“เราขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า คนสุรินทร์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
มุ่งมั่น สานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย…”
คำประกาศร่วมกันของเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดสุรินทร์ เพื่อยืนยันว่า ด้วยพลังของคนทั้งจังหวัด จากนี้ชาวสุรินทร์ทุกกลุ่มทุกช่วงวัย จะมีโอกาสทางการศึกษา และเข้าถึงช่องทางพัฒนาตนเองในการประกอบอาชีพ พร้อมเผยภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ให้กระจายไปยังทุกพื้นที่ทุกชุมชน ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ในฐานะหน่วยงานเหนี่ยวนำความร่วมมือ สนับสนุนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตามบริบทแวดล้อม และผลักดันให้แผนงานดำเนินไปได้ในระยะยาว ยั่งยืนด้วยรากฐานที่แข็งแรงของเครือข่ายจังหวัด อันประกอบด้วย ‘พลังทุกหน่วย’ ในพื้นที่
‘ปฐมวัยถึงวัยแรงงาน’ โครงการที่รองรับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย
จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบที่ร่วมกับ กสศ. เดินหน้าสร้าง ‘เมืองแห่งความเสมอภาคทางการศึกษา’ ผ่านโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ปฐมวัยถึงวัยแรงงาน โดยมุ่งเน้นที่ประชากรในกลุ่มขาดแคลนโอกาสที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ ดังนี้
กลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ผ่าน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการเพิ่มทักษะการพัฒนาการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ให้ภาคีเครือข่าย และเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กเยาวชนด้อยโอกาสจากทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่ระยะยาว
กลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนในการศึกษาภาคบังคับ ผ่าน ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและทุนเสมอภาค ด้วยกระบวนการคัดกรองนักเรียนผ่านรายได้เฉลี่ยครัวเรือน จากพลังของครูในการลงพื้นที่ค้นหา ติดตาม และบันทึกข้อมูลแวดล้อมเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมต้น เพื่อชี้เป้าไปยังกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสมากที่สุด ให้ได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ ช่วยเหลือค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ภายใต้เงื่อนไขผู้รับทุนต้องมีอัตราเข้าเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 และมีพัฒนาการที่สมวัย
และด้วยฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค จึงสามารถสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่หน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยประคับประคองและสนับสนุนให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ก้าวข้ามรอยต่อช่วงชั้น และอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้จนถึงการศึกษาระดับสูงสุดตามศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ เป็นการตัดวงจรความยากจนที่จะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่มเป้าหมายเยาวชนที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ ผ่าน โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับและอยากศึกษาต่อในสายอาชีพ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ (ผู้พิการ) ให้ได้เรียนต่อในสาขาที่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการสูง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการศึกษาสายอาชีพ ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การบริหารจัดการที่สร้างสมรรถนะ และระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาสายอาชีพ
กลุ่มเป้าหมายโรงเรียน นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ผ่าน โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) มุ่งปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท ที่ข้อมูลบ่งชี้ว่ามีช่องว่างห่างกันอยู่ถึง 2 ปีการศึกษา โดยสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น สามารถจัดการศึกษาที่หลากหลาย ด้วยทรัพยกรและสภาพแวดล้อมในชุมชน เป็นการสร้าง ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม
กลุ่มเป้าหมายเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ผ่าน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยการค้นหาและพัฒนาเยาวชนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู และมีความต้องการทำงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชนบ้านเกิด ให้ได้ศึกษาในคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาค เพื่อให้มีทักษะจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ แล้วกลับไปบรรจุเป็นครูที่ภูมิลำเนาบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาการโยกย้ายและขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล
กลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา แรงงานนอกระบบ รวมถึงประชากรทุกกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาส ผ่าน โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานร่วมกับหน่วยจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยกระบวนการพัฒนาความรู้ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมที่หลากหลาย มุ่งสร้างทักษะวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต และยกระดับความคิดกลุ่มเป้าหมายไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ตามศักยภาพ ความถนัด และอยู่รอดได้ในทุกความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
“ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด พวกเราจะไม่มีวันปล่อยมือจากเขา”
ทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการคือโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง ดังนั้นจังหวัดสุรินทร์จะต้องสร้างมาตรฐานการศึกษา และทำให้คนทุกคนไม่ว่าอยู่ในตำบลหรือหมู่บ้านใดก็ตาม เข้าถึงโอกาสในการต่อยอดชีวิตเช่นเดียวกับคนในพื้นที่อื่น ๆ
“เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ครอบครัว สุขภาพ หรือจังหวะต่าง ๆ ในทางเดินของชีวิต ทำให้ต้องหลุดไปจากระบบและเข้าไม่ถึงโอกาส และไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด พวกเราจะไม่ทิ้งและจะไม่มีวันปล่อยมือจากเขา ขอบคุณ กสศ. คณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.สุรินทร์ สมัชชาการศึกษา จ.สุรินทร์ อบจ.สุรินทร์ ขอฝากความหวังไว้ที่ทุกท่าน ว่าลูกหลานชาวสุรินทร์ของเราทุกคน จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค และไม่มีใครหลุดไปจากระบบการศึกษาอีก”
“ลดความเหลื่อมล้ำด้วย ‘คน’ และ ‘เครือข่าย’ ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันอย่างเข้มแข็ง”
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการที่ กสศ. ทำร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ครอบคลุมการดูแลคนทุกรุ่นทุกช่วงวัย โดยทุกโครงการได้ทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือความต่อเนื่อง โดยอาศัยการบูรณาการงานเชิงพื้นที่ เพื่อให้คนสุรินทร์นำเครื่องมือ และเครือข่ายเหล่านี้ไปต่อยอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดึงทรัพยากรมากระจายไปให้ถึงทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ด้วย ‘คน’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เชื่อมโยงกันอย่างเข้มแข็ง ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด”
‘งานวันนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของจังหวัด’
นัทธมน ศิริวัฒนวานิช รองนายก อบจ. สุรินทร์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับชีวิตคน เพราะ ‘ความรู้’ คือฐานรากของ ‘โอกาส’ ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ สมัชชาการศึกษาจังหวัด และ อบจ.สุรินทร์ จึงร่วมกับเครือข่ายทั้งในและนอกจังหวัด ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่ ด้วยแนวคิด ‘ปวงชนเพื่อการศึกษา’ หรือ all for education กล่าวคือ ทุกคนเป็นเจ้าของการจัดการศึกษา และการจัดการศึกษาต้องดำเนินงานโดยคนในจังหวัด
“ด้วยเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ กสศ. คนสุรินทร์จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการบูรณาการโครงการ กิจกรรม องค์กร บุคลากร และงบประมาณร่วมกันกับเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ นับเป็นโอกาสสำคัญ ที่เราจะใช้การทำงานในวันนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของจังหวัด และถ้าเราทำสำเร็จ สุรินทร์จะเป็นพื้นที่ตัวแบบ ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค หรือระดับชาติได้”
ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันได้ ใน ‘ห้องเรียนที่มีชีวิต’
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่ของคนจังหวัดสุรินทร์ ว่าจะช่วยกันปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย ด้วยการทำงานของทุกคน พร้อมพิสูจน์ว่าพลังทุกภาคส่วนของจังหวัดที่เข้ามาทำงานนี้ มีความจริงใจมุ่งมั่น มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน ตรงตามเจตนารมณ์ที่ประกาศร่วมกันในวันนี้
“โควิด-19 ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น สร้างโจทย์และอุปสรรคใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย ซึ่งแน่นอนว่าคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมไม่อาจต่อสู้รับมือได้เพียงลำพัง แต่การช่วยกันด้วยพลังจากคนในพื้นที่ที่จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เราพูดได้ว่า จากนี้เราจะเดินไปข้างหน้า จะได้เห็นเด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับมาเรียน เห็นความพยายามที่จะไม่ให้คนที่กลับมาแล้วต้องหลุดจากระบบวนซ้ำอีก เห็นความเปลี่ยนแปลงในหน่วยย่อยระดับหมู่บ้าน ตำบล เห็นการจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนชุมชน ที่รวมไว้ด้วยโอกาสของคนทุกกลุ่มในสังคม เห็นภาพแสนวิเศษ ที่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่บ้าน เด็ก ๆ หรือใครก็ตาม เรียนรู้ไปด้วยกันใน ‘ห้องเรียนที่มีชีวิต’
และการทำงานต่อเนื่องและมีการส่งต่อระหว่างหน่วยงาน จะเป็นหลักประกันว่าจังหวัดสามารถเชื่อมต่อโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับคนได้ในทุกช่วงอายุ ด้วยระบบการจัดการหลากหลาย จำนวนกลุ่มเป้าหมายแม่นยำ ไม่มีใครหลุดไปจากฐานข้อมูล
ในอนาคต เราจะเห็นการจัดการชุมชนเล็ก ๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั้งในและนอกระบบ เกิดกลไกพัฒนาจากฐานทุนที่มี พร้อมคณะทำงานหนุนเสริม มีทุนในพื้นที่ที่ระดมเข้ามา แล้วเมื่อนั้นเด็กเยาวชนหรือคนที่หลุดจากระบบก็จะมีทางไปต่อ 100% ถ้าเราทำแบบนี้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ใช่เพียงความยากจนด้อยโอกาสจะลดลง แต่เราจะมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่มีคุณภาพ ยกระดับพื้นที่ห่างไกลให้ไปไกลกว่าแค่ลืมตาอ้าปาก แต่พื้นที่ชุมชนเหล่านี้จะมั่งคั่ง มั่นคง พัฒนาต่อเนื่อง เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ส่งต่อถึงคนรุ่นถัด ๆ ไป”
‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ – เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหนึ่งเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ และย่อขนาดปัญหาลงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในจังหวัด ซึ่งจะทำให้ขนาดของปัญหาลดลงถึง 100 เท่า ดังนั้นการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ย่อมเกิดขึ้นได้จากพลังของทุกคนในพื้นที่ แล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะเป็นการจุดประกาย ในฐานะตัวแบบที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป