจะเห็นว่าเด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น มีสมาธิ ร่าเริงแจ่มใสกว่าช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า ภาวะความรู้ถดถอยเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกประสบร่วมกัน วันนี้เมื่อกลับมาเรียนเต็มรูปแบบ จึงต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาการเด็กเป็นรายคน มีโปรแกรมดูแลรอบด้านเพื่อลดจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และปัญหาพัฒนาการที่จะส่งผลในระยะยาว โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยที่ยังเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ โดยหลังจากนี้ ผลที่ได้จากสมุทรสาครโมเดล จะถูกนำกลับไปประเมินอีกครั้งในเชิงลึก เพื่อวางแนวทางขยายผลไปยังพื้นที่จัดการตัวเอง (Area – based Education : ABE) ในความร่วมมือกับ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในระดับประเทศ
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วสศ. กล่าวเสริมว่า ในการนำผลกลับไปประเมิน จะใช้รูปแบบที่เรียกว่า ‘การทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม’ (randomized control trial : RCT) ซึ่งสามารถวัดผลเชิงประจักษ์ได้ว่า โครงการสามารถแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้ในระดับใด ถ้าได้ผลลัพธ์เชิงบวกระดับที่เชื่อมั่นได้ กสศ. จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขยายผลโครงการไปสู่ระดับประเทศ นอกจากนี้ บทเรียนจากโครงการยังสามารถต่อยอดสู่ระดับนานาชาติ ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด มีหลักฐานทั้งเชิงวิชาการและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยการทำงานร่วมกับองค์กรยูนิเซฟ ที่มีเครือข่ายด้านการศึกษาอยู่ทั่วโลก จะช่วยเผยแพร่ให้นานาชาติได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการส่งต่อบทเรียนความรู้ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ได้
“เด็กทุกคนมีความต้องการพิเศษ”
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า โครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ 1.สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นให้กับโรงเรียน 2.พัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ได้ในภาวะวิกฤต 3.สร้างโมเดลระดับจังหวัดเพื่อฟื้นฟูเด็กจากภาวะถดถอยทางการเรียนรู้
มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ได้นำกรอบมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย 5 ด้าน มาเป็นหลักในการทำงานร่วมกับโรงเรียน ได้แก่ 1.ประเมินสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ (Landscape Assessment) 2.แนะนำแผนกับทางโรงเรียน (Whole School Planning) 3.พัฒนาวิชาชีพครู (Professional Development Support Plan for Teachers) 4.ระบบช่วยเหลือนักเรียน (Intervention and Support for Students) 5.ติดตาม ปรับปรุงจากผลสะท้อนกลับ (Monitoring and Invention Redesign)
กรอบมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ นำมาสู่วิธีการและกิจกรรมที่มูลนิธิ ฯ ทำร่วมกับโรงเรียน โดยเน้นความยืดหยุ่นของการจัดการเรียนรู้ ให้ครูสามารถเข้าถึงการพัฒนาตนเองด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น work shop เรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูต่างโรงเรียน มีบทเรียนออนไลน์ตามความสนใจ มีทีมโค้ชให้คำปรึกษา
“บทเรียนสั้น ๆ ที่ครูสนใจและต้องการ จะช่วยครูพัฒนาการจัดการเรียนรู้ได้ดียิ่งกว่าการเติมเครื่องมือเข้าไปเพียงอย่างเดียว และจะช่วยครูในเรื่องการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้เด็กเป็นรายบุคคล เพราะหลังโควิด-19 เราได้เห็นแล้วว่าเด็กทุกคนล้วนมีความต้องการพิเศษในลักษณะที่ต่างกันไป ยิ่งในช่วงเวลาสองปีที่ขาดหาย แต่ละคนได้รับการเรียนรู้ มีประสบการณ์กับครอบครัวและสิ่งแวดล้อมต่างกัน การดูแลช่วยเหลือเด็กรายคน จึงเป็นคีย์สำคัญในการช่วยเหลือให้นักเรียนฟื้นฟูความรู้และไปต่อกับบทเรียนใหม่ ๆ ได้”
ขยายผลสู่นานาชาติ
Maritza Chan Valverde Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary Permanent Representative of Costa Rica to the United Nations Vice – President องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ขอบคุณครูและคณะทำงานทุกท่าน ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้เด็กได้พัฒนาการเรียนรู้ วันนี้เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาการถดถอยทางการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสมควรได้รับ ที่สำคัญกว่านั้น การศึกษายังทำให้มนุษย์เสมอภาค โดยถ้าปราศจากการศึกษา เด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นโดยไม่มีทักษะเลี้ยงชีวิต แล้วความเสียหายนี้จะไม่กระทบเพียงในระดับบุคคล แต่ยังรวมถึงการพัฒนาประเทศในภาพรวม
“การเยี่ยมชมพื้นที่การทำงานวันนี้ ทำให้เราเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ขอแสดงความยินดีและชื่นชมประเทศไทย ที่นำวาระการศึกษามาเป็นหัวใจในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 จากตัวอย่างของพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เราได้เห็นว่าการพัฒนาครูคือรากฐานการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ ซึ่งเมื่อมีต้นแบบจากที่หนึ่ง ก็สามารถนำไปใช้พัฒนาโรงเรียนอื่น ในพื้นที่อื่นของประเทศ หรือเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกได้ แล้วสุดท้ายผลที่เราจะได้รับร่วมกัน ก็คือการเปลี่ยนเด็กจำนวนมากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”