เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน หลักสี่ กรุงเทพ ฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” โดยมีภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การเปิดพื้นที่รับฟังภาคีเครือข่ายครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาตรา 23 ที่ต้องการให้คณะกรรมการบริหาร กสศ. รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของ กสศ. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน โดยความคิดเห็นจะถูกนำไปสนับสนุนการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ของ กสศ. ต่อไป
“แม้ว่า กสศ. จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นกลไกปฏิรูปการศึกษา โดยได้รับมอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 7 ประการตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ด้วยทรัพยากรที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลโดยเฉลี่ยในแต่ละปี คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 ของงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเท่านั้น หรือเป็นเพียง 1 ใน 5 ของขนาดทรัพยากรที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ประเมินเอาไว้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรให้ กสศ. ในแต่ละปี คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงได้กำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ กสศ. พ.ศ. 2565 – 2567 ให้มุ่งเน้นการบูรณาการและเหนี่ยวนำภาคีจากทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนด้วยกันตามหลักคิดปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ All for Education”
ดร.ประสาร ย้ำว่า กสศ. จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Catalyst for System Change) ผ่านการดำเนินการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ (1) การกำหนดโจทย์ การวิเคราะห์ข้อมูล และวิจัยพัฒนานวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีศักยภาพในการขยายผลเชิงนโยบายได้ (2) นำนวัตกรรมต้นแบบดังกล่าวไปดำเนินการทดลองร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน (3) สื่อสารรณรงค์ ระดมความร่วมมือและสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้สังคมไทย และผู้กำหนดนโยบายได้นำข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีไปสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
“วันนี้ถือเป็นการเปิดเวทีระดมสติปัญญาจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อช่วยกันกำหนดทิศทาง แสวงหาวิธีการ และนวัตกรรมการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใหม่ ๆ ที่จะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืน และไม่ใช่ข้อเสนอที่มุ่งเน้นการทำงานของ กสศ. แต่ฝ่ายเดียว แต่หมายถึงการขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศทางการศึกษาและทุกองคาพยพของสังคมไทย ในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วที่สุดให้ได้ โดยในโอกาสที่ กสศ. จะดำเนินงานครบ 5 ปี ในปีหน้า พวกเราจึงอยากได้รับฟังเสียงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนถึงแนวทางการทำงานที่สามารถตอบสนองความท้าทายในโลกยุค Post – Covid – 19 โดยเฉพาะนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการปฏิรูปเชิงระบบอย่างยั่งยืนได้”
ภายในงาน กสศ. ได้ทบทวนการทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ผ่านมา ผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ “มองไปข้างหน้า ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” โดยมี ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความท้าทายให้เป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น
ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ใช้หลักการ PDCA : Plan Do Check Act บทบาทของ กสศ. อาจไม่ใช่การทำงานเองทั้งหมด แต่จะเป็นลมใต้ปีกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมากของ กสศ. ใน PDCA
“วันนี้เรายังมีหลากหลายส่วนมากที่เด็กไทยอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บทบาทของ กสศ. คือจะทำอย่างไรให้เด็กไทยมีโอกาส มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ทำอย่างไรให้เด็กไทยเข้าถึงคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง ทำอย่างไรให้ความยากจนไม่ตกเป็นมรดกไปยังลูกหลาน ทำอย่างไรถึงจะตัดตอนวงจรนี้ไป ทำอย่างไรเราถึงจะพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันให้ได้ ทำอย่างไรถึงจะจับมือกับภาคีในการเดินด้วยกัน ทำให้เป้าหมายเรื่องความยากจนข้ามรุ่นหมดไปให้ได้”
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โจทย์การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ค่อนข้างกว้าง ครอบคลุมประชากรตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยแรงงาน มีทั้งในและนอกระบบการศึกษา แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด คณะกรรมการบริหารจึงมุ่งเน้นไปที่ประชากรร้อยละ 15 ที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศไทย
“สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทย ยังพบว่ามีประชากรประมาณ 1.9 ล้านคน มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีบางกลุ่มที่หลุดไปแล้ว ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ โครงการพาน้องกลับมาเรียน จึงทำให้ตัวเลขประชากรที่หลุดจากระบบไม่สูงมากไปกว่านี้ หากมองถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงประมาณ 1.9 ล้านคนนี้ โอกาสที่เขาจะไปถึงระดับอุดมศึกษายังมีเพียงแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น เมื่อเทียบกับโอกาสของค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ประมาณร้อยละ 30 กว่า ๆ ซึ่งเส้นทางการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ไม่ควรต้องถูกลดทอนน้อยกว่าคนอื่นถึง 3 เท่า หรือน้อยกว่าคนที่รายได้สูงที่สุดของประเทศถึง 5 เท่า ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาของเราสร้างโอกาสที่เสมอภาค ถ้าเด็กคนไหนมีศักยภาพที่ไปสุดทางได้หรือเรียนระดับสูงขึ้นจะต้องได้ไป อันนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องขบคิดต่อร่วมกัน”
ดร.ไกรยส กล่าวถึงข้อมูลที่สะท้อนภาพปัจจุบันของไทยในเวทีนานาชาติ โดยระบุว่า ระบบการศึกษาในประเทศ Upper middle income countries หรือ Higher income countries ยังสามารถรักษาความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างประชากรแต่ละกลุ่มรายได้ไว้ได้ แต่สำหรับประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น โดยในระดับประถมศึกษาพบว่ามีโอกาสใกล้เคียงกับนานาชาติ แต่ปัญหาเริ่มเด่นชัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยโอกาสของเด็กกลุ่มนี้เหลือเพียงร้อยละ 76 เมื่อเข้าสู่ชั้น ม. ปลาย เหลือเพียงร้อยละ 27 หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น พอไปถึงระดับอุดมศึกษาเหลือร้อยละ 8 สะท้อนว่าโอกาสทางการศึกษาลดทอนลงไปเรื่อย ๆ เมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น
“สถานการณ์ปัจจุบันในปีการศึกษา 2565 เรามีเด็กเยาวชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่ำกว่าประมาณ 2,762 บาท ตามเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ราว 2.5 ล้านคน ขณะที่ กสศ. ได้รับจัดสรรทรัพยากรจากรัฐบาลดูแลได้เพียง 1.3 ล้านคน ดังนั้นสำหรับส่วนที่อยู่นอกเหนือการดูแล กสศ. ได้ทำหน้าที่ส่งมอบข้อมูลให้กับหน่วยงานต้นสังกัดต่าง ๆ ให้รับรู้สถานการณ์และสามารถวางแผนการใช้งบประมาณของตนเองในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ เป็นตัวอย่างการทำงานของ กสศ. ที่ไม่ใช่เรื่องให้ทุนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว เพราะถ้าพูดถึงทุนที่เป็นตัวเงิน เราก็จะดูแลได้เพียงกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าขยายไปเป็นทุนด้านข้อมูลและทุนด้านความร่วมมือ ก็จะสามารถดูแลประชากรได้มากขึ้น”
ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss กสศ. ได้ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหานี้และทำให้มีข้อมูลที่น่าสนใจในการเดินหน้าแก้ไข
“ในกรณีของประเทศไทยค่อนข้างน่าสนใจคือ เราไม่ได้มีการสำรวจในลักษณะ National Survey ว่าสถานการณ์ Learning Loss มีลักษณะอย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยกเลิกสอบ O – Net จึงไม่มีข้อมูลเชิงสถิติที่บอกได้ว่าภาวะความรู้ที่หายไปของเด็กและเยาวชนของไทยมีเท่าไร อย่างไรก็ตาม กสศ. ได้ทำการศึกษาผ่านครูและโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ได้พบจากการสำรวจในโรงเรียน คือเด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียความรู้สูงที่สุดเป็นเด็กในระดับประถมศึกษาตอนต้น หรือช่วงชั้น ป.1 – ป.3 นี่เป็นตัวอย่างที่ กสศ. พบ”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า กสศ. ได้ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ระหว่างเกิดโควิด และหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ได้ชุดหลักฐานเชิงสถิติที่ถือเป็นผลสำรวจไม่กี่ชิ้นในไทยที่มีมาตรวัด Learning Loss อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจภาวะ Learning loss ของเด็กปฐมวัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP โดยสำรวจนักเรียนชั้น ป.2 ในโรงเรียนกว่า 70 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวิเคราะห์ว่าเด็ก ป.2 มีพัฒนาการอย่างไรในด้านสติปัญญาและทักษะต่าง ๆ หลังสถานการณ์โควิด
“สิ่งที่พบคือนอกจากปัญหาด้านสติปัญญา ปัญหาทางกายภาพของเด็กก็มีปัญหาด้วย โดยเฉพาะพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือไม่สามารถนั่งตัวตรง มีท่าทางการเขียนหนังสือ การจับดินสอปากกาต่างจากลักษณะทั่วไป ปฏิสัมพันธ์ในการคุยกับครู คุยกับเพื่อน หรือวิธีการเดินขึ้นลงบันได ซึ่งเด็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปเรียนในโรงเรียนช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้ถึงการขาดพัฒนาการค่อนข้างเยอะ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักวิจัยไปพบและค่อนข้างกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบไปถึงทักษะการคิดเลข การอ่าน การเขียน และทักษะทางการสื่อสาร”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเข้าไปเก็บข้อมูล และเข้าไปร่วมฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กสศ. ยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงข้อค้นพบจากประสบการณ์ทำงานปฏิรูปการศึกษาว่า ประสบการณ์ข้อแรก คือ การปฏิรูปจะได้ผลต้องเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มี 5 Big Rock หรือ หิน 5 ก้อนที่ต้องทำ ก้อนที่ 1 คือ การปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ พบว่าต้องส่งเสริม กสศ. ต่อไป ก้อนที่ 2 คือพัฒนาระบบการเรียนรู้ ก้อนที่ 3 การพัฒนาครู ก้อนที่ 4 พัฒนาอาชีวศึกษา ก้อนที่ 5 ยกระดับอุดมศึกษา
“เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้มีหน้าที่ลงไปทำ ไม่มีอำนาจสั่งการ ทำได้เพียงนำเสนอทิศทางเพื่อขอร้องให้กระทรวงดำเนินการปฏิรูป ซึ่งกระทรวงก็บอกว่าทำอยู่แล้ว ส่วนจะช้าเร็วแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาเราเลยต้องลงมือทำเอง เหมือนที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาลงมือร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เอง และผลักดันให้มีการจัดตั้ง กสศ. ขึ้น ให้มีงบประมาณดำเนินการของตนเอง”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาแก้ที่เรื่องการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีหลายระบบเชื่อมโยงกัน เช่นหากเด็กมาจากครอบครัวที่เข้มแข็ง การปฏิรูปการศึกษาจะง่ายขึ้น การแก้ไขปัญหาการศึกษาจึงไม่ใช่แก้เฉพาะที่โรงเรียน
“ผมเคยคำนวณในเวลาหนึ่งปี พบว่า เด็กอยู่กับโรงเรียนไม่ถึงร้อยละ 30 ขณะที่เวลาที่เหลือส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว ดังนั้น การปฏิรูปจะต้องดูทั้งระบบ ต้องเชื่อมต่อกับการทำมาหากิน การเกษตร สิ่งแวดล้อม การมี Mindset เกี่ยวกับโลก ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ เป็นเรื่องยากที่จะปฏิรูปสำเร็จ ซึ่ง กสศ. ตั้งขึ้นเพียง 3 ปี แต่ทำงานได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ทุน แต่ยังมีองค์ความรู้และงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีคุณค่า ทำให้สามารถขยายผลที่เป็นประโยชน์ต่อชาติได้อย่างมหาศาล เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า ความต้องการของสังคมและตลาดงานที่ต้องการคนมีทักษะสูงจากฝั่ง Demand กำลังบีบคั้นให้ Supply หรือฝ่ายจัดการศึกษาต้องผลิตคนที่มีทักษะตรงความต้องการและมีความคล่องตัว หากโรงเรียนและหน่วยงานรัฐคล่องตัว ผู้บริหารยอมให้ครูมีความคิดริเริ่ม จะไปได้ไกลมาก และนี่เป็นความท้าทายในก้าวต่อไปของ กสศ.
ทั้งนี้ หลังจบเวทีเสวนา กสศ. ได้เปิดวงคุยรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมาย คือ ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำสำหรับนำไปกำหนดทิศทางการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2565 โดยจะสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นฉบับสมบูรณ์เพื่อสื่อสารสาธารณะต่อไป